กรุงเทพฯ--25 ก.พ.--วิเคราะห์ข่าว สํานักงานประชาสัมพันธ์
นายชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวกรณี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กำชับผู้ว่าราชการจังหวัด ปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจังว่า สนอ. ในฐานะเลขานุการ ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดกรุงเทพมหานคร (ศอ.ปส.กทม.) ได้บูรณาการความร่วมมือเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติด โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคทุกภาคส่วน ได้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุข กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร (ปปส.กทม.) ในการปราบปรามกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดในพื้นที่แพร่ระบาด ขณะเดียวกันได้ร่วมกับสำนักงาน ปปส.กทม. ปตอ.1 พัน 6 เปิดให้บริการศูนย์คัดกรองผู้เสพยาเสพติดและศูนย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกรุงเทพมหานคร รวมทั้งกรมคุมประพฤติและกระทรวงสาธารณสุขในการจัดบริการบำบัดรักษา ผู้เสพยาเสพติด นอกจากนั้น ได้มีแนวทางการลดจำนวนผู้เสพรายใหม่ในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยใช้แบบประเมินภูมิคุ้มกันสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนสังกัด กทม. ซึ่งผลการประเมินจะจัดนักเรียนได้ 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันปกติ กลุ่มภูมิคุ้มกันต่ำ และกลุ่มเสี่ยง ซึ่งผู้เกี่ยวข้องจะจัดกิจกรรมเสริมภูมิคุ้มกันยาเสพติดให้เหมาะสมต่อไป
นายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. กล่าวว่า ในส่วนของ สนศ. ได้ขับเคลื่อนการทำงานด้านยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการจัดทำโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ โครงการครูตำรวจ (ครู D.A.R.E.) เข้าจัดกิจกรรมให้การศึกษาต่อต้านการใช้ยาเสพติดให้กับนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 5 - 6 ในโรงเรียนสังกัด กทม. โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากร (เพื่อนที่ปรึกษา) เพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่และช่วยเหลือผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ โครงการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด TO BE NUNBER ONE ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี มาอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา 17 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2545 ถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นยังได้กำชับให้โรงเรียนในสังกัด กทม. ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด 5 มาตรการ ประกอบด้วย 1) การเฝ้าระวังการใช้ยา/สารเสพติด 2) การป้องกันการใช้ยา/สารเสพติด 3) การบำบัด รักษาการติดยา/สารเสพติด 4) การบังคับใช้กฎหมาย และ 5) การบริหารจัดการอย่างเคร่งครัด