กรุงเทพฯ--26 ก.พ.--วิเคราะห์ข่าว สํานักงานประชาสัมพันธ์
นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวกรณีคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อแห่งชาติ ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นโรคติดต่ออันตรายภายใต้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ลำดับที่ 14 ว่า สนพ. มีมาตรการรองรับภาวะฉุกเฉินกรณีโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 โดยกำหนดช่องทางเข้าออกโรงพยาบาลให้เหลือเฉพาะช่องทางที่จำเป็น จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (Emergency Operations Center : EOC) จัดทำบัตรคำแนะนำด้านสุขภาพ (Health Card) เตรียมบุคลากรที่พร้อมรองรับสถานการณ์ เตรียมห้องแยกผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สงสัย ห้องแยกความดันลบ สำรองอุปกรณ์ป้องกันตนเองสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับและสำรอง หน้ากากอนามัยสำหรับผู้ที่มารับบริการในโรงพยาบาล ขณะเดียวกันได้จัดเตรียมสถานพยาบาลในสังกัด กทม. และโรงพยาบาลสนาม เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งหากมีผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สงสัยเพิ่มมากขึ้นหรือไม่มีพื้นที่รองรับ จะแยกผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลสนาม (Cohort ward) ได้แก่ โรงพยาบาลสิรินธร และโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน นอกจากนั้นยังได้ส่งเสริมความรู้และวิธีปฏิบัติตนในการป้องกันตนเองจากโรคติ
ดเชื้อไวรัส COVID-19 โดยให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด ไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยที่มีอาการไอ จาม หากเลี่ยงไม่ได้ให้สวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น หากสงสัยในอาการของโรค สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ 1646 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
นายชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า สนอ. ได้แจ้งศูนย์บริการสาธารณสุขและสถานพยาบาลในเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งโรค การดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค และมาตรการทางกฎหมายตามมาตรา 35 ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร มีอำนาจหน้าที่ในการสั่งปิดตลาด สถานประกอบการ/จำหน่ายอาหาร สถานที่ผลิต/จำหน่ายเครื่องดื่ม โรงงาน สถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษา และสถานที่อื่นใดเป็นการชั่วคราว รวมถึงสั่งห้ามผู้ป่วยหรือผู้สงสัยว่าจะป่วยเข้าไปในสถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษา สถานที่อื่นใด อีกทั้งได้จัดประชุมศูนย์บริการสาธารณสุข เพื่อชี้แจงแนวทางการปฏิบัติในการเฝ้าระวังโรค การจัดจุดคัดกรองในพื้นที่เฉพาะ ดำเนินการสอบสวนโรค ตลอดจนรณรงค์ประชาสัมพันธ์และสนับสนุนสื่อความรู้การป้องกันเชื้อไวรัสฯ ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์และเฟซบุ๊คของสำนักอนามัย โดยรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ "กินร้อน ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ และสวมหน้ากากอนามัย" อย่างต่อเนื่อง