ไมเกรน โรคที่สลัดไม่ขาด...“เพียงพบแพทย์ แชร์ความทรมาน แล้วแฮปปี้ไปด้วยกัน”

ข่าวทั่วไป Tuesday February 25, 2020 14:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.พ.--สปาร์ค คอมมิวนิเคชั่นส์ เนื่องจากปัจจุบันผู้ป่วยโรคไมเกรนมักนิยมซื้อยามารับประทานเอง บางรายทานยาทุกครั้งเมื่อรู้สึกปวด เมื่อทานซ้ำหลายครั้งมากเกินไปอาจทำให้ปวดเรื้อรังได้ และอาจมีผลข้างเคียงของยาเพิ่มขึ้น เช่น มือเท้าเย็น เส้นเลือดตรงปลายตีบ เป็นต้น ดังนั้นสาเหตุที่ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์มากกว่าซื้อยารับประทานเอง ก็เพราะว่า โรงพยาบาลจะมีแพทย์เฉพาะทาง หรือบางโรงพยาบาลมีคลินิกโรคปวดศีรษะโดยเฉพาะ ซึ่งมีความพร้อมในการรักษาและจัดการกับโรคไมเกรนได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เช่น เครื่องมือ การวินิจฉัยโรคที่แม่นยำ รวมไปถึงคำแนะนำสำหรับผู้ป่วย นายแพทย์สุวัฒน์ ศรีสุวรรณานุกร สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่า "สิ่งแรกที่แพทย์จะคำนึงเมื่อทำการรักษาผู้ป่วย คือ แพทย์ทุกท่านมีความตั้งใจดีในการรักษาให้ผู้ป่วยหาย ลำดับต่อไปคือแพทย์จะทำการวินิจฉัยและให้ผู้ป่วยใช้ยาเท่าที่จำเป็น ผลข้างเคียงของยาต่ำ หรือบางกรณีอาจต้องพึ่งยาในระยะยาว รวมถึงการให้ผู้ป่วยแชร์ความทุกข์ทรมานของอาการปวดไมเกรนเพื่อให้แพทย์หาทางรักษา เมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้น ทั้งผู้ป่วยและแพทย์เองก็จะมีความสุขไปด้วย ตามคติที่ว่า "Share suffering and happy together." รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคไมเกรน อาการของโรคไมเกรนมีหลายแบบ เช่น ปวดหัวอย่างเดียว ปวดหัวและมีอาการอื่นร่วมด้วย และบางรายอาจมีอาการตามมาด้วยอัมพฤกษ์หรืออัมพาตที่เป็นอยู่ชั่วขณะ ปกติโรคไมเกรนมักมีอาการปวด 4-72 ชั่วโมง โดยปวดซ้ำแบบเดิมอย่างน้อย 4-5 ครั้งต่อเดือน ซึ่งโรคไมเกรนเกิดจากหลากหลายสาเหตุ เช่น การเกิดพยาธิสภาพ และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมหรือสิ่งกระตุ้นที่มักพบบ่อย อาทิ ช่วงมีรอบเดือนของเพศหญิง แสง เสียง อาหาร อากาศร้อน หรือแม้กระทั่งขณะท้องว่าง แต่สุดท้ายแล้วต้นทางของโรคไมเกรนอาจมาจากทางพันธุกรรมจึงทำให้โรคไมเกรนถือเป็นโรคที่ไม่สามารถหายขาดได้ จากผลสำรวจทั่วโลก จะมี1 ใน 7 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 14 ของทั้งโลกที่ป่วยเป็นโรคไมเกรน สำหรับประเทศไทยมีประชากรประมาณ 10 ล้านคนที่เป็นโรคไมเกรน อาการปวดของโรคไมเกรน คือ การเปลี่ยนแปลงหน้าที่ชั่วขณะของสมองที่ทำให้เกิดอาการปวด โดยเกิดจากหลากหลายตำแหน่งตั้งแต่บริเวณ ใต้สมอง, ก้านสมอง, เส้นประสาทสมองคู่ที่ 5, เยื่อหุ้มสมองและหลอดเลือด ซึ่งระยะของไมเกรนสามารถจำแนกได้ด้วย 4 ระดับความปวดศีรษะ ได้แก่ 1.ระยะนำ (Prodrome) หรือระยะก่อนเริ่มมีอาการปวดศีรษะ 2.ระยะอาการเตือน (Aura) หรือระยะการเตือนก่อนเกิดอาการปวดศีรษะ เช่น ชามือ ชาปาก หรือแขนขาอ่อนแรง 3.ระยะปวดศีรษะ (Headache)หรือระยะที่ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะด้านใดด้านหนึ่ง 4.ระยะหลังจากปวดศีรษะ(Resolution) หรือระยะพัก ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดหัวตั้งแต่แรกเริ่ม ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยให้แน่ชัดว่าเป็นโรคใดเพื่อป้องกันและรักษาได้อย่างตรงจุด โดยแพทย์จะซักประวัติคนไข้ให้ชัดเจน แล้วจึงตรวจร่างกายให้ละเอียด ไม่ว่าจะเป็นระบบประสาท ตรวจตา และบางรายอาจต้องทำการเอ็กซ์เรย์เมื่อจำเป็นหรือเมื่อแพทย์พบเจอสิ่งผิดปกติ เมื่อตรวจพบว่าผู้ป่วยเป็นโรคไมเกรนจึงจะทำการวางแผนร่วมกันระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ในกรณีที่ผู้ป่วยโรคไมเกรนมาพบแพทย์ครั้งแรก แพทย์จะให้ทำการจดบันทึกไดอารี่ถึงลักษณะอาการและความสัมพันธ์ของสิ่งกระตุ้น ช่วงเวลาที่มีอาการปวดหัว อาการปวดหัวเมื่อเจอสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ และเมื่อผู้ป่วยรู้สึกหายขาดมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เป็นต้น โดยแพทย์จะแนะนำกลุ่มยาที่ให้พกติดตัวไว้ เพื่อกินระงับการปวด ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระดับ ระดับแรกคือหากมีอาการปวดหัวไม่มากให้กินยาชนิดแรกก่อน ถ้าผ่านไป 1-2 ชั่วโมงแล้วอาการยังไม่ลดลงให้กินยาชนิดที่ 2 หรือถ้าหากผู้ป่วยปวดหัวไมเกรนในระดับที่มากตั้งแต่ครั้งแรก แพทย์จะแนะนำให้กินยาชนิดที่ 2 เลย แต่ควรทำการจดบันทึกอาการไว้ในไดอารี่ และควรอยู่ในที่ที่อากาศเย็นและถ่ายเท เสียงไม่ดัง และดื่มน้ำเปล่าเยอะ ๆ ซึ่งแพทย์ไม่แนะนำให้กินยาหลายครั้งติดกัน สำหรับผู้ป่วยบางรายที่ปวดหัวหนักมาก แพทย์อาจต้องใช้วิธีฉีดยาระงับปวด หากพูดถึงนวัตกรรมของการรักษาโรคไมเกรนในปัจจุบันที่มีหลากหลายมากขึ้น เช่น ยากิน, ยาพ่นจมูก, ยาฉีด รวมถึงการกระตุ้นไฟฟ้าที่เส้นประสาทบริเวณคอหรือหัวคิ้ว เพื่อส่งสัญญาณไปที่ตำแหน่งของการปวดได้ง่ายขึ้น ซึ่งนวัตกรรมทั้งหลายนี้ถูกคิดค้นเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยโรคไมเกรนสามารถปรับเข้าสู่ภาวะใกล้เคียงกับคนปกติให้ได้มากที่สุด โดยจะช่วยลดความถี่ของการปวดไมเกรน ไม่มีผลข้างเคียงที่เกิดจากยา ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ ไม่กระทบกับการทำงานหรือหยุดงานบ่อย ไม่กระทบกับครอบครัว ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้สังคมดำเนินไปได้ด้วยดี "นอกจากนี้ การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่อาจก่อให้เกิดอาการปวดไมเกรนก็สามารถช่วยได้เช่นกัน เช่น ลดอาหารที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดไมเกรน อาทิ ผงชูรส เนย ชีส กาแฟ เป็นต้น รวมถึงไม่ควรนอนดึก อย่าปล่อยให้ท้องว่าง หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อากาศร้อนเป็นเวลานาน ๆ ไม่ทานอาหารรสจัดเกินไป ท้ายสุดนี้ ผมหวังว่านวัตกรรมในการรักษาโรคไมเกรนจะสามารถช่วยลดความรุนแรงของโรคไมเกรนได้ และที่สำคัญคือครอบครัวและตัวผู้ป่วยเองจะสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข อีกทั้งให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงตัวยารักษาไมเกรนได้มากขึ้นไม่ว่าราคาถูกหรือแพง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดี และสามารถดูแลตัวเองได้ รวมถึงดูแลคนอื่นได้เช่นกัน" นายแพทย์สุวัฒน์ กล่าวปิดท้าย
แท็ก โรคไมเกรน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ