ก.ล.ต. ร่วมมือ UNDP และพันธมิตร จัดสัมมนาส่งเสริมการดำเนินธุรกิจบรรลุ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 25, 2020 08:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.พ.--ก.ล.ต. ก.ล.ต. ร่วมกับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) จัดสัมมนา "From ESG to SDGs : Integrating SDGs Impact Measurement and Management Framework in Business and Investment Strategies" เพื่อเป้าหมายพัฒนาตลาดทุนไทยสู่ความยั่งยืน สนับสนุนภาคเอกชนดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ในงานสัมมนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ผู้แทนฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเปิดงาน โดยระบุว่า "การนำประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญยิ่งในการร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อสร้างความก้าวหน้ายิ่งขึ้นบนเส้นทางแห่งการพัฒนา และส่งเสริมให้ธุรกิจต่าง ๆ ลงทุนกับชุมชน เทคโนโลยี นวัตกรรม และการเงินอย่างยั่งยืน" ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "บทบาทของภาคเอกชนในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน" โดยกล่าวถึงการสร้างความยั่งยืนที่จะเกิดผลกระทบที่แท้จริงต้องเกิดจากความร่วมมือ ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทำอยู่แล้วเพียงแต่หากมีเป้าหมายเดียวที่ทำร่วมกันจะเห็นผลที่ชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ การสร้างความแข็งแกร่งแก่ประชาชนฐานรากเป็นสิ่งสำคัญ โดยคนตัวใหญ่จะต้องช่วยคนตัวเล็กให้ยืนได้ด้วยตัวเอง ในส่วนของรัฐบาลจะช่วยปลดล็อกกฎหมายและช่วยสร้างแรงจูงใจให้ทำดี รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการดำเนินงานให้แก่ภาคเอกชน Ms. Kanni Wignaraja ผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติ ผู้ช่วยผู้บริหาร และผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชีย และแปซิฟิกของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า "ในแต่ละปีประเทศกำลังพัฒนาต้องบริหารจัดการเงินทุนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ คิดเป็นเงินกว่า 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น การจัดสรรทรัพยากรจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่สุดที่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพื่อบรรลุเป้าหมายภายในปี 2573 ทั้งนี้ UNDP ได้มีการทำงานร่วมกันกับภาครัฐในการขับเคลื่อน SDGs financing และการช่วยผลักดันให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องดังกล่าว โดยมีแนวทาง 5 ด้าน คือ (1) ช่วยจัดทำข้อมูลรายประเทศและแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติจากประเทศต่าง ๆ (2) ช่วยรัฐบาลพัฒนาและผนวกกรอบแนวทางการบริหารจัดการเงินทุนระดับชาติแบบบูรณาการ (The Integrated National Financing Frameworks: INFFs) ซึ่งเป็นเครื่องมือในการจัดลำดับความสำคัญเพื่อนำไปสู่ SDGs (3) ทำงานร่วมกับภาคเอกชนเพื่อผนวกเรื่อง SDG เข้ากับกลยุทธ์ ให้สามารถหาโอกาสทางธุรกิจ ใหม่ ๆ (4) ทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อพัฒนาเครื่องมือระดมทุนรูปแบบใหม่ (innovative financing solutions) และ (5) ปลดล็อกข้อจำกัดต่าง ๆ ในการระดมทุนจากภาคเอกชนเพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย SDGs พร้อมกันนี้ UN ขอชื่นชมการดำเนินการก้าวสำคัญของรัฐบาลไทย ก.ล.ต. และภาคเอกชน ที่ช่วยผลักดันการปฏิบัติตามหลักการ ESG ไปสู่การดำเนินธุรกิจและการลงทุนซึ่งสร้างผลกระทบที่สอดคล้องตามแนวทางของ SDGs" นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า "ก.ล.ต. ซึ่งมีภารกิจในการกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนไทยได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ ปี 2563 – 2565 ที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) โดยได้นำหลักการผสมผสาน 3 ด้าน คือ การมีวินัยของตนเอง แรงผลักดันจากผู้มีส่วนร่วมในตลาด และการกำกับดูแลทางด้านกฎหมายและกฎระเบียบ ซึ่งสอดคล้องกับหลักสากลที่ใช้ในประเทศต่าง ๆ มาวางรากฐานและออกมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งนำหลักการชี้แนะขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UNGPs) มาเผยแพร่ให้กับบริษัทจดทะเบียนและผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุนเนื่องจากเป็นกลไกของการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจ พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ขอยืนยันเจตนารมณ์ในการร่วมดำเนินการกับทุกภาคส่วน ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาตลาดทุนไทยไปสู่ตลาดทุนไทยที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติต่อไป" นางสุนันทา เตียสุวรรณ์ อุปนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปีนี้สมาคมฯ มีความมุ่งมั่นสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย โดยเข้าไปสนับสนุนการอบรมเครื่องมือ Business Call to Action Impact Lab ของ UNDP ในการวัดและจัดการผลกระทบสำหรับธุรกิจที่ผสาน SDGs เข้ากับการดำเนินธุรกิจของบริษัท เพื่อช่วยให้บรรลุผลพร้อมตอบสนองความต้องการทางธุรกิจได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งสมาคมฯ ในฐานะองค์กรที่ขับเคลื่อนและเผยแพร่องค์ความรู้จากด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เห็นว่างานสัมมนานี้จะเป็นบทเริ่มต้นที่ดีแห่งปี ที่จะช่วยเชื่อมโยงให้ทุกภาคส่วนตระหนักและเห็นบทบาท ทิศทางในการก้าวต่อไปของประเทศร่วมกันมากขึ้น ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจงานพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย Mr. Artak Melkonyan ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ UNDP SDG Innovative Finance บรรยายเรื่องการนำ SDGs เป็นเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจและเครื่องมือในการวัดและประเมินผลกระทบ นอกจากนี้ ยังมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายภาคส่วน ร่วมแสวนาในหัวข้อ "จาก ESG สู่ SDGs: ทำไมจึงสำคัญ" ประกอบด้วย ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ รักษาการที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นางสาวจอมขวัญ คงสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ดร. เนติธร ประดิษฐ์สาร ผู้ช่วยบริหาร ประธานคณะผู้บริหาร รองกรรมการผู้จัดการ ด้านความยั่งยืนและการสื่อสาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด นายสุเมธ เลอสุมิตรกุล ประธานคณะกรรมการ บริษัท มุ่งพัฒนา อินเตอร์แนชชั่นแนล จำกัด มหาชน และนางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด ดำเนินรายการโดยนางสาวธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็คแห่งประเทศไทย ในงานสัมมนานี้ได้รับเกียรติจาก H.E. Ms. Satu Suikkari-Kleven เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย และ H.E. Mr. Kees Rade เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย พร้อมผู้แทนสถานทูตจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมรับฟัง พร้อมกับผู้เข้าร่วมงานจากภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และสถาบันการศึกษา ประมาณ 400 คน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ