กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--อินฟอร์มา มาร์เก็ต
ประเทศไทย เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศทั่วโลก ที่ถือว่าเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยาของภูมิภาค ได้เป็นประเทศผู้จัดงาน CPhI South East Asia 2019 เทียบชั้นกับผู้จัด CPhI หลายประเทศชั้นนำ อย่าง จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ อาหรับเอมิเรตส์ อเมริกา อิตาลี โดยงานนี้เป็นงานแสดงสินค้า เทคโนโลยี และการประชุมอุตสาหกรรมผลิตยาครบวงจร ครอบคลุมทั้งส่วนผสมและสารออกฤทธิ์สำหรับการผลิตยา ผลิตภัณฑ์ยาสำเร็จรูป เครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิตยา การบริการว่าจ้างผลิตยา บรรจุภัณฑ์และการขนส่งยา ตลอดจนนวัตกรรมสารสกัดจากธรรมชาติและสมุนไพร โดยจะถูกจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 1-3 กรกฎาคม 2563 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพค เมืองทองธานี มีบูธแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์กว่า 280 ราย จาก 20 ประเทศทั่วโลก
เพื่อเป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยาในอาเซียนของไทย อินฟอร์มา มาร์เก็ต ในฐานะผู้จัดงาน จึงได้เชิญบุคคลสำคัญในอุตสาหกรรม ทั้งภาครัฐ เอกชน รัฐวิสาหกิจ มาร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยถึงทิศทางอุตสาหกรรมยา โดยสามารถสรุปเป็น 5 ปัจจัยที่จะมาเขย่าวงการยาให้เติบโต ได้แก่
สิทธิบัตรยาเปิดช่องผลิตยา ใช้ในประเทศ-ส่งออกเติบโต
ดร.ภญ.มุกดาวรรณ ประกอบไวทยกิจ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า มูลค่าอุตสาหกรรมยาในประเทศไทย ที่มีกว่า 1.8 แสนล้านบาท จากมูลค่านี้หากคิดเป็นสัดส่วนแล้ว ไทยเรายังต้องพึ่งพาการนำเข้าถึง 75% ขณะที่การผลิตในประเทศยังมีเพียง 25% จึงเป็นโอกาสที่อุตสาหกรรมการผลิตยาในประเทศจะยังเติบโตได้อีกมาก ขณะที่ รชฎ ถกลศรี กรรมการผู้จัดการ บ. ไบโอแลป กล่าวว่า “ปัจจุบันยาต่างประเทศที่หมดระยะเวลาคุ้มครองตามสิทธิบัตร มีจำนวนมากกว่าเมื่อหลายสิบปีก่อน ทำให้ผู้ผลิตในประเทศไทยสามารถผลิตยาได้หลายตัวยามากขึ้น ทดแทนการนำได้เข้าอีกมาก นอกจากนี้ยาที่ผลิตในประเทศไทยก็ยังได้รับความเชื่อถือจากเภสัชกร หมอ ผู้ป่วย ผู้ใช้ยา ในประเทศเพื่อนบ้านและหลายประเทศในภูมิภาค เป็นผลจากการที่ในอุตสาหกรรมเราช่วยกันควบคุมคุณภาพการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง จุดนี้ก็เป็นโอกาสในการส่งออกยา”
สังคมสูงวัยดันผลิตยาพุ่ง-แพ็คเกจจิ้งปรับตาม
การก้าวสู่สังคมสูงวัยของไทยก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ ที่ส่งผลให้มีความต้องการใช้ยาเพิ่มมากขึ้น และไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมผลิตยาเท่านั้นที่เติบโต แต่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอย่างแพ็คเกจจิ้งก็ได้รับอานิสงส์จากตรงนี้ด้วย ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เล่าว่า “แน่นอนว่าการมาถึงของสังคมผู้สูงวัย ย่อมนำมาสู่การเติบโตของแพ็คเกจจิ้ง ทั้งในแง่การออกแบบ อย่างที่เราทราบกันดีว่าฉลากยามักจะมีตัวหนังสือที่เล็กมาก อาจต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ฉลากเฟรนด์ลี่กับผู้สูงวัยมากขึ้น รวมไปจนถึงการดีไซน์ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม และทำให้มีการใช้ยาได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น ในแง่การผลิตก็จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ยา ทางสถาบันเราเองก็มีศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย ที่คอยให้คำแนะนำและการสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการในด้านนี้โดยเฉพาะ”
เทรนด์วิถีธรรมชาติ เปิดทางสารสกัด-สมุนไพรไทย
รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผอ.กลุ่มโครงการ ภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ต ประเทศไทย กล่าวว่า
“งาน CPhI South East Asia 2020 ปีนี้มีการขยายพื้นที่การจัดงานขึ้นถึง 40% เพื่อรองรับการเติบโตของกลุ่มอุตสาหกรรมสารสกัดธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งที่เป็นสมุนไพร และผลผลิตทางการเกษตร โดยในกลุ่มยาสมุนไพรที่รองรับทั้งการบริโภคในประเทศและการส่งออก ก็คาดว่าน่าจะโตได้ถึง 20,000 ล้านบาทในปีนี้ ซึ่งในต่างประเทศโดยเฉพาะในยุโรป การใช้ยาที่มาจากธรรมชาติกลายมาเป็นเทรนด์สุขภาพที่มาแรง หลายประเทศขายยาสมุนไพรแพงกว่ายาแผนปัจจุบันเสียอีก”
ขณะที่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เอง ก็ให้ความสำคัญอย่างมากกับการสร้างงานวิจัยนำสมุนไพรมาใช้ทดแทนหรือใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบัน โดยใช้ในลักษณะที่เป็นสารสกัดหรือใช้สารสำคัญ หากสมุนไพรไทยพิสูจน์ได้ว่าสามารถรักษาโรคได้เทียบเท่ากับยาแผนปัจจุบัน และไม่เป็นพิษหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ก็ย่อมเป็นทางเลือกที่ดีของผู้ป่วยทั่วโลก
กลไกรัฐออกฤทธิ์ ดันสมุนไพรไทยเต็มเหนี่ยว
นพ.สรรพงษ์ ฤทธิรักษา รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “พรบ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดโครงสร้างหน่วยงานและกระบวนการต่างๆขึ้นมารองรับการเติบโตของผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร เช่น กองผลิตภัณฑ์สมุนไพร คณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ คณะกรรมการผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือการขึ้นทะเบียนยาสมุนไพรที่มีความก้าวหน้าขึ้นมาก อย่างเช่นปัจจุบันเรามีตำรับอ้างอิงอยู่ราว 100 ตำรับ ที่ผู้ประกอบการสามารถใช้วิธีการจดแจ้ง โดยการระบุรายละเอียดส่วนผสมในยา เพื่อขึ้นทะเบียนยาที่ไม่อันตราย เช่น ยาหม่อง ยาหอม ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น”
รัฐเห็นโอกาส หนุนเทคฯชีวภาพ-เพิ่มสปีดกระบวนการ
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ยังเสริมว่าทางสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ก็สนองนโยบายรัฐบาล ที่เห็นโอกาสว่าเทคโนโลยีชีวภาพจะกลายมาเป็นแต้มต่อสำคัญของธุรกิจในการแข่งขันทางการค้ากับประเทศอื่นๆ วว. ให้บริการแก่ผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่เพาะปลูกไปจนถึงการหีบห่อ เช่น การส่งเสริมการเกษตรแบบไร้สารพิษ รองรับการค้นคว้าวิจัย การทดสอบต่างๆ รวมไปจนถึงควบคุมคุณภาพ เพื่อลดภาระต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ งานวิจัยของทางสถาบันเป็นล้วนแต่เป็นเทคโนโลยีใหม่ๆที่พร้อมไปสู่การผลิตในเชิงพานิชย์ ผู้ประกอบการสามารถเข้ามาบ่มเพาะไอเดีย ไปจนพัฒนาขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบได้ที่นี่
ขณะที่ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ก็เสริมว่า “การมีนโยบายรัฐที่ชัดเจน ทำให้มีการส่งเสริมกระบวนการขออนุญาตต่างๆรวดเร็วขึ้น เช่น การจดทะเบียนยา มีการใช้กฎหมายใหม่ๆที่ทันสมัยมากขึ้น ในอนาคตก็จะมีการรวมหน่วยงานตรวจสอบทางจริยธรรมของโรงพยาบาลต่างๆ ให้รวมเป็นศูนย์เดียว เพื่อรองรับการขออนุญาตเพื่อการวิจัยที่สะดวกรวดเร็ว มีมาตรฐานและตรวจสอบง่ายขึ้น”