กรุงเทพฯ--10 มี.ค.--รี้ด เทรดเด็กซ์
" สถาบันไทย-เยอรมัน " ประเมินแนวโน้มอุตฯแม่พิมพ์ปีนี้ขยายตัวแน่ 20% หลังมีการลงทุนโครงการ อีโคคาร์ พร้อมเร่งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผลิตสินค้าคุณภาพตอบสนองความต้องการตลาด/ลดนำเข้า เผยผู้ผลิตขนาดกลางมีความพร้อมยกระดับประสิทธิภาพมากที่สุด
ร.ศ. ณรงค์ วรงศ์เกรียงไกร ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน เผยถึงแนวโน้มของสถานการณ์อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ในปี 2551 ว่า ความต้องการใช้แม่พิมพ์ในปีนี้น่าจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น คาดว่าจะมีการขยายตัว ประมาณ 20% เนื่องจากปีนี้อุตสาหกรรมรถยนต์จะมีการขยายการลงทุนเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในส่วนของการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงาน (อีโคคาร์) ที่เริ่มจะมีการผลิตในปีนี้
ทั้งนี้ สำหรับมูลค่าตลาดรวมของแม่พิมพ์ในไทยนั้นในขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 50,000-60,000 ล้านบาทต่อปีโดยปัจจุบันไทยมีมูลค่าการผลิตแม่พิมพ์ในประเทศประมาณ 35,000 ล้านบาทต่อปี โดยในจำนวนมีการส่งออกประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปี ขณะเดียวกันมีการนำเข้าประมาณ 25,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งอุตสาหกรรมที่มีความต้องการใช้แม่พิมพ์ค่อนข้างมากในไทยนอกจากอุตสาหกรรมยานยนต์แล้วยังมีความต้องการจากกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ด้วย
สำหรับปีที่แล้ว ไทยมีการส่งออกแม่พิมพ์ประมาณ 5,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านั้นซึ่งอยู่ที่ประมาณ 5,100 ล้านบาท และมีการนำเข้าประมาณ 20,000 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ประมาณ 25,000 ล้านบาท โดยมองว่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นและการนำเข้าที่ลดลงในปีที่แล้วนั้น เกิดจากการที่สินค้าแม่พิมพ์ไทยมีศักยภาพมากขึ้น ขณะที่ในปีนี้ ประเมินว่าส่งออกจะลดลงและการนำเข้าจะเพิ่มขึ้นหลังความต้องการแม่พิมพ์ในประเทศมีค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตาม การนำเข้าแม่พิมพ์นั้นส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตสูงเป็นที่ต้องการของตลาดจำนวนมาก ดังนั้นทางสถาบันจึงยังคงดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ของไทยอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าแม่พิมพ์ของไทย เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด รวมถึงช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ของไทยได้มีการดำเนินการมาตั้งแต่ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
โดยในปีนี้ สถาบันมีแผนการอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ดังนี้ การผลักดันให้มีการสร้างการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการหรือคลัสเตอร์เพื่อสร้างความชำนาญเฉพาะด้านในเอกชนแต่ละราย การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถใช้เครื่องจักรที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพรวมถึงการเร่งพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งในช่วงกลางเดือนมิถุนายนนี้ จะมีการจัดงาน "อินเตอร์โมลด์ ไทยแลนด์ 2008" มหกรรมเครื่องจักรและเทคโนโลยี เพื่อการผลิตแม่พิมพ์ และการขึ้นรูป เพื่อนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆที่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดเป็นตัวอย่างให้ดู การสร้างระบบคำนวณต้นทุนให้มีมาตรฐานเพื่อไม่ให้เกิดการตัดราคาสินค้าจนทำให้เกิดความขาดทุน การทดสอบความสามารถของบุคลากรว่ามีความสามารถและความเชี่ยวชาญจริงหรือไม่
โดยกลุ่มผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเหมาะกับการพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตแม่พิมพ์ให้มีคุณภาพมากขึ้นนั้น มองว่ากลุ่มผู้ประกอบการกิจการขนาดกลางมีความพร้อมในการดำเนินการดังกล่าว อย่างไรก็ตามในขณะนี้ไทยมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ประมาณ 1,500-2,000 ราย โดยเป็นผู้ประกอบการกิจการขนาดเล็กประมาณ 80% ผู้ประกอบการกิจการขนาดกลางประมาณ 15% อีก 5 % เป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่รวมถึงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
โดยสถาบันฯ ได้รวบรวม กลุ่มผู้ผลิตแม่พิมพ์หลักของไทย กว่า 50 ราย เน้น กลุ่ม SME มานำเสนอแม่พิมพ์ และ การขึ้นรูป TGI MOLD MAKER PAVILLION ซึ่งเป็นส่วนแสดงพิเศษในงาน อินเตอร์โมล์ด ไทยแลนด์ 2008 งานแสดงเครื่องจักรและเทคโนโลยี เพื่อการผลิตแม่พิมพ์ และการขึ้นรูป ระหว่าง วันที่ 19 - 21 มิถุนายน 2008 ณ ไบเทค บางนา