กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT จัดงาน "นานาศิลปาชีพ @SACICT" เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และสร้างการรับรู้ในพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่มีต่องานศิลปาชีพ เริ่มครั้งแรก "ผ้าชาวเขา" 21 กุมภาพันธ์ ถึง 15 เมษายน 2563 ที่ SACICT
นางสาวแสงระวี สิงหวิบูลย์ รองผู้อำนวยการ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ราษฎร ตลอดจนเพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยไว้เป็นมรดกของปวงชนชาวไทยสืบไป SACICT ในฐานะหน่วยงานของรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการประกอบอาชีพผสมผสานเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านตามโครงการส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และส่งเสริมสนับสนุนด้านการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2563 ที่ผ่านมา SACICT ได้จัดงานอัตลักษณ์แห่งสยามขึ้นเป็นครั้งที่ 11 และถือได้ว่าประสบความสำเร็จเกินจากที่คาดไว้ ทั้งในเรื่องของยอดผู้เข้าชมงาน ซึ่งตลอดการจัดงานมียอดจำหน่ายรวมกว่า 54 ล้านบาท ทำให้รู้ว่างานศิลปหัตถกรรมไทยยังเป็นที่นิยมและเป็นที่ยอมรับในผู้ซื้ออยู่เป็นจำนวนมาก และเพื่อให้เกิดการซื้องานหัตถศิลป์อย่างต่อเนื่อง SACICT จึงได้กำหนดจัดกิจกรรมส่งเสริม การจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขึ้นตลอด ปี 2563 จำนวนทั้งสิ้น 3 ครั้ง ในชื่องาน "นานาศิลปาชีพ@SACICT" ณ ชั้น 1 ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) โดยครั้งแรกขึ้นภายใต้แนวคิด "จากชาวเขา สู่ชาวเรา" โดยจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าชาวเขาจากชาวไทยภูเขา จำนวน 6 ชนเผ่า โดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้แก่ ลีซอ กะเหรี่ยง เมี่ยนหรือเย้า ม้ง อาข่า และมูเซอ ระหว่างวันที่ 21 กุมภาพันธ์ – 15 เมษายน 2563 ครั้งที่ 2 จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผ้าปักและผ้าฝ้าย ระหว่างวันที่ 17 เมษายน – 15 มิถุนายน 2563 และครั้งที่ 3 จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จักสานและงานแกะสลักไม้ ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม – 31 สิงหาคม 2563
ความสวยสดงดงาม ตระการตา ของผ้าปักชาวเขา หรือ ผ้าชาวเขา เป็นงานฝีมือที่สร้างสรรค์ขึ้น ด้วยทักษะอันชำนาญของสตรีชาวไทยภูเขา ต้องอาศัยองค์ความรู้ ภูมิปัญญา การฝึกฝน เรียนรู้ และถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษต่อกันมาหลายร้อยปี จึงเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ วิถีชีวิต ขนบ ธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ที่แตกต่างกันไปในแต่ละชาติพันธุ์ได้อย่างชัดเจน
สีสันที่ปรากฎบนผืนผ้า ทั้งรูปแบบของการปัก การเย็บ และการตกแต่งด้วยวัสดุต่างๆ ที่แตกต่างกันไป นอกจากจะแสดงออกถึงเอกลักษณ์แห่งความเป็นชาติพันธุ์แล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความงดงาม ละเอียดอ่อน ประณีต รวมทั้งความคิดสร้างสรรค์ ในการออกแบบลวดลายลักษณะต่างๆ ที่มีการผสมผสานกัน ระหว่างลวดลายโบราณที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ และลวดลายที่เกิดจากการประยุกต์ และพัฒนาลวดลายตามจินตนาการของผู้สร้างสรรค์ได้อย่างมีสุนทรีย์ ลักษณะผ้าชาวเขา หรือลวดลายผ้าปักชาวเขาจึงถือเป็น เอกลักษณ์ และศิลปะแห่งลวดลายที่ปรากฎขึ้นบนผืนผ้าชาวเขา ของชาวไทยภูเขา คือ ตำนานแห่งภูมิปัญญาของบรรพบุรุษแต่ละชาติพันธุ์ ที่มีการสั่งสม สืบทอดต่อเนื่องกันมานับตั้งแต่อดีต ที่บ่งบอกถึงความเป็นชาติพันธุ์ของแต่ละชนเผ่าได้อย่างชัดเจน การสร้างสรรค์ลวดลายบนผืนผ้าของกลุ่มชาวไทยภูเขา มักมีที่มาจากการสังเกต เลียนแบบ หรือจินตนาการขึ้น จากธรรมชาติ หรือ สิ่งแวดล้อมรอบตัว ซึ่งผืนผ้าหนึ่งผืนอาจประกอบไปด้วยลวดลายหลายๆ ลวดลาย ที่แตกต่างกัน สร้างความงดงาม ตระการตา ให้แก่ผู้พบเห็นได้อย่างน่าอัศจรรย์
รองผู้อำนวยการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า งานศิลปหัตถกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึง ทักษะ ฝีมือ ความเชี่ยวชาญ และความงดงามแห่งศิลปะลวดลาย บนผืนผ้า เอกลักษณ์ลวดลาย หรือลวดลายเชิงสัญลักษณ์ ที่ปรากฎบนผืนผ้านั้น สามารถที่จะจำแนกความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ได้อย่างชัดเจน สิ่งเหล่านี้ คือ องค์ความรู้ อันล้าค่าที่ควรอนุกรักษ์ และเผยแพร่ สู่สาธารณชน และคนรุ่นหลังให้ได้รับรู้ และหวังว่างาน "นานา ศิลปาชีพ@SACICT" ที่จัดขึ้นทั้ง 3 ครั้ง จะเป็นส่วนช่วยสร้างโอกาสและสร้างรายได้ให้กับผู้สร้างสรรค์ งานศิลปหัตถกรรมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะชาวบ้านและชุมชนให้มีความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืนต่อไป ซึ่งคาดการณ์ยอดจำหน่ายในปี 2563 ผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพฯ และงานศิลปหัตถกรรมไทยอื่นๆ จะขยายตัวเพิ่มขึ้น
SACICT จึงขอเชิญชวนประชาชนและกลุ่มเครือข่ายพันธมิตรทั้งองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มนักศึกษา นักออกแบบ หันมาส่งเสริมและสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในงาน "นานาศิลปาชีพ@SACICT" ทั้ง 3 ครั้ง โดยครั้งแรกจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าชาวเขาจากชาวไทยภูเขา ระหว่างวันที่ 21 กุมภาพันธ์ – 15 เมษายน 2563 ครั้งที่ 2 จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผ้าปักและผ้าฝ้าย ระหว่างวันที่ 17 เมษายน – 15 มิถุนายน 2563 และครั้งที่ 3 จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ จักสานและงานแกะสลักไม้ ระหว่างวันที่ 1 – 31 กรกฎาคม 2563 ณ ชั้น 1 ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Facebook : SACICT หรือ Call Center 1289