กสอ. ลงพื้นที่เมืองน่าน โชว์ความสำเร็จ “ปั้น” นักธุรกิจเกษตรพันธุ์ใหม่

ข่าวทั่วไป Friday February 21, 2020 17:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.พ.--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นำสื่อมวลชนลงพื้นที่เมืองน่าน บุกบ้านถั่วลิสง ต้นแบบความสำเร็จ "ปั้น" นักธุรกิจเกษตรพันธุ์ใหม่ ผ่านหลักสูตรพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (NEC) ต่อยอดธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตร สร้างมูลค่าเพิ่มปีละกว่า 4 - 5 ล้านบาท นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การสร้างให้เกิดผู้ประกอบการใหม่เป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเติบโตให้กับเศรษฐกิจในระยะยาว กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จึงได้ดำเนินโครงการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (New Entrepreneurs Creation : NEC) เพื่อพัฒนาบุคคลากรรองรับการเจริญเติบโต สามารถปรับตัวตามภาวะเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่มีสภาวการณ์แข่งขันอย่างรุนแรง ขณะเดียวกัน ประเทศไทยถือเป็นประเทศมีศักยภาพด้านวัตถุดิบและผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่สามารถนำไปแปรรูป พัฒนา ต่อยอด ด้วยการใช้นวัตกรรม ความคิดสร้างสร้างค์ เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงระบบการบริหารจัดการแบบภาคอุตสาหกรรม เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตภาคการเกษตรได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้การนำของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และมอบหมายให้ กสอ. เร่งส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรม ด้วยการปั้นเกษตรกรให้เป็นนักธุรกิจเกษตร เพื่อยกระดับรายได้ให้ระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ซึ่ง บริษัท บ้านถั่วลิสง จำกัด ถือเป็นผู้ประกอบการอีกหนึ่งรายที่เป็นตัวอย่างความสำเร็จ ทั้งการเข้าร่วมโครงการ NEC รวมถึงการริเริ่มการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อนำพืชผลทางการเกษตรมาแปรรูปเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มหลายเท่าตัว และยังสามารถส่งต่อความรู้ให้กับผู้ประกอบการรุ่นน้องให้เข้ามาศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้การธุรกิจ รวมถึงการเป็นศูนย์กลางการจำหน่ายสินค้าในพื้นที่ ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในจังหวัด และมีฐานที่แข็งแรงสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นตลาดที่เข้มแข็งและเติบโตในตลาดสากลต่อไป "ความไม่พร้อมของผู้บริหารแบบเจ้าของคนเดียวที่ต้องเผชิญปัญหาธุรกิจรอบด้าน การขาดประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ ขาดที่ปรึกษาในการจัดตั้ง ปรับปรุง พัฒนาธุรกิจในช่วงเริ่มต้น อาจทำให้เกิดความไม่มั่นใจในการดำเนินธุรกิจ แต่ กสอ. มีผู้เชี่ยวชาญ พร้อมเครื่องมือและทรัพยากรที่จะคอยช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างจริงใจ โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้เรียนรู้วิธีการบริหารจัดการธุรกิจอย่างครบวงจร การสร้างสรรค์ธุรกิจด้วยนวัตกรรม จริยธรรมในการดำเนินธุรกิจให้ยั่งยืน นำไปสู่การได้แผนธุรกิจ (Business Model Canvas (BMC) หรือ โมเดลสำหรับการวิเคราะห์ในการวางแผนธุรกิจ) รายบุคคล และมีพันธมิตรทางธุรกิจที่จะช่วยต่อยอดให้ธุรกิจเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง สำหรับโครงการ NEC เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ปัจจุบัน มีผู้ได้รับการพัฒนาศักยภาพกว่า 86,000 ราย ก่อให้เกิดการจัดตั้งหรือขยายธุรกิจกว่า 19,000 ราย คิดเป็นร้อยละ 22 ของผู้ได้รับการพัฒนาทั้งหมด เกิดมูลค่าการลงทุนกว่า 28,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานกว่า 72,000 ราย ทั้งนี้ ในการติดตามประเมินผลในแต่ละปีพบว่ามีผู้มีศักยภาพที่จะประสบความสำเร็จในการจัดตั้งธุรกิจใหม่/ขยายธุรกิจเพิ่มขึ้น เฉลี่ยร้อยละ 10 – 15 ต่อปี ซึ่งในปี พ.ศ. 2563 นี้ กสอ. ตั้งเป้าพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ทั้งประเทศ จำนวน 500 ราย และพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ประสำหรับผู้ประกอบการใหม่ จำนวน 50 กิจการ" นายณัฐพล กล่าว ด้าน นางอารีย์ เพ็ชรรัตน์ ผู้บริหารบริษัท บ้านถั่วลิสง จำกัด กล่าวว่า แรกเริ่มเดิมที ไม่มีความรู้เรื่องการทำธุรกิจ จึงได้เข้ารับการอบรมจาก กสอ. หลักสูตรบ่มเพาะผู้ประกอบการใหม่ (NEC – SME) ช่วยทำให้มีพื้นฐานและทักษะในการบริหารงานอย่างผู้บริหารมืออาชีพ และมีความเข้าใจด้านบัญชี ด้านการบริหารงานบุคคล และการวางแผนการดำเนินธุรกิจ และนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งบริษัท บ้านถั่วลิสง เมื่อปี พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นการต่อยอดธุรกิจมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดซินกวงน่าน จากเดิมที่รับซื้อถั่วลิสงจากเกษตรกร เพื่อนำไปขายต่อในรูปแบบวัตถุดิบให้กับลูกค้าชาวมาเลเซียทั้งหมด เปลี่ยนมาเป็นการนำถั่วลิสงบางส่วนประมาณร้อยละ 20 มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สำหรับบริโภคภายในประเทศ โดยได้รับคำแนะนำ ช่วยเหลือจาก กสอ. ในการทดลอง ต่อยอดไอเดีย จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ถั่วคั่วทราย เค้กถั่ว นมถั่ว ภายใต้แบรนด์นันทบุรี และบ้านถั่วลิสง รวมกว่า 20 ผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังได้รับการอนุมัติสินเชื่อ 3 ล้านบาท จากกองทุนประชารัฐ ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 เพื่อสร้างร้านบ้านถั่วลิสง โดยเพิ่งแล้วเสร็จและเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งร้านบ้านถั่วลิสง นอกจากจะเป็นการขยายช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ถั่วลิสงแปรรูป เกิดการบริหารธุรกิจครบวงจรทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ แล้ว ที่นี่ยังจะเป็นศูนย์รวบรวมการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปของจังหวัดน่านในเครือข่ายคลัสเตอร์น่านอโกร-อินดัสทรี เป็นศูนย์เรียนรู้ดูงานกระบวนการแปรรูปถั่วลิสง และเกษตรแปรรูปอื่น ๆ รวมถึงเป็นจุดเชคอินสำหรับนักท่องเที่ยวในการซื้อของฝากได้อีกด้วย "ตลอดระยะเวลากว่า 15 ปีนับตั้งแต่รับช่วงกิจการ และการบริหารกิจการแปรรูปถั่วลิสง หจก.ซินกวงน่าน และบจก. บ้านถั่วลิสง ได้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของ กสอ. ไม่ว่าจะเป็นการอบรมสัมมนา การร่วมศึกษาดูงาน และโครงการต่าง ๆ ภายใต้การดูแลของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จ.เชียงใหม่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดน่าน และเชื่อมโยงกับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 หรือ ITC 4.0 จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อใช้บริการเครื่องจักรในการแปรรูปถั่วลิสง ทำให้ได้แนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และสามารถนำความรู้ ประสบการณ์ที่ได้มาปรับใช้ในการบริหารกิจการอย่างมีประสิทธิภาพและมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง จากคนที่ไม่รู้เรื่องการทำธุรกิจ จนสามารถมีร้าน มีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากถั่วหลากหลายผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายทั้งแบบส่งและฝากขายในร้านค้าต่าง ๆ ในและนอกจังหวัดน่าน ทั้งในรูปออนไลน์และออฟไลน์ เกิดยอดขาย 4 - 5 ล้านบาท/ปี และคาดว่าจะสามารถเพิ่มยอดขายได้อีก 100% ภายหลังเปิดร้านบ้านถั่วลิสงอย่างเต็มรูปแบบ" นางอารีย์ กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ