กรุงเทพฯ--26 ก.พ.--ซีพีแรม
บริษัท ซีพีแรม จำกัด ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต 3 จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรมประมง เดินหน้าร่วมกันปรับปรุงและพัฒนาศูนย์แหล่งความรู้ด้านปูม้า จังหวัดสุราษฎร์ธานี หวังเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านการเพาะพันธ์ลูกปูม้า พร้อมเดินหน้าโครงการ "ปูม้า ยั่งยืน คู่ทะเลไทย" หวังเสริมสร้างความตระหนักในสังคมด้านทรัพยากรธรรมชาติเกิดยั่งยืนของปูม้าในท้องทะเลไทย สนับสนุนเงินในการเพาะเลี้ยงลูกปูม้าในระยะ Young Crab จำนวน 200,000 ตัว ปล่อยสู่ท้องทะเลในพื้นที่เกาะเสร็จ จังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมผนึกกำลังร่วมกับหลายภาคส่วนในการผลักดันปูม้าให้ยั่งยืนคู่ทะเลไทย
นายวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด เปิดเผยว่า การปรับปรุงและพัฒนาศูนย์แหล่งความรู้ด้านปูม้า จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านการเพาะพันธ์ลูกปูม้า พร้อมเดินหน้าโครงการ "ปูม้า ยั่งยืน คู่ทะเลไทย" ได้ร่วมกับคณะผู้บริหาร และพนักงานบริษัท ซีพีแรม จำกัด ได้รับเกียรติจากนายเจริญศักดิ์ วงศ์สุวรรณ นายอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี, ดร.สุทธินี ลิ้มธรรมมหิศร ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง , ผู้บริหารศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต 3 (สุราษฎร์ธานี) และผู้บริหารบริษัท วิยะเครปโปรดักส์ จำกัด (ในฐานะผู้ส่งมอบวัตถุดิบให้ซีพีแรม) ร่วมปล่อยลูกพันธุ์ปูม้า ระยะ Young Crab คืนสู่ทะเลกว่า 200,000 ตัว หนึ่งในภารกิจขับเคลื่อนโครงการ "ปูม้า ยั่งยืน คู่ทะเลไทย" ซึ่งดำเนินการมากว่า 5 ปี ปล่อยลูกพันธุ์ปูม้าระยะ Young Crab คืนสู่ทะเลไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณปูม้าในพื้นที่บริเวณชายฝั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี มุ่งหวังเป็นการยกระดับการสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของการอนุรักษ์ปูม้า และระบบนิเวศของท้องทะเลไทย
โดย ครั้งนี้ได้มีหลายภาคส่วนได้เข้าร่วมปล่อยลูกพันธุ์ปูม้าระยะ Young Crab คืนสู่ทะเลไทย อาทิ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสุราษฎร์ธานี, องค์กรประสานความร่วมมือและพัฒนาเครือข่ายกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, ส่วนราชการอำเภอไชยา, ส่วนราชการตำบลพุมเรียง, ชาวบ้านตำบลพุมเรียง, กลุ่มอนุรักษ์อ่าวพุมเรียง, กลุ่มธนาคารปูอ่าวพุมเรียง, นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีรวมทั้งสิ้นกว่า 150 คน ในกิจกรรมครั้งนี้
นายวิเศษ กล่าวอีกว่า โครงการ "ปูม้า ยั่งยืน คู่ทะเลไทย" จะเป็นกรณีศึกษาให้กับโครงการอื่น ๆ ในเรื่องการจัดการห่วงโซ่อุปทาน Supply Chain Management ที่เกิดผลตามแนวทาง FOOD 3S ขององค์กร (Safety, Security and Sustainability) โดยผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ อันได้แก่ ชาวประมง บริษัท วิยะเครปโปรดักส์ จำกัด (ผู้แปรรูปเนื้อปู) บริษัท ซีพีแรม จำกัด (ผู้ผลิตอาหาร) และผู้บริโภค รวมถึงศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต 3 (สุราษฎร์ธานี) เป็นผู้สนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อให้การจัดการอนุรักษ์คุ้มครอง และการพัฒนาการประมงปูม้าในทะเลไทยบรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพ
"อีกทั้ง โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อการทำประมงปูม้าให้เป็นไปอย่างรับผิดชอบต่อพื้นที่ ไม่มีผลเสียต่อระบบนิเวศวิทยาทรัพยากรและคุณภาพสิ่งแวดล้อม มุ่งหวังการเพิ่มมูลค่าปูม้าจากการแปรสภาพที่สอดคล้องกับมาตรฐานทางสุขอนามัยให้ได้ผลิตภัณฑ์ปูม้าที่มีคุณภาพสำหรับการบริโภค ประกันการรักษามาตรฐานและด้านสาธารณสุข คุณภาพอาหารอีกด้วย โดยเราต้องการให้การสนับสนุนความร่วมมือการวิจัยด้านประมงและการถ่ายทอดทางเทคโนโลยี เพื่อสร้างความมั่นคง ความยั่งยืนทางอาหาร การทำมาหากินของชาวประมงพื้นบ้าน"
นายวิเศษ เปิดเผยอีกว่า การดำเนินการโครงการดังกล่าวคาดหวังในระยะยาว ต้องการอนุรักษ์พันธุ์ปูม้าในพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ไม่ให้สูญหายและยังเป็นการส่งเสริมผู้ผลิตรายย่อย ซึ่งเป็นชาวประมงพื้นบ้านให้สามารถดำเนินการประมงได้อย่างยั่งยืน ด้วยการเพาะพันธุ์ปูม้าในพื้นที่โดยการฟักไข่จากตับปิ้งของแม่ปูม้าที่มีไข่นอกกระดอง และอนุบาลตัวอ่อนภายในกระชังที่อยู่ในทะเลเพื่อรอการปล่อยสู่ชายฝั่งทะเลจนเติบโตเป็นปูม้าขนาดใหญ่ ความร่วมมือในครั้งนี้ ขอบคุณกรมประมง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เขต 3 (สุราษฎร์ธานี) ที่ให้การสนับสนุนลูกปูม้าในระยะ Young Crab มาตลอด และในครั้งนี้มอบการสนับสนุนกว่า 200,000 ตัว เพื่อปล่อยลงท้องทะเลอ่าวไทย เกาะเสร็จ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนของปูม้าในท้องทะเลไทย และให้เกิดการสอดคล้องกับแนวทาง 3S ขององค์กร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยอาหาร ความมั่นคงอาหาร และความยั่งยืนอาหารที่องค์กรได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง
"ดังนั้น ซีพีแรมได้ขับเคลื่อนภารกิจงานด้านความรับผิดชอบทางสังคมฯ โดยบุคลากรในองค์กรทุกคนได้มีส่วนร่วม และนำไปปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกันอย่างต่อเนื่องครอบคลุมหลายด้าน เดินหน้าสร้างคุณค่าให้กับสังคมรอบข้าง อีกทั้งร่วมส่งมอบความดีคู่ความเก่งให้กับผู้บริโภคและสังคม 3 ประการด้วยกัน คือ FOOD SAFETY, FOOD SECURITY, และ FOOD SUSTAINABILITY หรือ FOOD 3S ทั้ง FOOD 3S ไม่ได้เป็นเรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง เราต้องร่วมกันทำตลอดห่วงโซ่อุปทานส่งมอบความดีคู่ความเก่งใน FOOD 3S ให้กับผู้บริโภคและสังคมเป็นเนื้อเดียวกัน นอกเหนือจากการส่งมอบความดีคู่ความเก่งให้กับผู้บริโภคและสังคม 3 ประการแล้วนั้น ซีพีแรมยังคงเดินหน้าด้านการส่งเสริมความรู้อาหารปลอดภัย คุณค่าทางโภชนาการ และสุนทรียภาพในการบริโภค ด้านการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ด้านการพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ซีพีแรมยังคำนึงถึงการมอบสิ่งที่เป็นคุณค่าบนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ตลอดห่วงโซ่อุปทาน อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยยึดหลักการดำเนินธุรกิจตามหลัก 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่มุ่งสร้างสรรค์ประโยชน์แก่ ประเทศชาติ สังคม และบริษัท"
ดร.สุทธินี ลิ้มธรรมมหิศร ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง เปิดเผยว่า ปูม้าตามธรรมชาติ ในทะเลมีปริมาณลดลง เนื่องจากมีการบริโภคเพิ่มมากขึ้น การอนุรักษ์ และพื้นฟูทรัพยากรปูม้าในประเทศไทยถือว่าประสบความสำเร็จ โดยสามารถเพิ่มปริมาณปูม้าได้เพิ่มมากขึ้น จากการสอบถามพบว่า พี่น้องชาวประมงจับปูม้าได้มากขึ้น การปล่อยปูม้าในพื้นที่บริเวณเกาะเสร็จของ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถือเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมมาก เนื่องจากลูกปูม้าสามารถฝั่งตัวและเจริญเติบโตได้ดี ในบริเวณดังกล่าว และเป็นพื้นที่ที่รวมแหล่งอาหารของการอนุบาลสัตว์น้ำทะเลขนาดเล็ก ทั้ง หญ้าทะเล อาหารส่วนอื่น ๆ ที่เหมาะสมอีกด้วย
ด้านนายวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการบริษัท ซีพีแรมจำกัด เปิดเผยว่า ซีพีแรม เป็นผู้ผลิตอาหาร สิ่งที่เราเป็นห่วง คือ วัตถุดิบ ที่มาจากธรรมชาติ เช่น ปูม้า เป็นวัตถุดิบที่เราผลิตเองไม่ได้ ต้องอาศัยการเพราะเลี้ยงในธรรมชาติ ดังนั้น เราต้องคืนกลับไปให้ธรรมชาติให้มากที่สุด เพื่อเป็นแหล่งอาหารไปชั่วลูกชั่วหลาน และซีพีแรมเอง ผลิตข้าวผัดปู จำหน่ายใน เซเว่นอีเลฟเว่น โดยใช้ปูม้าจากแหล่งผลิตในจังหวัดสุราษฎร์ธานีมากที่สุด สิ่งที่เราต้องการคือ ความยั่งยืน ตลอดห่วงโซ่การผลิต และสิ่งสำคัญ คือ ชาวประมง ต้องมีปูให้จับตลอดไป
นายเจริญศักดิ์ วงศ์สุวรรณ นายอำเภอไชยา กล่าวว่า ความสมบูรณ์ของทะเลไชยาในวันนี้ เป็นผลมาจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน ทั้งชาวประมงพื้นบ้านเองก็ตระหนักและให้ความร่วมมือในการทำธนาคารปูม้า ภาคเอกชน ผู้ประกอบการก็เข้ามาทำกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการปล่อยลูกพันธุ์ปูม้า มีการปล่อยตลอดทั้งปี ในหลาย ๆ โอกาส ขอบคุณ บริษัท ซีพีแรม จำกัด ที่เป็นกำลังสำคัญในการเดินหน้า โครงการ "ปูม้า ยั่งยืน คู่ทะเลไทย" และทุกภาคส่วนที่ร่วมปล่อยลูกปูม้าในพื้นที่ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานีในครั้งนี้