กรุงเทพฯ--25 ก.พ.--มหาวิทยาลัยพะเยา
วันนี้ (๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓) เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ หอประชุมพญางำเมือง มหาวิทยาลัยพะเยา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ ฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาของมหาวิทยาลัยพะเยา ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๑ โดยปีนี้มีผู้สำเร็จการศึกษา จำนวน ๔,๒๒๔ คน ประกอบด้วย ดุษฎีบัณฑิต มหาบัณฑิต บัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ โอกาสนี้ พระราชทานพระราโชวาท ใจความสำคัญว่า ความสำเร็จทางการศึกษาของบัณฑิตในครั้งนี้ เป็นผลมาจากความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะแสวงหาความรู้ เพื่อพัฒนาตนเองให้ก้าวหน้านับเป็นความสำเร็จอันน่าภูมิใจ นับจากนี้ ท่านทั้งหลายคือกำลังสำคัญของประเทศชาติ ที่จะนำความรู้ซึ่งได้เล่าเรียนมา ไปใช้ปฏิบัติงานให้บังเกิดผลเป็นประโยชน์ ในการทำงานนั้น โดยปรกติก็คงจะมีอุปสรรคปัญหา ชอบที่แต่ละคนจะมีสติตั้งมั่นไว้ รับรู้ปัญหานั้นด้วยใจที่เข้มแข็ง พิจารณาปัญหาด้วยหลักวิชาและเหตุผล แล้วนำความรู้ที่มีอยู่ไปใช้แก้ปัญหาให้ถูกต้อง โดยยึดหลักสามัคคีธรรม ซึ่งมุ่งเน้นการประสานประโยชน์ของทุกคนทุกฝ่ายเป็นที่ตั้ง ถ้าทำได้ดังนี้แต่ละคนก็จะผ่านพ้นอุปสรรคปัญหาและสามารถภูมิใจได้เต็มที่ว่า ได้ประสบความสำเร็จแล้วอีกขั้นหนึ่ง คือความสำเร็จในการปฏิบัติงานให้สัมฤทธิ์ผลโดยราบรื่น อันจะเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนแก่ส่วนรวม และแก่ประเทศชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ กล่าวว่า ดิฉัน มีความภาคภูมิใจและขอแสดงความยินดีกับทุกท่าน ที่มีความวิริยอุตสาหะมุ่งมั่น และพากเพียร ในการศึกษาหาความรู้จนสำเร็จการศึกษา สิ่งสำคัญอันส่งผลต่อความสำเร็จของบัณฑิตในการดำเนินชีวิต คือ การประพฤติตนให้อยู่ในความถูกต้องดีงาม เป็นบุคคลที่มีคุณธรรม จริยธรรม สร้างสรรค์คุณงามความดี รู้เท่าทันข่าวสารและการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน เป็นผู้ที่มีการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง อยู่ตลอดเวลา รวมทั้งมีความภาคภูมิใจในความเป็นดุษฎีบัญฑิตและบัณฑิตมหาวิทยาลัยพะเยา ปีนี้ สภามหาวิทยาลัยพะเยา ในคราวประชุมครั้งที่ ๘/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๒ มีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติถวายปริญญาการศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาวิชาการบริหารการศึกษา แด่พระเมธีวชิโรดม (วุฒิชัย วชิรเมธี) ด้วยความรู้ ความสามารถทางด้านวิชาการ และเกียรติประวัติจากผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ที่พระเมธี วชิโรดม ได้อุทิศตน เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และสันติภาพเพื่อประโยชน์สุขของชนชาวไทย และนับตั้งแต่มหาวิทยาลัยพะเยาได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศในปีพุทธศักราช ๒๕๕๓ พระเมธีวชิโรดมได้มีคุณูปการต่อมหาวิทยาลัยพะเยาในหลายประการ เช่น แต่งปรัชญาประจำมหาวิทยาลัย (ดำรงชีวิตด้วยปัญญาประเสริฐที่สุด) เพื่อเป็นเป้าหมายสูงสุดในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย สนับสนุนการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยในทุกรูปแบบ ซึ่งมหาวิทยาลัยพะเยาได้รับความเมตตาจากพระเมธีวชิโรดมมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้คัดเลือก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชระ แลน้อย เป็นอาจารย์ดีเด่นด้านการสอน ประจำปี ๒๕๖๒ เพื่อเชิดชูเป็นแบบอย่างของการปฏิบัติงานและการประพฤติปฏิบัติตนในฐานะอาจารย์ของมหาวิทยาลัยด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเทและอุทิศตนในการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง แสดงถึงความเป็นผู้มีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลายและใช้เทคโนโลยีและสื่อการสอนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ของนิสิต เป็นแบบอย่างที่ดีและเป็นผู้ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เรียน เป็นผู้ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความใฝ่เรียนใฝ่รู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเป็นผู้เสียสละทำงานเพื่อส่วนรวมทั้งในคณะ ภายในมหาวิทยาลัย และภายนอกมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในด้านการดูแลนิสิต ด้วยผลงานและการประพฤติปฏิบัติที่เป็นแบบอย่างจนเป็นที่ประจักษ์ ด้านนักวิจัยดีเด่น ปีนี้ มหาวิทยาลัยได้คัดเลือก นักวิจัยดีเด่น จำนวน ๔ ท่าน ประกอบด้วย ๑.รองศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกร สุรศักดิ์ เสาแก้ว คณะเภสัชศาสตร์ ได้รับรางวัล นักวิจัยดีเด่นด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ๒.รองศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ ช่อลำเจียก คณะวิทยาศาสตร์ ได้รับรางวัล นักวิจัยดีเด่นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ๓.รองศาสตราจารย์ ดร.ผณินทรา ธีรานนท์ คณะศิลปศาสตร์ ได้รับรางวัล นักวิจัยดีเด่นด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ๔.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คมศักดิ์ พินธะ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับรางวัล นักวิจัยดีเด่นด้านการวิจัยที่สร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชน มหาวิทยาลัยพะเยา มุ่งมั่นเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในระดับชาติและนานาชาติ ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับของสังคมมีงานวิจัยและนวัตกรรมที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมอย่างเป็นรูปธรรม รักษาและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ร่วมมือและมีเครือข่ายกับองค์กรภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ชี้นำและสร้างสรรค์ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งและความยั่งยืนของชุมชน และสังคม มีบุคลากรที่มีคุณภาพมีระบบประกันคุณภาพ มีการบริหารจัดการด้วยหลักธรรมาภิบาล ประเมินและตรวจสอบได้ในทุกพันธกิจ