ฝ่ายวิจัยและพัฒนา พลัส สรุปภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า ปี 50 สุขุมวิทยังคงครองแชมป์ทำเลฮิต คาดการณ์ปี 51 โตไม่ต่ำกว่า 4%

ข่าวอสังหา Monday March 10, 2008 13:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 มี.ค.--โฟร์ดี คอมมูนิเคชั่น
สรุปสถานการณ์ตลาดอพาร์ตเมนท์ สำหรับชาวต่างชาติ
จากการสำรวจตลาดอพาร์ตเมนท์สำหรับชาวต่างชาติในกรุงเทพมหานคร โดยฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด พบว่า ในรอบครึ่งปีหลัง 2550 มีโครงการใหม่เปิดตัว 6 โครงการ และมีโครงการที่เปิดห้องพักเพิ่มจำนวน 2 โครงการ รวมห้องพักเปิดดำเนินการใหม่ครึ่งปีหลัง 2550 จำนวน 407 ยูนิต และในรอบครึ่งปีแรกมีจำนวนห้องพักเปิดใหม่ จำนวน 345 ยูนิต ทั้งปี 2550 จึงมีจำนวนห้องพักใหม่ทั้งสิ้น 752 ยูนิต ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2536 แต่อย่างไรก็ตามบางโครงการได้ปิดปรับปรุง ส่งผลให้จำนวนห้องพักในตลาดเพิ่มขึ้นเพียง 342 ยูนิต โดยเพิ่มขึ้นจากเดิม 10,934 ยูนิต เป็น 11,276 ยูนิต และจำนวนห้องพักที่คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2551 ส่วนใหญ่ยังคงกระจายในพื้นที่สุขุมวิท รวม 491 ยูนิต ทำให้ตลาดอพาร์ตเมนท์ขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 4%
พื้นที่สุขุมวิทยังคงมีอพาร์ตเมนท์ให้เช่าสำหรับชาวต่างชาติเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีจำนวนห้องพัก 8,035 ยูนิตหรือคิดเป็นส่วนแบ่งพื้นที่ 72% รองลงมาคือ พื้นที่สีลม-สาทร จำนวน 1,114 ยูนิต (10%), พื้นที่เพลินจิต-ชิดลม 811 ยูนิต (7%), พระราม 3 จำนวน 686 ยูนิต (6%), พหลโยธิน 248 ยูนิต (2%) และพื้นที่อื่นๆ ซึ่งได้แก่ พื้นที่
จำนวนห้องพักคุณภาพดีในพื้นที่สุขุมวิทมีการขยายตัวสูงถึง 36% จาก 1,199 ยูนิตในปี 2549 เป็น 1,630 ยูนิตในปี 2550 เป็นผลมาจากโครงการเปิดให้บริการใหม่ 8 โครงการและรวมตัวในพื้นที่สุขุมวิท เนื่องจากมีจำนวนอุปสงค์สูงอย่างต่อเนื่องในทุกๆปี และคาดว่าในปี 2551 จะมีจำนวนห้องพักเกรดเอเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 211 ยูนิต เป็น 1,841 ยูนิต ในทางกลับกันพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจ ซึ่งประกอบด้วย พื้นที่เพลินจิต-ชิดลม และสีลม-สาทร เริ่มมีจำนวนห้องพักเกรดเอลดลง เป็นผลจากการปิดปรับปรุงโครงการ กอปรกับไม่มีโครงการใหม่เปิดทดแทน จึงทำให้พื้นที่เพลินจิต-ชิดลม และสีลม-สาทร มีจำนวนห้องพักลดลงจำนวน 99 ยูนิตเป็น 366 ยูนิต และลดลง 35 ยูนิต เป็น 362 ยูนิต ตามลำดับ
อัตราการเข้าพักเฉลี่ยทุกพื้นที่ลดลง 5% จากปี 2549 ที่ 94% เป็น 89% โดยพื้นที่เพลินจิต-ชิดลม และพระราม 3 ยังครองอัตราการเข้าพักสูงสุดอยู่ที่ 91% รองลงมาคือพื้นที่สุขุมวิท 90%, พื้นที่สีลม-สาทร 85% และพหลโยธิน 80% ตามลำดับ โดยในปีนี้อัตราการเข้าพักลดลงจากปีก่อนในทุกพื้นที่ประมาณ 3-12% เป็นผลมาจากสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่กระทบต่อความมั่นใจของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะพื้นที่พหลโยธินที่มีอัตราการเข้าพักลดลงถึง 12% เนื่องจากมีอัตราค่าเช่ารายเดือนเฉลี่ยที่สูงถึง 299 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งเทียบเท่ากับอัตราค่าเช่ารายเดือนเฉลี่ยของอพาร์ตเมนท์เกรดบีในพื้นที่สุขุมวิท กอปรกับพื้นที่พหลโยธินยังขาดแคลนแหล่งอำนวยความสะดวกสำหรับชาวต่างชาติ จึงไม่เป็นที่นิยมเท่าพื้นที่อื่นๆ
ภาพรวมค่าเช่าของอพาร์ตเมนท์เฉลี่ยของโครงการเกรดเอปรับตัวขึ้น 6% จาก 401 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน เป็น 426 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน โดยพื้นที่สีลม-สาทรมีราคาค่าเช่าสูงสุดอยู่ที่ 433 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน (ปรับขึ้น 2%) รองลงมาคือ พื้นที่สุขุมวิทอยู่ที่ 426 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน (ปรับขึ้น 4%) และพื้นที่เพลินจิต-ชิดลมอยู่ที่ 423 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน (ปรับขึ้น 13%) ถึงแม้ว่าในปี 2550 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้ลดลงจากปี 2549 จาก 4.7% เหลือ 1.6% ณ ไตรมาสที่ 3 (ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย) แต่ทั้งสามพื้นที่มีการปรับอัตราค่าเช่าอยู่ในระดับสูงกว่าเงินเฟ้อ เนื่องจากต้นทุนในการปรับปรุงห้องพักใหม่ และโครงการที่เปิดดำเนินการใหม่ในปี 2550 มีอัตราค่าเช่าเฉลี่ยที่สูงถึง 496 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน
ภาพรวมค่าเช่าของอพาร์ตเมนท์เฉลี่ยระดับเกรดบี มีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อย 1% จาก 299 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน เป็น 301 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน โดยพื้นที่สีลม-สาทรยังคงมีราคาค่าเช่าสูงสุด อยู่ที่ 340 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน (ปรับขึ้น 4%) รองลงมาคือ พื้นที่สุขุมวิทและพื้นที่พหลโยธิน เท่ากันที่ 299 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน (ปรับขึ้น 1% และ 2% ตามลำดับ), พื้นที่เพลินจิต-ชิดลม อยู่ที่ 286 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน (ปรับขึ้น 1%) และพื้นที่พระราม 3 อยู่ที่ 272 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน (ปรับขึ้น 0.4%) โดยอพาร์ตเมนท์เกรดบีมีการปรับค่าเช่าขึ้นใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อ และเป็นการปรับขึ้นในระดับที่น้อยกว่าอพาร์ตเมนท์เกรดเอ เนื่องจากอพาร์ตเมนท์เกรดบีมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยที่น้อยกว่า อีกทั้งมีจำนวนอุปทานที่มาก ส่งผลให้การแข่งขันในตลาดมีเข้มข้น
ธุรกิจประเภทอพาร์ตเมนท์ให้เช่าสำหรับชาวต่างประเทศ ในปี 2551 จะมีจำนวนอุปทานใหม่เข้าสู่ตลาดกว่า 500 ยูนิต หรือขยายตัว 4% ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่สุขุมวิทและเป็นโครงการเกรดเอ ที่มีการจัดสภาพแวดล้อมให้น่าอาศัยมากขึ้น เป็นผลให้ค่าเช่า อพาร์ตเมนท์เกรดเอจะปรับขึ้นได้อีก 3-5% จากโครงการเปิดใหม่มีราคาเช่าสูง สำหรับอพาร์ตเมนท์เกรดบีจะปรับตัวได้ไม่สูงนัก อยู่ที่ 1-2% เนื่องจากตลาดมีการแข่งขันที่สูงกว่า อย่างไรก็ตาม อพาร์ตเมนท์ในพื้นที่พระราม 3 จะได้รับอานิสงส์จากโครงการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (Bangkok BRT) ซึ่งมีกำหนดเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคม 2551 ทำให้การเดินทางสะดวกและรวดเร็วขึ้น ส่งผลให้ค่าเช่าเฉลี่ยปรับตัวสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ ส่วนอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในทุกพื้นที่จะผันแปรไปตามความเชื่อมั่นของชาวต่างชาติ ซึ่งในครึ่งปีแรกของปีจะยังทรงตัวจากปีนี้ เพื่อรอดูสถานการณ์ทางการเมืองและนโยบายทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล หากไม่มีการผ่อนผันนโยบายที่เข้มงวดกับการลงทุนของชาวต่างชาติ เช่น มาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้น และเพิ่มนโยบายส่งเสริมให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น จะส่งผลต่ออัตราการเข้าพักให้ลดลงอีก
สรุปสถานการณ์ตลาดเซอร์วิส อพาร์ตเมนท์
ตลาดเซอร์วิส อพาร์ตเมนท์ในช่วงครึ่งปีหลัง 2550 มีโครงการเปิดดำเนินการใหม่ 13 โครงการ และอีก 1 โครงการที่เปิดบริการเพิ่มจากยูนิตที่เหลือจากรอบครึ่งปีแรก รวมทั้งสิ้น 1,205 ยูนิต โดยเมื่อรวมกับโครงการที่เปิดดำเนินการใหม่ในครึ่งปีแรก จำนวน 489 ยูนิต ส่งผลให้ตลอดปี 2550 มีเซอร์วิส อพาร์ตเมนท์เปิดดำเนินการใหม่รวมทั้งสิ้น 1,694 ยูนิต และจำนวนห้องพักรวมตลอดปี 2550 เท่ากับ 14,448 ยูนิต เติบโตเพิ่มขึ้น 9% จากปี 2549 นอกจากนี้คาดว่าปี 2551 มีห้องพักที่จะเปิดให้บริการ 2,960 ยูนิต ซึ่งมากกว่าจำนวนห้องพักในปี 2540 ที่เคยเติบโตสูงสุด และมีอัตราการเติบโตสูงกว่าปี 2550 ถึง 21% ขณะที่ปี 2552 จะมีห้องพักเปิดดำเนินการใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีก 2,109 ยูนิต หรือเติบโต 12% ส่วนในปี 2553 มีห้องพักที่จะเปิดดำเนินการใหม่ไม่ต่ำกว่า 99 ยูนิต จากจำนวนห้องพักที่จะเปิดดำเนินการใหม่ในปี 2551-2553 ทำให้จำนวนห้องพักรวมทั้งตลาดในอีก 3 ปีนับจากนี้เท่ากับ 19,616 ยูนิต
เมื่อพิจารณาส่วนแบ่งจำนวนห้องพักตามพื้นที่ พบว่า พื้นที่สุขุมวิทยังคงมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด 42% (6,187 ยูนิต) รองลงมาคือ พื้นที่สีลม-สาทร และพื้นที่ เพลินจิต-ชิดลมที่ 16% เท่ากัน (2,266 ยูนิต และ 2,250 ยูนิต ตามลำดับ), พื้นที่พระราม 3 6% (895 ยูนิต) และพื้นที่พญาไท 5% (772 ยูนิต) ตามลำดับ ทั้งนี้สัดส่วนของตลาดห้องพักมีการเปลี่ยนแปลงจากปีก่อนหน้าไม่มากนัก โดยพื้นที่ธุรกิจหลัก ยังคงถือครองส่วนแบ่งมากที่สุดเกือบ 75% ขณะที่พื้นที่ ชั้นกลาง เช่น พื้นที่พญาไท และพื้นที่พหลโยธิน และพื้นที่ชั้นนอก ได้แก่ พื้นที่สุขุมวิทรอบนอก เริ่มมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
อัตราการเข้าพักเฉลี่ยรวมทุกพื้นที่ในปี 2550 ปรับลดลงจากปี 2549 มาอยู่ที่ 75% หรือลดลง 13% ซึ่งเป็นอัตราการเข้าพักเฉลี่ยที่ลดลงสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา โดยอัตราการเข้าพักเฉลี่ยรวมสูงสุดยังคงเป็นพื้นที่สุขุมวิท อยู่ที่ 82% และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยต่ำสุดคือ พื้นที่พญาไท อยู่ที่ 65% เนื่องมาจากความไม่แน่นอนทางการเมือง สภาพเศรษฐกิจชะลอตัว และนโยบายเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวของภาครัฐ ทำให้ชาวต่างชาติที่จะเข้ามาในประเทศไทยชะลอตัวลง เมื่อพิจารณาจำแนกอัตราการเข้าพักตามคุณภาพของโครงการ พบว่า โครงการเกรดเอมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยรวมทุกพื้นที่อยู่ที่ 83% ปรับลดลงจากปีก่อนหน้า 4% ถือว่ายังคงทรงตัวได้ดีในสภาวะปัจจุบัน โดยพื้นที่พญาไทมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยสูงสุด 91% และเป็นพื้นที่เดียวที่มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเนื่องจากโครงการในพื้นที่มีการปรับปรุงห้องพักใหม่ให้ดูดีขึ้น และมีอัตราค่าเช่าที่ต่ำกว่าพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) จึงทำให้ลูกค้าสนใจเข้าพักมากขึ้น สำหรับโครงการเกรดบีได้รับผลกระทบสถานการณ์ทางการเมืองและภาวะเศรษฐกิจมากกว่าโครงการเกรดเออย่างมาก อัตราการเข้าพักเฉลี่ยรวมทุกพื้นที่จึงปรับลดลงจากปีก่อนถึง 18% มาอยู่ที่ 68%
อัตราค่าเช่าห้องพักรายเดือนของโครงการเกรดเอเฉลี่ยรวมทุกพื้นที่อยู่ที่ 1,156 บาทต่อตารางเมตร ปรับขึ้น 81 บาทต่อตารางเมตร หรือสูงขึ้น 8% จากปี 2549 โดยพื้นที่เพลินจิต-ชิดลมยังคงมีอัตราค่าเช่าสูงสุดอยู่ที่ 1,287 บาทต่อตารางเมตร และเป็นพื้นที่ที่มีอัตราค่าเช่าสูงสุดตลอด 3 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2548 รองลงมาคือ พื้นที่สีลม-สาทร 1,150 บาทต่อตารางเมตร และพื้นที่สุขุมวิท 1,031 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับที่มากกว่า 1,000 บาทต่อตารางเมตร เป็นครั้งแรก
สำหรับอัตราค่าเช่าห้องพักรายเดือนของโครงการเกรดบีเฉลี่ยรวมทุกพื้นที่ทรงตัวในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 782 บาทต่อตารางเมตร ปรับลดลง 14 บาทต่อตารางเมตร หรือลดลงเพียง 2% จากปี 2549 ถือเป็นการปรับตามกลไกตลาดและสภาวะทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยพื้นที่สีลม-สาทร กลายเป็นพื้นที่ที่มีอัตราค่าเช่าสูงสุดอยู่ที่ 850 บาทต่อตารางเมตร รองลงมาคือ พื้นที่เพลินจิต-ชิดลม 814 บาทต่อตารางเมตร และพื้นที่สุขุมวิท 683 บาทต่อตารางเมตร
จากการสำรวจตลาดเซอร์วิส อพาร์ตเมนท์ในรอบครึ่งปีหลัง 2550 พบว่า อุปทานที่คาดว่าจะเข้ามาในปี 2551 จะทำให้ตลาดมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องหรือเพิ่มขึ้นเกือบ 21% หรือประมาณ 2,900 ยูนิต โดยเริ่มขยายไปสู่พื้นที่ชั้นกลางและพื้นที่ชั้นนอกมากขึ้น ซึ่งมีผลต่ออัตราการเข้าพักที่น่าจะมีเกณฑ์ปรับลดลง 3-5% ทั้งนี้โครงการเปิดใหม่จะใช้การบริหารงานจากเครือข่ายการบริหารจัดการโรงแรมในระดับนานาชาติหลายโครงการ ทำให้อัตราค่าเช่าเกรดเอน่าจะปรับขึ้น 5-7% ส่วนอัตราค่าเช่าเกรดบีน่าจะทรงตัวปรับเพิ่มลด 1-2% โดยประมาณ เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลต่องบประมาณสำหรับการพักอาศัยของลูกค้าชาวต่างชาติที่อาจจะลดลง ทำให้โครงการเกรดบียังคงราคาเดิมไว้ เพื่อรักษาฐานลูกค้า ขณะที่ปัจจัยภายนอกอย่างสถานการณ์ทางการเมืองและสภาพเศรษฐกิจก็ยังคงส่งผลกระทบกับตลาดเซอร์วิส อพาร์ตเมนท์ ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้นหรือตรงกันข้ามต่อไป หลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในต้นปี 2551
สรุปสถานการณ์ตลาดอาคารสำนักงาน
จากการสำรวจตลาดอาคารสำนักงานในรอบปี 2550 ในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล พบว่ามีอาคารสำนักงานทั้งสิ้นจำนวน 341 อาคาร โดยมีการเปิดตัวของอาคารสำนักงานใหม่ในช่วงปลายปี 2550 จำนวน 3 อาคาร ส่งผลทำให้พื้นที่อาคารสำนักงานโดยรวมเพิ่มขึ้นเป็น 7.062 ล้านตารางเมตร หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียง 0.8% จากปี 2549 ซึ่งเป็นไปตามการชะลอตัวของสภาพเศรษฐกิจ และคาดว่าอัตราการขยายตัวของอุปทานจะเห็นผลเด่นชัดในช่วงต้นปี 2551 จาก 2 อาคารขนาดใหญ่ในพื้นที่รัชดาภิเษกและพื้นที่พญาไท ทำให้พื้นที่อาคารสำนักงานให้เช่าเพิ่มขึ้น 156,000 ตารางเมตร และอาคารอื่นที่จะสามารถเปิดให้บริการใหม่อีก 4 อาคาร 129,000 ตารางเมตร ส่งผลให้พื้นที่อาคารสำนักงานในปี 2551 อยู่ที่ 7.347 ล้านตารางเมตร เพิ่มขึ้น 4%
อัตราการเช่าพื้นที่อาคารสำนักงานยังคงที่จากปี 2549 ในระดับ 89% หรือมีพื้นที่ถูกเช่า 6.286 ล้านตารางเมตร ถึงแม้ว่าอุปทานเข้าสู่ตลาดใหม่เพิ่มขึ้นแต่ระดับพื้นที่ว่างยังมีอัตราที่เท่าเดิม แสดงถึงความต้องการพื้นที่อาคารสำนักงานยังคงมีอยู่ แม้ในสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยพบว่า พื้นที่พหลโยธินมีอัตราการเช่าสูงสุด 96% รองลงมาคือพื้นที่นนทบุรีและพญาไท 94%, เพลินจิต-ชิดลม 92%, สีลม-สาทร 91%, รัชดาภิเษก 89%, สุขุมวิทรอบนอกและธนบุรี 88%, สุขุมวิท 85%, และพระราม 3 อัตราการเช่าต่ำสุดอยู่ที่ 63% หากเปรียบเทียบ 5 พื้นที่ที่มีอัตราเช่าสูงสุด พบว่า เป็นพื้นที่ชั้นกลางส่วนใหญ่ เพราะยังมีอาคารสำนักงานน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับอาคารสำนักงานในพื้นที่ชั้นใน
เมื่อเปรียบเทียบอัตราการเช่าสำนักงานเกรดเอและบี พบว่าอัตราการเช่าพื้นที่อาคารสำนักงานในพื้นที่ธุรกิจหลักยังเป็นไปด้วยดี โดยที่เกรดเอ มีอัตราการเช่าที่ 90% และอาคารสำนักงานเกรดบี มีอัตราการเช่า 87% เพิ่มขึ้น 3% และ 2% ตามลำดับจากปี 2549 โดยที่พื้นที่เพลินจิต-ชิดลมยังเป็นพื้นที่ที่ได้รับความสนใจจากนักธุรกิจอย่างมากตั้งแต่ปี 2548 โดยแนวโน้มของอาคารสำนักงานทั้งสองประเภทน่าจะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าพื้นที่ธุรกิจอื่นๆ เพราะยังเป็นแหล่งรวมของสิ่งอำนวยความสะดวกที่สนับสนุนนักธุรกิจสามารถประกอบกิจการได้อย่างดี
สำหรับค่าเช่าอาคารสำนักงานยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 471 บาทต่อตารางเมตร ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5% (23 บาทต่อตารางเมตร) จากปี 2549 สืบเนื่องมาจากสภาพโดยรวมของเศรษฐกิจชะลอตัวและอัตราเงินเฟ้อประจำปี โดยพื้นที่ที่มีค่าเช่าสูงสุดคือ พื้นที่เพลินจิต-ชิดลม 694 บาทต่อตารางเมตร รองลงมาได้แก่ พื้นที่สีลม-สาทร 584 บาทต่อตารางเมตร พื้นที่รัชดาภิเษก 502 บาทต่อตารางเมตร และพื้นที่สุขุมวิท 499 บาทต่อตารางเมตร ส่วนพื้นที่ที่มีการเพิ่มค่าเช่าสูงสุดได้แก่ พื้นที่ธนบุรี 24% (เพิ่มขึ้น 76 บาทต่อตารางเมตร) รองลงมาได้แก่ พื้นที่รัชดาภิเษก 12% (เพิ่มขึ้น 54 บาทต่อตารางเมตร) พื้นที่สุขุมวิทรอบนอก 8% (เพิ่มขึ้น 26 บาทต่อตารางเมตร) เนื่องมาจากการปรับปรุงพื้นที่ใหม่ของอาคารสำนักงาน และการขยายตัวจากพื้นที่ธุรกิจหลักมายังพื้นที่ชั้นกลางส่งผลให้ค่าเช่าพื้นที่เพิ่มขึ้น
เมื่อพิจารณาค่าเช่าพื้นที่อาคารสำนักงานเกรดเอ ในพื้นที่ธุรกิจหลัก พบว่า อัตราค่าเช่าเฉลี่ยของทั้ง 3 พื้นที่ อยู่ที่ 623 บาทต่อตารางเมตร เพิ่มขึ้น 5% (27 บาทต่อตารางเมตร) โดยที่พื้นที่สีลม-สาทรมีอัตราการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 7% (42 บาทต่อตารางเมตร) รองลงมาพื้นที่เพลินจิต-ชิดลมเพิ่มขึ้น 5% (32 บาทต่อตารางเมตร) และพื้นที่สุขุมวิทเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1% (3 บาทต่อตารางเมตร) จะเห็นได้ว่าแนวโน้มค่าเช่าของอาคารสำนักงานเกรดเอมีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนอัตราค่าเช่าพื้นที่อาคารสำนักงานเกรดบี มีอัตราเฉลี่ยทั้ง 3 พื้นที่อยู่ที่ 477 บาทต่อตารางเมตร เพิ่มขึ้น 8% (35 บาทต่อตารางเมตร) ซึ่งเป็นผลจากพื้นที่เพลินจิต-ชิดลมมีอัตราการเพิ่มขึ้นมากที่สุด 15% (74 บาทต่อตารางเมตร) เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความต้องการสูง รองลงมาพื้นที่สีลม-สาทร 6% (25 บาทต่อตารางเมตร) และพื้นที่สุขุมวิท 2% (7 บาทต่อตารางเมตร)
ตลาดอาคารสำนักงานในปี 2550 อยู่ในสภาวะคงที่จากปี 2549 เป็นผลจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามในช่วงปี 2551 ตลาดอาคารสำนักงานน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากความชัดเจนของทิศทางเศรษฐกิจมากขึ้น ภายหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เพื่อสร้างความชัดเจนทางด้านการเมืองหลังการเลือกตั้งที่เพิ่งจบไปในปลายปี 2550 อีกทั้งระบบคมนาคมขนส่งที่คาดว่าจะแล้วเสร็จอีก 2 โครงการ คือ โครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า BTS ฝั่งธนบุรีช่วงสะพานตากสิน-แยกถนนตากสิน และโครงการรถไฟฟ้าไปยังสนามบินสุวรรณภูมิหรือแอร์พอร์ตเรลลิ้งก์ (Airport Rail Link) ที่มีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 2 ปีข้างหน้า ส่งผลให้เส้นทางการเดินทางเชื่อมต่อกันในแต่ละพื้นที่มีความสะดวกมากขึ้น จากแนวโน้มสภาพเศรษฐกิจโดยรวมน่าจะมีทิศทางสดใส ส่งผลต่อตลาดอาคารสำนักงานจะปรับตัวดีขึ้นระดับ 2.5% ต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า และอัตราค่าเช่าน่าจะปรับเพิ่มสูงขึ้นถึง 8-10% หรือประมาณ 508-518 บาทต่อตารางเมตร เพื่อรักษาอาคารให้อยู่ในสภาพดี พร้อมให้บริการ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันกับอาคารในพื้นที่เดียวกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ