กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
ก.แรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมผู้ตรวจการแผ่นดิน ฝึกอาชีพให้นักเรียนหลังจบม. 3 แล้วไม่ศึกษาต่อ เมษายนนี้เปิดฝึกอบรมพร้อมกันทั่วประเทศ
นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน มอบหมายให้นายสุทธิพงษ์ โกศลวิริยะกิจ ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้การต้อนรับนายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธานเปิดโครงการ เปิดบ้านสาธิตงานอาชีพ เนื่องในโอกาสครบรอบ 27 ปี การก่อตั้งสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 5 นครราชสีมา ภายใต้โครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนของจังหวัดนครราชสีมา ที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 5 นครราชสีมา
นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน มีจำนวนนักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจนเป็นจำนวนมาก ซึ่งในแต่ละปี นักเรียนเหล่านี้ได้เข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะ “แรงงานไร้ฝีมือ” ซึ่งหากได้มีการบูรณาการช่วยเหลือเพิ่มทักษะด้านอาชีพให้แก่นักเรียนกลุ่มดังกล่าวหลังจบการศึกษาภาคบังคับแล้ว จะช่วยให้นักเรียนเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะ “แรงงานมีฝีมือ” อันจะทำให้มีรายได้ ค่าจ้างที่สูงขึ้น สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจึงบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน ประกอบด้วยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและกรมการจัดหางาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อขับเคลื่อนการฝึกทักษะให้กับกลุ่มนักเรียนดังกล่าว และการลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาในครั้งนี้ เพื่อดูความต้องการของนักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อว่าสนใจฝึกทักษะด้านไหน ความพร้อมของหน่วยฝึกอบรม นอกจากนี้ ยังร่วมกันหารือเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มนี้ในด้านอื่นๆ กรณีที่ไม่สามารถเข้าฝึกในหลักสูตรเตรียมเข้าทำงานของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 5 นครราชสีมา (สพร.5 นครราชสีมา) ได้ทั้งหมด รวมถึงการจัดหางบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ด้วย
ด้านนายสุทธิพงษ์ โกศลวิริยะกิจ ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สพร.5 นครราชสีมา ได้จัดโครงการเปิดบ้านสาธิตงานอาชีพ เพื่อให้นักเรียนสามารถตัดสินใจเลือกอบรมสาขาอาชีพที่ตนเองสนใจ ได้แก่ การสาธิตอาชีพพื้นฐาน อาทิ ช่างไฟฟ้า ช่างเครื่องปรับอากาศ ช่างซ่อมเครื่องยนต์ สาธิตอาชีพแห่งอนาคต อาทิ ชุดควบคุมอัตโนมัติอุตสาหกรรม ระบบการผลิตอัตโนมัติ การขึ้นรูปชิ้นงาน 3D และสาธิตอาชีพอิสระ เช่น การทำขนมไทย การประกอบอาหาร และศิลปะประดิษฐ์จากเศษวัสดุเหลือใช้ เป็นต้น ซึ่งกพร.จะดำเนินการฝึกอบรมในหลักสูตรเตรียมเข้าทำงาน มีระยะเวลาการฝึก 2-4 เดือน และส่งไปฝึกงานในสถานประกอบกิจการอีก 1-2 เดือน ขึ้นอยู่กับสาขาอาชีพที่ฝึก โดยในวันนี้มีนักเรียนและคณะครู อาจารย์ เข้าชมงานกว่า 200 คน และจะเริ่มดำเนินการฝึกอาชีพพร้อมกันทั่วประเทศ ในหน่วยงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เดือนเมษายนนี้
จากการสำรวจของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดนครราชสีมาพบว่า ในปี 2563 จะมีนักเรียนจบทั้งสิ้น ประมาณ 28,200 คน มีนักเรียนสนใจเข้าฝึกทักษะอาชีพจำนวน 245 คน ส่วนอีก 27,955 คน จะไปศึกษาต่อและไปประกอบอาชีพ