กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--ก.ล.ต.
ก.ล.ต. เปิดประตูเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพสู่ตลาดทุนไทยด้วยเทคโนโลยี จัดงานสัมมนา “SEC FinTech for SMEs and Startup : Innovation for Financial Inclusion” สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านตลาดทุน พร้อมปลดล็อคข้อจำกัด ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจและความสามารถในการแข่งขันในยุคดิจิทัล และเปิดพื้นที่เจรจาจับคู่ทางธุรกิจสร้างพันธมิตรต่อยอดการเติบโต
นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต. ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการพัฒนาเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน จึงจัดงานสัมมนา “SEC FinTech for SMEs and Startup : Innovation for Financial Inclusion” ขึ้น เพื่อสร้างการรับรู้ถึงนโยบายและการสนับสนุนของทางการ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านตลาดทุน การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจและปรับตัวให้เท่าทันกับเทคโนโลยี ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล รวมถึงการจับคู่ทางธุรกิจ (business matching) เพื่อให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้ในยุคดิจิทัลตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาตลาดทุนไทย
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวบรรยายในหัวข้อ “ก.ล.ต. เปิดประตู SMEs และ Startups สู่ตลาดทุนไทยด้วยเทคโนโลยี” ถึงความสำคัญของเอสเอ็มอีต่อระบบเศรษฐกิจไทยและบทบาทของ ก.ล.ต. ที่จะช่วย เปิดล็อก “ประตู 3 บาน” ได้แก่ การขาดช่องทางเข้าถึงเงินทุน การขาดข้อมูลเรื่องการระดมทุน และการขาดเครื่องมือพัฒนาและต่อยอดธุรกิจ ซึ่งเป็นข้อจำกัดทำให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพไม่สามารถเข้าถึงทุนในตลาดทุน ด้วย “กุญแจ 8 ดอก” ประกอบด้วย
(1) งานสัมมนา “SEC FinTech for SMEs and Startup” ที่ทำให้เห็นแนวทางการสนับสนุนเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพของหน่วยงานภาคตลาดทุน และยังเป็นครั้งแรกที่เปิดพื้นที่เจรจาจับคู่ทางธุรกิจเพื่อสร้างพันธมิตรระหว่างเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ และผู้ลงทุนที่มีศักยภาพ
(2) จัดทำแพลตฟอร์มสนับสนุนการระดมทุนสำหรับเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ โดยในระยะแรกจะเป็นการให้ข้อมูล สื่อสาร ประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ รวมถึงความรู้เกี่ยวกับการระดมทุนได้ง่าย และในระยะต่อไปอาจขยายการดำเนินการไปในส่วนอื่น ๆ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ เช่น การจับคู่ทางธุรกิจ การพัฒนาความรู้ชั้นสูงเพื่อเพิ่มทักษะผู้ประกอบการ นอกจากนี้ จะส่งเสริมให้เกิดเครื่องมือที่ช่วยบริหารและจัดการแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (shared technology solution service) เช่น โปรแกรมระบบบัญชี ระบบภาษี เพื่อยกระดับมาตรฐานการประกอบธุรกิจ ให้สามารถต่อยอดในตลาดทุนหรือเข้าถึงแหล่งเงินทุนช่องทางอื่น ๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น
(3) เปิดช่องทางให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนด้วยการออกหลักทรัพย์ ที่เหมาะสมกับบริบทตามขนาดของกิจการและความต้องการทุน
(4) ทบทวนกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์ผ่านระบบคราวด์ฟันดิง เพื่อสร้างความชัดเจนให้กับ ผู้ประกอบธุรกิจในระบบคราวด์ฟันดิง และเพิ่มทางเลือกในการระดมทุน
(5) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของตลาดทุนไทย โดยนำ Distributed Ledger Technology (DLT) มาประยุกต์ใช้ เพื่อรองรับกระบวนการสำหรับทุกผลิตภัณฑ์ รวมทั้งรองรับหลักทรัพย์ของเอสเอ็มอี
(6) ลงพื้นที่ให้ความรู้กับเอสเอ็มอีในภูมิภาค เพื่อแนะนำเครื่องมือการระดมทุน และการเตรียมตัวเข้าสู่ตลาดทุน รวมถึงการเปิดคลินิกให้คำแนะนำ ภายใต้โครงการ “การลงพื้นที่ให้ความรู้สู่ภูมิภาค” และการจัดสัมมนา
(7) จัดให้มี “24/7 Financial Clinic” เพื่อให้คำปรึกษาแก่ผู้สนใจโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งผู้ที่สนใจรับข้อมูลสามารถโทรศัพท์ไปยัง Help Center ของ ก.ล.ต. ที่เบอร์ 1207
(8) สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ และจัดตั้งคณะทำงานเสริมสร้างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กิจการเงินร่วมลงทุน นิติบุคคลร่วมลงทุน สู่ตลาดทุนไทย หรือ คณะทำงาน SME PE VC โดยบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอีก 13 แห่ง
ในงานสัมมนาครั้งนี้ยังมีการเสวนาหัวข้อ “การปลดล็อกศักยภาพ SMEs และ Startups ไทยให้เข้าถึงและแข่งขันได้ในยุคดิจิทัล” โดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มีบทบาทในตลาดทุนและการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หัวข้อ “อนาคตของการระดมทุน ทางเลือกใหม่ของ SMEs และ Startups” โดยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน ผู้ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิง และเอสเอ็มอีที่ระดมทุนผ่านหุ้นคราวด์ฟันดิงสำเร็จเป็นรายแรกของประเทศไทย หัวข้อ “ติดอาวุธ SMEs และ Startups ไทยด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี” และการบรรยายเรื่อง The Journey toward Digital Era โดยผู้บริหารบริษัทสตาร์ทอัพชั้นนำ
รวมทั้งการจัดแสดงบูธนิทรรศการจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสนับสนุนเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพรวม 27 บูธ และภายในงาน ก.ล.ต. จัดให้มีการเจรจาจับคู่ทางธุรกิจประมาณ 15 ราย โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 500 คน เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 ณ สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ