กรุงเทพฯ--27 ก.พ.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายนของทุกปี หลายพื้นที่ของประเทศไทยมักประสบปัญหาการเกิดไฟป่า เนื่องจากสภาพอากาศแห้ง ต้นไม้ผลัดใบ และลมพัดแรง เมื่อเกิดเพลิงไหม้ ทำให้ไฟลุกลามรวดเร็วและยากต่อการควบคุม ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการจุดไฟหาของป่าและล่าสัตว์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรรู้เกี่ยวกับไฟป่าและข้อควรปฏิบัติในการป้องกันไฟป่า ดังนี้สาเหตุของการเกิดไฟป่า
- ปัจจัยทางธรรมชาติ อาทิฟ้าผ่ากิ่งไม้เสียดสีกันแสงแดดตกกระทบผลึกหิน
- การกระทำของมนุษย์ อาทิ การเผาไร่เตรียมพื้นที่เพาะปลูก การเก็บหาของป่าและล่าสัตว์โดยจุดไฟหรือรมควัน การทิ้งก้นบุหรี่ลงบนพงหญ้าแห้ง
องค์ประกอบของการเกิดไฟป่า
- เชื้อเพลิง อาทิ ต้นไม้ กิ่งไม้ ใบไม้แห้ง วัชพืช
- ออกซิเจน ในป่ามีออกซิเจนกระจายตัวในปริมาณที่ต่างกันตามความเร็วและทิศทางลม
- ความร้อน อาทิ ฟ้าผ่า การเสียดสีของกิ่งไม้ การจุดไฟในป่า
การป้องกันไฟป่า
- กำจัดวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงบริเวณแนวชายป่าและในป่า
* เก็บกวาดใบไม้ กิ่งไม้ หรือหญ้าแห้งให้โล่ง มิให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อเพลิง
* ใช้วิธีฝังกลบขยะและไถกลบเศษวัชพืชแทนการเผา เพื่อเตรียมพื้นที่ทำการเกษตร
- หลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับไฟบริเวณแนวชายป่าและในป่า
* ไม่เผาเศษขยะหรือวัชพืชเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก
* ไม่เผาหญ้าเพื่อทำทางเดินในป่า
* ไม่ทิ้งก้นบุหรี่ลงบนพงหญ้าแห้ง หรือบริเวณที่มีวัสดุติดไฟง่าย
* ไม่หาของป่าหรือล่าสัตว์ โดยการจุดไฟหรือรมควัน
- หลีกเลี่ยงการจุดไฟหรือก่อกองไฟบริเวณแนวชายป่าและในป่า
* ไม่ก่อกองไฟใกล้พงหญ้าแห้ง หรือบริเวณที่มีวัสดุติดไฟง่าย
* หากก่อกองไฟ ควรดูแลอย่างใกล้ชิด ใช้น้ำราดดับไฟให้สนิททุกครั้ง ป้องกันไฟการลุกลามเป็นไฟป่า
- สร้างแนวกันไฟป้องกันไฟลุกลามในพื้นที่ใกล้เคียง
* จัดทำคันดินหรือขุดร่องดินบริเวณรอบบ้านและพื้นที่การเกษตร
* ตรวจสอบแนวกันไฟไม่ให้มีต้นไม้พาดขวาง จะช่วยสกัดมิให้เพลิงลุกลามและขยายวงกว้าง