แกรนท์ ธอร์นตันเผยผลวิจัยความคิดเห็นผู้ประกอบการทั่วโลกต่อความรับผิดชอบของบรรษัทต่อสังคม (Corporate Social Responsibility — CSR)

ข่าวทั่วไป Monday March 10, 2008 08:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 มี.ค.--แกรนท์ ธอร์นตัน
ความรับผิดชอบของบรรษัทต่อสังคม (CSR) หมายถึง วิถีการบริหารจัดการขั้นตอน การดำเนินงานของธุรกิจและผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมโดยรวม แกรนท์ ธอร์นตันได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการและผู้บริหารของบริษัทขนาดต่างๆจากหลายอุตสาหกรรมในประเด็นดังกล่าว ภาคธุรกิจโดยรวมเห็นว่า ความรับผิดชอบของบรรษัทต่อสังคม (CSR) ไม่ใช่ทางเลือกในการดำเนินธุรกิจ แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ ภาคธุรกิจทั่วโลกกำลังดำเนินนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีเหตุผลหลักคือไม่เพียงแต่ร่วมพิทักษ์รักษาโลกใบนี้เท่านั้น แต่เพื่อความอยู่รอดและความยั่งยืนของบริษัทในระยะยาว รายงาน Grant Thornton International Report ฉบับล่าสุดแสดงให้เห็นว่า 65% ของผู้ประกอบการทั่วโลกระบุว่า การสรรหาและรักษาบุคลากรเป็นปัจจัยผลักดันที่สำคัญต่อการดำเนินนโยบาย CSR 63% ของผู้เข้ารับการสำรวจกล่าวว่าเพื่อการบริหารต้นทุน และ 56% กล่าวว่าเพื่อสร้างแบรนด์ 71% ของผู้ประกอบการที่ถูกสำรวจส่งเสริมด้านสุขภาพของพนักงานอย่างเต็มที่ ในขณะที่ 64% ส่งเสริมการสร้างความเท่าเทียมกันและความหลากหลายในหมู่พนักงาน และ 62% ส่งเสริมความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงาน ซึ่งสถิติเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ทางเลือกของลูกจ้างในเรื่องที่ทำงานมีผลต่อการปฏิบัติของนายจ้างต่อลูกจ้าง 56% ของธุรกิจขนาดเล็กรายงานว่า ได้นำนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมที่มี ความโปร่งใสมาใช้อย่างเป็นทางการ โดยได้รับอิทธิพลจากบริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นลูกค้าและดำเนินมาตรการทางด้าน CSR ด้วยเช่นกัน สำหรับการดำเนินนโยบายด้าน CSR ในประเทศไทยนั้นยังไม่แพร่หลายนัก โดย 11% ของบริษัทไทยที่ถูกสำรวจได้บริจาคเงินและสิ่งของแก่องค์กรและสถานสาธารณกุศลต่างๆ ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของทั่วโลกอยู่ที่ 65% ในด้านการเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อชุมชน 4% ของบริษัทไทยที่ถูกสำรวจตอบว่าเคยเข้าร่วม ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 55% แม้กระทั่งในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม โดย 72% ของผู้ประกอบการในเวียดนามได้บริจาคเงินและสิ่งของเพื่อสาธารณกุศล และ 49% ได้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อชุมชน 94% ของผู้ประกอบการในไทยระบุว่า การลดหย่อนภาษีเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยผลักดันให้พวกเขาดำเนินนโยบายรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งนี้ ปัจจัยอื่นๆ เช่น สำนึกต่อสังคม การสร้างแบรนด์ การบริหารต้นทุน และการสรรหาบุคลากร มีความสำคัญรองลงมา มร. ปีเตอร์ วอล์คเกอร์, พาร์ทเนอร์อาวุโสของแกรนท์ ธอร์นตัน ประเทศไทย กล่าวว่า “ผลสำรวจของประเทศไทยดังกล่าวแสดงถึงภาพของสังคมที่ให้ความสำคัญกับเงินตรา ซึ่งผิดไปจากภาพสังคมชาวพุทธของประเทศไทยที่มีมาแต่อดีต อย่างไรก็ตาม อาจอธิบายได้ว่า วัฒนธรรมไทยมีความเชื่อว่าการทำบุญโดยการบริจาคนั้นเป็นกิจกรรมส่วนตัวมากกว่า นอกจากนี้ คนไทยยังเชื่อว่า การทำบุญนั้นไม่จำเป็นต้องทำอย่างเอิกเกริก” 25% ของผู้ประกอบการไทยที่ได้รับการสำรวจตอบว่า ได้ทำการเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์และการบริการให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียในประเด็นดังกล่าวอยู่ที่ 49% อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในประเทศไทยมีความก้าวหน้าขึ้นในเรื่องประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน โดย 47% ของผู้ประกอบการไทยได้ดำเนินนโยบายประหยัดพลังงานในปีที่ผ่านมา เรื่องการจัดการเก็บขยะ (Waste Management) ยังเป็นสิ่งที่ควรปรับปรุง กล่าวคือ 20% ของผู้ประกอบการไทยได้ดำเนินการปรับปรุงการจัดการเก็บขยะในปีที่ผ่านมา ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของทั่วโลกและภูมิภาคอยู่ที่ประมาณ 58% 24% ของผู้ประกอบการไทยมีความยืดหยุ่นเรื่องเวลาทำงาน 35% ส่งเสริมเรื่อง การดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ของพนักงานอย่างเต็มที่ และ 15% ส่งเสริมเรื่องความหลากหลายและการสร้างความเท่าเทียมกันในที่ทำงาน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของทั่วโลกในสามประเด็นนี้อยู่ที่ 62% 71% และ 64% ตามลำดับ มร. ปีเตอร์ วอล์คเกอร์ กล่าวว่า “ความรับผิดชอบของบรรษัทต่อสังคม (CSR) กำลังเพิ่มความสำคัญขึ้นและเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่ความสำเร็จทางธุรกิจ นอกจากนี้ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคมกำลังได้รับความสนใจและถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจากสื่อมวลชน ภาครัฐ ลูกค้า และลูกจ้าง ดังนั้น ผู้ประกอบการควรจะให้ความสนใจกับเรื่องดังกล่าวเพื่อยกระดับองค์กรให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก สำหรับในประเทศไทย แม้ว่าผู้ประกอบการไทยส่วนหนึ่งจะให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบาย CSR แต่ว่ายังมีผู้ประกอบการอีกมากที่ยังมิได้ริเริ่มนโยบายดังกล่าว” มร. ปีเตอร์ วอล์คเกอร์ สรุปว่า “จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่า สภาพแวดล้อมทางธุรกิจกำลังเปลี่ยนไป และ มีการแข่งขันที่มากขึ้น ผู้ประกอบการหลายรายตระหนักถึงความสำคัญของความรับผิดชอบของบรรษัทต่อสังคม กระแสด้านความรับผิดชอบต่อสังคมจะทำให้ผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้ ต้องหันมาดำเนินธุรกิจในรูปแบบที่รับผิดชอบต่อสังคมเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและปรับตัวได้ทันเท่านั้น จึงจะสามารถอยู่รอดและกลายเป็นผู้ชนะในระยะยาว”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ