รองฯ วิชาญ ลงพื้นที่จ.ระยอง เตรียมความพร้อม จนท.ประมงรักษามาตรฐานการตรวจเครื่องมือประมง 22 ชนิด เพื่อออกใบอนุญาตทำประมงพาณิชย์รอบปี 63-64

ข่าวทั่วไป Friday February 28, 2020 09:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--กรมประมง ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงอ่าวไทยฝั่งตะวันออก (ระยอง) ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง ลงพื้นที่จังหวัดระยองมอบนโยบายการดำเนินงานแก่เจ้าหน้าที่กรมประมงในพื้นที่จังหวัดชายทะเลภาคกลางและภาคตะวันออก จำนวน 75 นาย เพื่อซักซ้อมและสร้างความรู้ความเข้าใจหลักเกณฑ์ในการตรวจเครื่องมือประมงที่แจ้งความประสงค์ขอรับการตรวจเครื่องมือประมงก่อนออกทำการประมงครั้งแรก สำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์รอบปี การประมง 2563 - 2564 ตามมาตรฐานที่กรมประมงกำหนด ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ตามประกาศกรมประมง ลงวันที่ 17 มกราคม 2563 เรื่อง กำหนดห้วงเวลา หลักเกณฑ์ วิธีการ ขั้นตอนและเงื่อนไขการขอรับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์สำหรับ ปีการประมง 2563 – 2564 พ.ศ. 2563 ข้อที่ 5 ลำดับที่ 4 ได้กำหนดให้การออกใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์เครื่องมือที่ได้รับอนุญาตจะต้องผ่านการตรวจเครื่องมือประมงตามมาตรฐานที่กรมประมงกำหนดไว้เพื่อป้องกันมิให้เกิดการดัดแปลงหรือปรับปรุงเครื่องมือประมงทะเลให้ผิดไปจากมาตรฐานอันอาจจะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรสัตว์น้ำและระบบนิเวศได้ อีกทั้งเพื่อเป็นการชี้แนะชาวประมงมิให้ใช้เครื่องมือประมงผิดไปจากที่กรมประมงอนุญาตซึ่งมีความผิดและมีบทลงโทษที่รุนแรง โดยทางกองวิจัยและพัฒนาประมงทะเลได้จำแนกประเภทและชนิดของเครื่องมือประมงทะเลไว้ทั้งหมดจำนวน 10 ประเภท 21 ชนิด ประกอบด้วย 1)ประเภทอวนล้อมจับ ได้แก่ อวนล้อมจับ และอวนล้อมจับปลากะตัก 2)ประเภทอวนลาก ได้แก่ อวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่าง และอวนลากคู่ 3)ประเภทคราด ได้แก่ คราดหอยลาย คราดหอยแครง และคราดหอยอื่น 4)ประเภทอวนช้อน/อวนยกได้แก่ อวนช้อนปลาจาละเม็ด และอวนช้อน/ยกปลากะตัก 5) ประเภทอวนครอบ ได้แก่ อวนครอบหมึก และอวนครอบปลากะตัก 6)ประเภทอวนติดตา ได้แก่ อวนติดตา 7) ประเภทอวนรุน ได้แก่ อวนรุนเคย 8)ประเภทลอบ ได้แก่ ลอบปลา ลอบปู ลอบหมึก และลอบหมึกสาย 9)ประเภทเบ็ด ได้แก่ เบ็ดมือ และเบ็ดราว 10) ประเภทเครื่องมืออื่น ได้แก่ แผงยกปูจักจั่น และเครื่องมือช่วยทำการประมง 1 ชนิด ได้แก่ เรือประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เรือปั่นไฟ) ดังนั้นเพื่อสร้างการรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติในการตรวจมาตรฐานเครื่องมือประมงตลอดจนเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และข้อคิดเห็นต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ กรมประมงจึงได้กำหนดจัดการประชุม และ จัดกิจกรรม workshop ขึ้นเพื่อให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล สำหรับการซักซ้อมและสร้างความรู้ความเข้าใจหลักเกณฑ์ในการตรวจเครื่องมือประมงและบทบัญญัติทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้กับเจ้าหน้าที่กรมประมง กองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล กรมประมง ได้กำหนดจัดขึ้นทั้งหมดจำนวน 2 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 18 ก.พ.63 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยตอนกลาง (ชุมพร) และ ครั้งที่ 2 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 – 28 ก.พ.63 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงอ่าวไทยฝั่งตะวันออก (ระยอง) โดยผู้ที่รับใบอนุญาตฯ ทางกรมประมงจะเริ่มดำเนินการตรวจสอบเครื่องมือประมงระหว่างวันที่ 16 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป ทั้งนี้ หากเรือประมงของท่านไม่ผ่านการตรวจเครื่องมือประมงจะไม่สามารถออกทำการประมงได้ สำหรับขั้นตอนการตรวจสอบทางกรมฯ จะแบ่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มเรือประมงที่ต้องแจ้งเข้า-ออก (เรือมีขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอส) และเรือประมงที่ใช้เครื่องมือประมง 6 ชนิด คือ 1. อวนลากคู่ 2. อวนลากแผ่นตะเฆ่ 3. อวนลากคานถ่าง 4. อวนล้อมจับ 5.อวนล้อมจับปลากะตัก 6.อวนครอบปลากะตัก ที่มีขนาดตั้งแต่ 10 ตันกรอสขึ้นไปจะได้รับการนัดและตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ของ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้าแจ้งออก (PIPO) ในเขตพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล 2. กลุ่มเรือประมงที่ไม่ต้องแจ้งเข้า-ออก (เรือมีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส) ใช้เครื่องมือประมง 6 ชนิด คือ 1.อวนลากคู่ 2.อวนลากแผ่นตะเฆ่ 3.อวนลากคานถ่าง 4.อวนล้อมจับ 5.อวนล้อมจับกระตัก 6.อวนครอบปลากะตักและเรือที่มีขนาด 10-29.99 ตันกรอสที่ใช้เครื่องมือประมงชนิดอื่นนอกเหนือ 6 ชนิดเครื่องมือข้างต้น จะได้รับการนัดและตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลในเขตพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล นอกจากนี้ ทางกรมประมงได้จัดทำระบบตรวจสอบเครื่องมือทำการประมงขึ้น สำหรับใช้ในการตรวจเครื่องมือของเรือประมงที่ได้รับใบอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ โดยระบบดังกล่าวจะสามารถอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ในเรื่องของการลงนัดวัน เวลา และสถานที่ในการเข้าตรวจสอบเครื่องมือทำการประมง การบันทึกผลการตรวจสอบเครื่องมือทำการประมงเพื่อให้ข้อมูลจากการตรวจสอบมีความถูกต้องแม่นยำของมากยิ่งขึ้น การตรวจสอบเครื่องมือทำการประมงเป็นหนึ่งในมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำไม่ให้เกินค่าปริมาณสัตว์น้ำที่อนุญาตให้ใช้ประโยชน์ (TAC) ดังนั้นเรือประมงพาณิชย์ทุกลำที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมง รอบปีการประมง 63-64 จะต้องได้รับการตรวจสอบความถูกต้องของเครื่องมือประมงให้เป็นไปตามที่กรมประมงอนุญาตก่อนออกทำการประมง สำหรับท่านใดต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ กองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล โทร.02-561-0880

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ