เกษตรฯ ชวน Eat Thai First ร่วมบริโภคสินค้าเกษตรไทย แนะพัฒนาศักยภาพด้วยเทคโนโลยี ผ่านศูนย์ AIC และ NABC สร้างโอกาสสินค้าเกษตรไทยให้ยืนหนึ่ง

ข่าวทั่วไป Tuesday February 25, 2020 15:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.พ.--สํานักงานเศรษฐกิจการเกษตร นายนราพัฒน์ แก้วทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ไวรัสโคโรนา (Covid-19) ที่อาจกระทบต่อปริมาณการส่งออกผลไม้ไทยไปตลาดจีน ในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก เดือนมีนาคม - พฤษภาคม นี้ โดยเฉพาะไม้ผลของภาคตะวันออก กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมมาตรการรองรับผลกระทบจากปริมาณผลผลิตส่วนเกินที่ไม่สามารถส่งออกได้ตามสถานการณ์ปกติ อาทิ เร่งหาตลาดใหม่ เพื่อทดแทนตลาดจีน อย่างอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดใหญ่อีกตลาดหนึ่ง และมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาอันดับต้นๆ รวมทั้ง กระตุ้นการตลาดเดิมของไทยของตลาดผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง อาทิ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และ สหภาพยุโรป พร้อมเตรียมมาตรการกระจายสินค้าและกระตุ้นการบริโภค เช่น Road showรวมถึง รณรงค์เรื่อง Eat Thai first เพื่อกระตุ้นการบริโภคสินค้าเกษตรไทย การรณรงค์ให้มีแคมเปญต่างๆ เช่น run for fruit และรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน บริการจัดเสิร์ฟผลไม้ไทยในงานประชุม อบรม และสัมมนาต่างๆ ร่วมกัน ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ผลจากสถานการณ์ไวรัส โคโรนาดังกล่าว ทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารในบางพื้นที่ของประเทศจีน ซึ่งหากสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย จะเป็นโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปยังจีน ดังนั้น เกษตรกรต้องรักษาคุณภาพและมาตรฐานการผลิตสินค้า ผู้ประกอบการควรวางแผนในการบริหารจัดการเพื่อขยายการส่งออกสินค้าไปยังจีน อาทิ การแปรรูป ส่งเสริมการแช่แข็ง เพื่อรอการจำหน่าย ระบบ online marketing รวมทั้งขยายและเชื่อมโยงระบบ logistic เพื่อกระจายสินค้า โดยขณะนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ใช้เทคโนโลยีการเกษตร ขับเคลื่อนผ่านศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาในพื้นที่จังหวัดทั้ง 77 จังหวัด เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมเทคโนโลยีทางการเกษตร ภูมิปัญญา และนวัตกรรมการเกษตร รวมไปถึงมีศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (National Agriculture Big Data Center : NABC) ที่ สศก. ได้ร่วมมือกับกระทรวงต่างๆ เพื่อเป็นฐานข้อมูล Big Data ตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อให้บริการแก่ทุกภาคส่วนทั้งเกษตรกร และผู้ประกอบการ ทั้งนี้ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวเสริมว่า สถานการณ์ไวรัสโคโรนา ส่งผลกระทบความต้องการสินค้าเกษตรไทยภาพรวมลดลงในระยะสั้น โดยเฉพาะผักและผลไม้สด ซึ่งจากข้อมูลปี 2560 - 2562ไทยส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ไปยังประเทศจีน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกภาพรวม 64,535.88 ล้านบาท โดยกลุ่มที่มีการส่งออกเป็นอันดับต้น คือ กลุ่มผลไม้สด ร้อยละ 77.20 ผลไม้แห้ง ร้อยละ 9.92 ผลไม้แช่เข็ง ร้อยละ 8.06 และผลไม้อื่น ๆ ร้อยละ 4.83 ทั้งนี้ ผลไม้สดที่ส่งออกมากที่สุด ได้แก่ ทุเรียนสด คิดเป็นร้อยละ 52.88 และมังคุด คิดเป็นร้อยละ 23.59 และจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา สศก. ได้ประมาณการมูลค่าการส่งออก ผัก ผลไม้สด ในช่วง 3 เดือน (มกราคม-มีนาคม 2563) ลดลงร้อยละ 0.33 เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดไปจีนในปี 2562 หรือคิดเป็นมูลค่า 940 ล้านบาท แต่หากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อไปอีก 6 เดือน (มกราคม-มิถุนายน 2563) จะส่งผลกระทบต่อการส่งออก ผักผลไม้ลดลง เป็นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดไปจีนในปี 2562 หรือคิดเป็นมูลค่า 5,278 ล้านบาท เนื่องจากเป็นช่วงให้ผลของทุเรียน และมังคุด ซึ่งกว่าร้อยละ 50 ผลผลิตทุเรียนส่งออกไปยังตลาดจีน โดยเฉพาะทุเรียนสด ทั้งนี้ เกษตรกรและผู้ประกอบการต้องร่วมมือรักษาคุณภาพผลผลิต เช่น ไม่ตัดทุเรียนอ่อน รวมทั้งพัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐาน GAP และ GMP เพื่อเพิ่ม ขีดความสามารถในการส่งออก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ