สวทช. เสริมเขี้ยวเล็บ SMEs อุตฯงานไม้ ใช้ความรู้-เทคนิค สร้างความเข้มแข็งและมั่นคง

ข่าวอสังหา Monday March 10, 2008 10:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 มี.ค.--สวทช.
ที่ผ่านมาโครงการ iTAP ได้ดำเนินโครงการ “การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้” อย่างต่อเนื่อง โดยทีมผู้เชี่ยวชาญได้เข้าเยี่ยมและวินิจฉัยโรงงาน ทำให้ทราบว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไม้ในปัจจุบันกำลังประสบกับปัญหาและต้องการการสนับสนุนในเรื่องของความรู้และเทคนิค การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การลดต้นทุนการผลิต เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังขาดความรู้ ความเข้าใจในการใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ในการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความชำนาญด้านเทคนิคการผลิตให้กับสถานประกอบการเพื่อรองรับการขยายตัวทางธุรกิจและปรับตัวสู่การแข่งขันในโลกปัจจุบัน
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ร่วมกับภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จัดอบรมสัมมนา “เพิ่มผลผลิตอย่างไร ด้วยเทคนิคงานไม้” เพื่อถ่ายทอดความรู้และเทคนิคการผลิตแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไม้ให้มีความเข้มแข็งและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกในอุตสาหกรรมไม้ต่อไป
ผศ.แจ่มจันทร์ ธรรมสุจริต อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมไม้ ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวเกี่ยวกับการอ่านแบบและการแยกชิ้นส่วนเครื่องเรือน ว่า ในอุตสาหกรรมเครื่องเรือนนั้นมีรูปแบบมากมาย รวมถึงวัสดุที่นำมาผลิตก็มีความแตกต่างกัน ผู้ออกแบบจำเป็นต้องสื่อความหมายจากจินตนาการ ถ่ายทอดความรู้สึกออกมาให้เป็นรูปร่าง และเขียนรูปทรงกำหนดขนาดลงในแบบ เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจในความหมายของรูปแบบนั้นๆ การอ่านแบบจึงเสมือนเป็นอีกภาษาหนึ่งที่สื่อความหมายแสดงรายละเอียดด้วยรูปภาพ โดยระบุถึง ขนาด วัสดุ อุปกรณ์ วิธีการประกอบ และขึ้นรูปต่างๆ ซึ่งจะสื่อความหมายให้ตรงกับสัญลักษณ์ที่ใช้แทนในรูปแบบนั้นๆ
“การอ่านแบบและแยกชิ้นส่วนเครื่องเรือนมีความสำคัญมากในอุตสาหกรรมไม้ ถ้าเราอ่านแบบไม่ได้ก็ไม่สามารถแยกชิ้นส่วนได้ และตัดขนาดในส่วนที่ผิด ส่งผลให้งานเสียหาย ปัจจุบันแบบที่เขียนให้กับอุตสาหกรรมเครื่องเรือนของเรายังล้าสมัยมาก ผู้ประกอบการหรือเจ้าของโรงงานควรที่จะสนับสนุนให้ผู้ที่ทำงานด้านนี้อ่านแบบเป็น ถูกต้อง และได้มาตรฐาน เพราะแบบถือเป็นหัวใจของช่าง ถ้าอ่านแบบเป็นจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพ ลดภาระของหัวหน้าฝ่ายผลิต และไม่ต้องจ้างคนอื่นถอดแบบ ทำให้แบบที่มีไม่รั่วไหลออกไป” ผศ.แจ่มจันทร์ กล่าว
ด้าน อาจารย์สมชาย เวชกรรม อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมไม้ ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวเกี่ยวกับการออกแบบ Jig & Fixture ว่า Jig (จิ๊ก) เป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยในการกำหนดตำแหน่ง จับยึดชิ้นงานและยังเป็นตัวนำทางของเครื่องมือตัด หรือนำทางในการประกอบ ส่วน Fixture (ฟิกซ์เจอร์) เป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่สร้างขึ้นมาใช้ในการกำหนดตำแหน่งจับยึด และรองรับชิ้นงานให้คงอยู่กับที่ขณะเครื่องจักรกำลังทำงานอยู่ ฟิกซ์เจอร์จะต้องถูกยึดให้ติดแน่นกับแท่นของเครื่องจักรในระหว่างที่ชิ้นงานกำลังถูกกระทำอยู่
“การออกแบบจิ๊กและฟิกซ์เจอร์ จำเป็นต้องมีการเรียนรู้ถึงหลักการต่างๆ ที่นำมาไปใช้ในการออกแบบ หลักการต่างๆ เหล่านี้จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างจิ๊กและฟิกซ์เจอร์ ให้มีความถูกต้อง แม่นยำ มีมาตรฐานเดียวกัน และมีความปลอดภัยในการใช้งาน การสร้างจิ๊กที่ไม่คำนึงถึงหลักการออกแบบอาจทำให้การทำงานกับจิ๊กและฟิกซ์เจอร์มีประสิทธิภาพด้อยลงไป”
สำหรับประโยชน์ของจิ๊กและฟิกซ์เจอร์ในโรงงานอุตสาหกรรมนั้นมีมากมาย อาทิ ทำให้สามารถผลิตชิ้นส่วนได้มีคุณภาพเดียวกัน ขนาดเท่ากัน ผลิตได้รวดเร็วกว่าการใช้คนงาน รวมทั้งไม่จำเป็นต้องใช้ช่างที่มีความชำนาญสูงจำนวนมากเพราะจิ๊กนั้นเมื่อทำออกมาดีแล้วจะมีประสิทธิภาพสูงในตัวของมันเอง นอกจากนี้ยังช่วยลดปริมาณของเสียเพราะจิ๊กจะผลิตชิ้นงานให้ออกมาเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นคนงานทำ ขนาดอาจจะผิดไปก็ต้องโยนทิ้ง ถือว่าชิ้นงานนั้นเสียไปเลย
อุตสาหกรรมเครื่องเรือนในขณะนี้ถือว่าเป็นลำดับต้นๆ ของการส่งออก ที่มีการแข่งขันสูง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังมีคนงานหรือผู้ที่มีความรู้เรื่องเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเครื่องเรือนที่มีการเรียนการสอนอยู่ในสถาบันการศึกษาน้อยมาก ฉะนั้นตรงนี้ทางโครงการ iTAP และสถาบันการศึกษาจะสามารถช่วยผู้ประกอบการโรงงานได้มากในเรื่องของการถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้ความรู้ เพื่อใช้ในการแข่งขัน ช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมมีความเข้มแข็งในเรื่องของเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น อีกทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องเรือนให้สามารถผลิตได้จำนวนมากขึ้น รวดเร็วขึ้น คุณภาพสูงขึ้น และของเสียลดน้อยลง” อาจารย์สมชายกล่าว
ส่วนในเรื่องของเทคนิคเครื่องจักรกลงานไม้นั้นก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน อาจารย์สมศักดิ์ ร่มสนธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมไม้ ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวในเรื่องนี้ว่า เครื่องจักรกลงานไม้ เป็นเครื่องจักรที่ใช้ในการขึ้นรูปชิ้นงานให้มีลักษณะต่างๆ ดังนั้นผู้ใช้งานจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้งานของเครื่องจักรประเภทต่างๆ ผู้ที่จะใช้เครื่องจักรกลงานไม้ในการผลิตชิ้นงานให้มีคุณภาพนั้น ขั้นตอนแรกจะต้องทำการศึกษาวิธีการใช้งานเครื่องจักรให้ถูกต้องก่อนเสมอ ทั้งหน้าที่หลัก หน้าที่ของส่วนประกอบ การใช้งาน กฎความปลอดภัย และการบำรุงรักษา
อาจารย์สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า การบำรุงรักษาเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามเพราะเครื่องจักรนั้นมีขนาดใหญ่ การใช้งานนานๆ อาจจะทำให้เกิดการชำรุดขึ้น ฉะนั้นจำเป็นต้องมีการบำรุงรักษาให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะช่วยส่งผลให้การขึ้นรูปชิ้นงานง่าย อุบัติเหตุไม่ค่อยเกิดหรือถ้าเกิดก็มีความรุนแรงน้อย ชิ้นงานที่ได้มีคุณภาพ ลดความสูญเสียของชิ้นงาน ซึ่งปัจจุบันเราพัฒนาด้านความปลอดภัยในการทำงานมากขึ้น มีเครื่องป้องกันอันตรายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องป้องกันอันตรายการใช้เครื่องจักร เครื่องดูดฝุ่น ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม การที่โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ได้ร่วมมือกับภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในครั้งนี้ จะได้ก่อให้เกิดประโยชน์และผลดีต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมงานไม้โดยตรง โดยจะได้มีการพัฒนาวิธีการผลิต วิธีการใช้เครื่องมือเครื่องจักรให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งมีการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีเงินลงทุนไม่มากนัก ซึ่งคาดหวังว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพและมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นเพื่อที่จะแข่งขันต่อไปได้ในตลาดโลก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ