มาทำความรู้จักโรคไมเกรน โรคปวดหัวเรื้อรังที่มนุษย์เงินเดือนเสี่ยงต้องเจอบ่อยที่สุด

ข่าวทั่วไป Tuesday February 25, 2020 14:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.พ.--สปาร์ค คอมมิวนิเคชั่นส์ ปัจจุบันปัญหาสุขภาพที่คนวัยทำงานส่วนใหญ่ต้องเผชิญนั้นมีหลากหลายและคนเรามักจะมองข้ามอยู่เสมอ อย่างคนที่ต้องเร่งสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตจนลืมนึกไปว่าร่างกายก็ต้องได้รับการดูแลเช่นกัน ถึงแม้ว่าช่วงวัยนี้ยังมีพละกำลังมากพอ แต่การหักโหมทำงานอย่างหนักอาจส่งผลเสียในระยะยาวให้กับสุขภาพได้ โดยเฉพาะโรคยอดฮิตอย่าง "ไมเกรน" โรคที่ไม่ใช่แค่อาการปวดศีรษะทั่วไป แต่เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท สามารถเริ่มเป็นได้ตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งมักจะกำเริบเป็นครั้งคราวเมื่อเผชิญกับสิ่งเร้าต่าง ๆ เช่น สภาพอากาศที่ร้อนจัด แดดจ้า การอดหลับอดนอน ภาวะเครียดสะสม ดังนั้นการมีความรู้ที่เพียงพอ พร้อมกับรู้จักสังเกตตนเอง และบุคคลใกล้ชิด ก็เพื่อประโยชน์ต่อการรักษาตั้งแต่เริ่มต้นและเพื่อประโยชน์ในการดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขมากที่สุด เรืออากาศโท นายแพทย์กีรติกร ว่องไววาณิชย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า "เมื่อปี พ.ศ. 2562 ทางองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของโรคไมเกรน ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้เกิดความทุพพลภาพ (disability) เป็นอันดับต้นๆของประชากรทั่วโลก โดยเฉลี่ยพบผู้ป่วยไมเกรนมากถึงร้อยละ 15 หรือประมาณ 1 พันล้านคนทั่วโลก พบบ่อยในช่วงอายุระหว่าง 25 – 30 ปี และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายถึง 3 เท่า นอกจากนี้โรคไมเกรนยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความสูญเสียคุณภาพชีวิตและสมรรถภาพในการทำงาน ไมเกรนเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้มีการส่งสัญญาณความปวดผ่านเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ทำให้เกิดอาการปวดที่บริเวณขมับ กระบอกตา และท้ายทอย อาการปวดมักจะเป็นลักษณะตุ้บ ๆ บริเวณขมับและท้ายทอย ระดับการปวดอาจรุนแรง ปานกลางไปจนถึงมาก และอาจส่งผลกระทบให้ไม่สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ" โดยระยะของโรคนี้สามารถจำแนกได้ด้วยระดับความปวดศีรษะ ซึ่งจะแบ่งเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย 1.ระยะนำ (Prodrome) 2.ระยะอาการเตือน (Aura) 3.ระยะปวดศีรษะ (Headache) 4.ระยะหลังจากปวดศีรษะ (Postdrome) อีกทั้งอาการปวดยังสามารถแบ่งเป็นชนิดย่อยตามความถี่ของอาการปวดศีรษะได้อีก 2 กลุ่มได้แก่ ไมเกรนแบบครั้งคราวคือ มีอาการปวดน้อยกว่า 15 วันต่อเดือน ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่า ไมเกรนแบบเรื้อรังคือ มีอาการปวดมากกว่า 15 วันต่อเดือน ซึ่งควรต้องพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง สำหรับการรักษาในปัจจุบัน ทางการแพทย์ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้และยังคงยกให้เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาค้นคว้ากันต่อไป ซึ่งจุดมุ่งหมายในการรักษาจึงอยู่ที่การรับมือกับอาการปวด ไม่ว่าจะเป็นการรักษาทั้งแบบใช้ยาและไม่ใช้ยา เพื่อเป็นการรักษาให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น บรรเทาทุกข์ทรมานจากอาการปวดหัว และช่วยให้ผู้ป่วยสามารถประกอบกิจวัตรต่าง ๆ ได้ตามปกติ ในขณะเดียวกัน ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่อาการปวดเรื้อรัง ควรหมั่นสังเกตตัวเองให้ดี ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอไม่น้อยกว่า 30 นาทีต่อครั้ง และหมั่นจดบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับความปวด อาทิ วัน เวลา ระยะเวลา ลักษณะอาการปวด อาหารที่รับประทาน รวมถึงความผิดปกติต่าง ๆ หากผู้ป่วยมีอาการปวดหัวรุนแรงจนไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาแก้ปวด เป็นบ่อยขึ้น (มากกว่า 4 ครั้งต่อเดือน) ทานยาแล้วไม่หาย ควรที่จะไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาเกี่ยวกับอาการ ซึ่งปัจจุบันมีคลินิกปวดศีรษะที่รักษาเฉพาะทางเกี่ยวกับโรคปวดศีรษะโดยเฉพาะ โดยเริ่มจากวิธีการคัดกรองอาการปวดศีรษะประเภทต่าง ๆ ด้วยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยที่ทันสมัย ที่จะช่วยในการวิเคราะห์ปัญหาได้ตรงจุด ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็ว ทั้งนี้คลินิกปวดศีรษะยังมีวิธีการรักษา เพื่อบรรเทาอาการปวดศีรษะที่หลากหลายตามลำดับ ดังรายละเอียดด้านล่างนี้ 1. การให้ยาแก้ปวดและยาป้องกันไมเกรนอย่างเหมาะสม ซึ่งมียาหลากหลายชนิด ทั้งแบบชนิดรับประทานและชนิดฉีด การใช้ยาจะขึ้นกับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละคน โดยยากลุ่มใหม่ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Calcitonin gene-related peptide หรือ CGRP สามารถใช้ได้ดีในผู้ป่วยไมเกรนชนิดเรื้อรังหรือดื้อต่อการรักษา 2. การรักษาโดยใช้ค็อกเทล หรือตัวยาหลายชนิดร่วมกันเพื่อช่วยรักษาอาการปวดศีรษะเฉียบพลัน ซึ่งวิธีนี้จะดีกว่าการฉีดยาเพื่อลดอาการปวดตามปกติ เพราะวิธีการนี้ไม่เพียงช่วยให้อาการปวดทุเลาลง แต่ยังช่วยลดการปวดศีรษะซ้ำภายใน 24 ชั่วโมงได้อีกด้วย 3. การทำหัตถการทางการแพทย์เพื่อลดอาการปวดศีรษะ เช่น การฉีดยาเข้าไปบริเวณเส้นประสาทหลังท้ายทอย (Occipital Nerve Block) หรือการฉีดโบทูลินัมท็อกซิน 4. การรักษาด้วยการกระตุ้นสมองด้วยไฟฟ้า (neurostimulation) โดยคลื่นแม่เหล็ก (Transcranial Magnetic Stimulation; TMS) หรือ กระแสไฟฟ้าตรง (Transcranial Direct Current Stimulation : TDCS) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบความปวดภายในสมอง จัดว่าเป็นวิธีการรักษาที่ปลอดภัยมีผลข้างเคียงน้อยเมื่อเทียบกับการรักษาด้วยวิธีการอื่น 5. การรักษาแบบไบโอฟีดแบค (Biofeedback) เป็นเทคโนโลยีการรักษาที่ช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย สามารถรับรู้สัญญาณการทำงานจากอวัยวะต่าง ๆ ในสถานการณ์เครียด โกรธ เจ็บปวด ผ่อนคลาย มีความสุข และนำการรับรู้ดังกล่าวมาปรับใช้ และควบคุมร่างกายตนเองให้ดีขึ้น "สุดท้ายนี้แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของอาการปวดไมเกรน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยป้องกันตัวเองจากอาการปวดหัวได้ดีที่สุด ด้วยการหมั่นสำรวจและดูแลตนเอง พักผ่อนให้เพียงพอและตรงตามเวลาทุกวัน ไม่ควรซื้อยาแก้ปวดรับประทานเอง พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เลี่ยงปัจจัยเสี่ยงในการเกิดไมเกรนให้น้อยที่สุด และยังช่วยยับยั้งอีกสารพัดโรคที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้อีกด้วย" เรืออากาศโท นายแพทย์กีรติกร กล่าว
แท็ก โรคไมเกรน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ