กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
นายคณนาถ หมื่นหนู โฆษกกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาชี้แจงการจัดการปัญหาทัวร์และตั๋วเครื่องบินในสถานการณ์โควิด 19 จากการที่ผู้บริโภคหลายรายมีปัญหาเกี่ยวกับการเลื่อนหรือยกเลิกทัวร์ รวมถึงบัตรโดยสารเครื่องบินที่จะเดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยงโควิด -19 โดยปัญหาดังกล่าวมีทั้งกรณีที่ผู้เสียหายติดต่อกับสายการบินหรือบริษัททัวร์โดยตรง และกรณีที่ติดต่อซื้อตั๋วเครื่องบินรวมทั้งจองที่พักผ่านบริษัท เอเจนซี่ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้แถลงความคืบหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด- 19) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 ว่าประเทศที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและควรงดเดินทางในช่วงนี้เด็ดขาด ประกอบด้วย จีน ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อิตาลี อิหร่าน ซึ่งกลุ่มนี้เป็นประเทศที่มีการระบาดของเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศอย่างชัดเจน ทำให้นักท่องเที่ยวที่ซื้อรายการนำเที่ยวไว้ก่อนแล้วเกิดความวิตกกังวลและประสงค์ที่จะงดการเดินทางไปท่องเที่ยวยังต่างประเทศจึงได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อกรมการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับการเรียกร้องขอเงินค่าบริการ นำเที่ยวคืนจากผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว หรือขอเลื่อนการเดินทาง เนื่องจากนักท่องเที่ยว ไม่ประสงค์จะออกเดินทางไปยังต่างประเทศที่มีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) อาทิ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศจอร์เจีย และอีกหลายประเทศ แต่ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวปฏิเสธไม่คืนเงินค่าบริการนำเที่ยว หรือคืนค่าบริการนำเที่ยวให้บางส่วน เป็นเหตุให้เกิดความไม่พอใจแก่นักท่องเที่ยว หรือไม่ให้นักท่องเที่ยวเลื่อนการเดินทาง โดยอ้างว่าผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวมีค่าใช้จ่าย ในการบริการนำเที่ยวต่างๆ โดยเฉพาะตั๋วโดยสารเครื่องบิน ซึ่งสายการบินมีเงื่อนไขต่างๆ ที่ไม่อาจคืนเงิน ค่าบัตรโดยสารเครื่องบินให้ได้ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นลูกโซ่
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยกรมการท่องเที่ยวได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้กับนักท่องเที่ยวทราบถึงหลักเกณฑ์การขอรับเงินคืนจากผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวในกรณีไม่ประสงค์จะเดินทางโดยก่อนหน้านั้นได้มีการจัดประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการท่องเที่ยว กรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 ณ กรมการท่องเที่ยว เพื่อเป็นการระดมความเห็นในการช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้กับนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย กรมการกงสุล กรมท่าอากาศยาน กรมควบคุมโรค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) และตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว ทั้งนี้ บริษัท สายการบิน นกสกู๊ต จำกัด บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด บริษัท ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จำกัด และบริษัท สายการบินญี่ปุ่น จำกัด (มหาชน) ได้รับหนังสือเชิญ แต่ไม่ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม โดยได้มีมาตรการ/แนวทาง ในการแก้ไขปัญหาจากผลการประชุม แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน และระยะปานกลาง ดังนี้
ระยะเร่งด่วน
(1) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จะพิจารณามีมาตรการในการผ่อนผัน กรณีมีการขอเลื่อนกำหนดการบิน สามารถเลื่อนได้ไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2563 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่หากนักท่องเที่ยวหรือบริษัททัวร์มีความจำเป็นต้องเลื่อนต่อไปอีก จะเลื่อนได้ไม่เกินวันที่ 15 ธันวาคม 2563 และจะต้องพิจารณาว่า เป็นการเลื่อนในเส้นทางเดียวกันหรือไม่ หากเปลี่ยนเส้นทางอาจมีค่าใช้จ่ายส่วนต่างเพิ่ม
(2) บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ได้แบ่งกลุ่มบัตรโดยสารเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มบัตรโดยสารแบบซีรีย์ ซึ่งบริษัททัวร์ได้วางมัดจำบัตรโดยสารเครื่องบินตลอดทั้งปี (แบบระยะยาว) ในเส้นทางญี่ปุ่น ทางสายการบินนกแอร์จะพิจารณามาตรการยกเลิกค่าธรรมเนียมให้ แต่ยังคงเก็บค่าส่วนต่างที่เกิดขึ้น และกลุ่มบัตรโดยสารแบบกลุ่ม สามารถนำไปใช้ในภายหลังได้ (ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี) เพื่อให้บริษัททัวร์ มีระยะเวลาและความคล่องตัวในการจัดการธุรกิจ รวมถึงนักท่องเที่ยวจะได้มีทางเลือกในการเดินทางและได้รับเงินคืนจากบริษัททัวร์มากที่สุด
(3) กรมท่าอากาศยาน จะพิจารณาเสนอมาตรการในการปรับลดค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยานแก่สายการบินในช่วงภาวะวิกฤตนี้ รวมถึงจะเสนอให้ปรับลดค่าเช่าของผู้ประกอบการรถเช่าที่ใช้พื้นที่ของสนามบิน เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ
(4) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยกรมการท่องเที่ยวจะตั้งศูนย์ประสานการแก้ไขปัญหาร่วมกับกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยว กรณีนักท่องเที่ยวเรียกร้องขอเงินค่าบริการนำเที่ยวคืนจากบริษัททัวร์ ซึ่งจะกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 รวมทั้งดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างนักท่องเที่ยว บริษัททัวร์ และสายการบิน ให้สามารถตกลงเจรจาหาข้อยุติในส่วนค่าเสียหายกันได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรมทุกฝ่ายระยะปานกลาง
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะทบทวนกฎระเบียบและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มเติมรายละเอียดการประกันภัยแก่นักท่องเที่ยวมากขึ้น โดยให้คุ้มครองการยกเลิกการเดินทางท่องเที่ยวเนื่องจากกรณีภาวะวิกฤตต่าง ๆ รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับความคุ้มครองและลดความเสียหายต่อทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ดีขึ้น กรมการท่องเที่ยวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมหารือแนวทาง เพื่อเยียวยาและแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มผู้ประกอบการต่อไปนอกจากนี้ยังมีมาตรการในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อเข้าสู่ประเทศไทย โดยกรมการท่องเที่ยวจะขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวในการงดการจำหน่ายรายการนำเที่ยวไปยังต่างประเทศ (Outbound) ในช่วงเวลานี้ และกรมการท่องเที่ยวจะเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่ได้ขายรายการนำเที่ยวไปยังต่างประเทศในช่วงเวลานี้กับนักท่องเที่ยวที่ได้ซื้อรายการนำเที่ยวดังกล่าว เพื่อเลื่อนกำหนดการเดินทางไปท่องเที่ยวภายหลังจากที่ เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ยุติการระบาด นักท่องเที่ยวและผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวสามารถเข้าถึงข้อมูลหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการ ขอรับเงินคืนจากผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวในกรณีไม่ประสงค์จะเดินทางท่องเที่ยวทางสื่อต่างๆ ของกรมการท่องเที่ยว หรือติดต่อสอบถามทางหมายเลขโทรศัพท์ 0 2219 4010- 7 ทั้งนี้ขอชี้แจงว่า ในเรื่องของการจำหน่ายตั๋วโดยสารเครื่องบินและการจองที่พัก ไม่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์