กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--PwC ประเทศไทย
PwC เผยธุรกิจทั่วโลกมีการพึ่งพาธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพมากกว่าที่คาด โดยคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 44 ล้านล้านดอลลาร์ หรือมากกว่าครึ่งของจีดีพีโลก ชี้กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง-เกษตร-อาหารและเครื่องดื่มเป็น 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการพึ่งพาธรรมชาติมากที่สุด โดยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกันคิดเป็น 2 เท่าของขนาดเศรษฐกิจของเยอรมนี แนะทุกภาคส่วนเร่งปกป้องและฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติเพื่อลดความเสี่ยงที่รุนแรง หลังข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พบ 25% ของพันธุ์พืชและสัตว์ถูกคุกคามจากการกระทำของมนุษย์ โดยมีกว่าล้านสายพันธุ์ที่กำลังเผชิญกับการสูญพันธุ์ และอีกจำนวนมากคาดสูญพันธุ์ในทศวรรษนี้
นาย ศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงานเศรษฐกิจธรรมชาติใหม่ หรือ The New Nature Economy Report ที่สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ร่วมกับ PwC ประเทศสหราชอาณาจักร จัดทำขึ้นเพื่อวิเคราะห์กลุ่มอุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานจำนวนทั้งสิ้น 163 กลุ่มพบว่า ธุรกิจทั่วโลกมีการพึ่งพาธรรมชาติมากกว่าที่คาด โดยคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจถึงราว 44 ล้านล้านดอลลาร์ หรือมากกว่า 50% ของจีดีพีโลกมาจากธุรกิจที่มีการพึ่งพาธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพในระดับปานกลางหรือระดับสูงมาก ขึ้นอยู่กับลักษณะของนิเวศบริการ โดยการผสมเกสรดอกไม้ คุณภาพน้ำ และการควบคุมโรคเป็น 3 ตัวอย่างบริการของระบบนิเวศที่ให้กับมนุษย์
ทั้งนี้ รายงานระบุว่า การพึ่งพาธรรมชาติที่อยู่ในระดับสูงดังกล่าว ส่งผลให้ธุรกิจมีความเสี่ยงเมื่อเกิดภัยพิบัติหรือการสูญเสียทางธรรมชาติ โดยอุตสาหกรรมก่อสร้าง (มูลค่า 4 ล้านล้านดอลลาร์) การเกษตร (มูลค่า 2.5 ล้านล้านดอลลาร์) และอาหารและเครื่องดื่ม (มูลค่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์) ถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุด 3 อันดับที่มีการพึ่งพาธรรมชาติมากที่สุด นอกจากนี้ เมื่อรวมมูลค่าทางเศรษฐกิจของทั้ง 3 อุตสาหกรรมเข้าด้วยกันแล้ว ยังมีขนาดใหญ่เป็น 2 เท่าของเศรษฐกิจเยอรมนี โดยอุตสาหกรรมเหล่านี้มีการสกัดทรัพยากรโดยตรงจากป่าไม้และมหาสมุทร หรือใช้ประโยชน์จากสินค้าและบริการของระบบนิเวศ เช่น ดินดี น้ำสะอาด การผสมเกสรดอกไม้ และสภาพภูมิอากาศที่ไม่แปรปรวน
หากสภาพธรรมชาติไม่อยู่ในภาวะที่เอื้อให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์จากนิเวศบริการดังกล่าวได้ ก็จะส่งผลให้การดำเนินงานของกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ต้องหยุดชะงัก โดย 15% ของจีดีพีโลก (หรือคิดเป็น 13 ล้านล้านดอลลาร์) ถูกขับเคลื่อนโดยอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติในระดับสูง ขณะที่ 37% ของจีดีพีโลก (หรือคิดเป็น 31 ล้านล้านดอลลาร์) ถูกขับเคลื่อนโดยอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติในระดับปานกลาง
รายงานยังพบว่า อุตสาหกรรมอีกจำนวนมากมี “การพึ่งพาธรรมชาติอย่างซ่อนเร้น” ในห่วงโซ่อุปทานและมีความเสี่ยงต่อการหยุดชะงักมากกว่าที่คาด เช่น 6 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มรวม (Gross Value Added: GVA) ของตนน้อยกว่า 15% ที่พึ่งพาธรรมชาติในระดับสูงมาก แต่มากกว่า 50% ของมูลค่าเพิ่มรวมของห่วงโซ่อุปทานกลับมีการพึ่งพาธรรมชาติในระดับปานกลางหรือระดับสูงมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมเคมีและวัสดุ การบิน การเดินทางและการท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ เหมืองและโลหะ ห่วงโซ่อุปทานและขนส่ง และ ค้าปลีก สินค้าอุปโภคบริโภคและไลฟ์สไตล์
หากพิจารณาในระดับโลก รายงานพบว่า เศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าของจีดีพีในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการพึ่งพาธรรมชาติสูงที่สุด ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน (2.7 ล้านล้านดอลลาร์) ตามด้วย สหภาพยุโรป (2.4 ล้านล้านดอลลาร์) และ สหรัฐอเมริกา (2.1 ล้านล้านดอลลาร์) นี่ยังสะท้อนให้เห็นว่า แม้แต่ภูมิภาคที่มีส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจต่อความเสี่ยงจากการสูญเสียทางธรรมชาติในระดับต่ำกว่า ก็สามารถสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีนัยสำคัญในระดับโลก ดังนั้น นี่จึงไม่ใช่เรื่องที่สามารถนิ่งนอนใจได้
“เราจำเป็นต้องกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติกันใหม่ เพราะความเสียหายทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องภายนอกอีกต่อไป รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า ความเสียหายทางธรรมชาติมีความสำคัญต่อธุรกิจทุกภาคส่วนและเป็นความเสี่ยงที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดยรวมในอนาคต” นาย โดมินิก วอห์เรย์ กรรมการผู้จัดการ สภาเศรษฐกิจโลก กล่าว
นางสาว ซีลีน เออร์เวเจอร์ หุ้นส่วนและหัวหน้าสายงานนวัตกรรมโลกและความยั่งยืน PwC ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า “ขนาดและความรุนแรงของความเสียหายทางธรรมชาติเป็นสัญญาณที่ทำให้ธุรกิจต้องตื่นและลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงก่อนที่จะสายเกินแก้ เพราะความเสี่ยงที่เราเห็นทั้งทางด้านกายภาพ กฎระเบียบและกฎหมาย การตลาด และชื่อเสียงชี้ให้เห็นว่า ภัยธรรมชาติต้องเป็นปัญหาสำคัญสำหรับการบริหารความเสี่ยงขององค์กร เรามีโอกาสในการช่วยสนับสนุนหน่วยงานกำกับดูแล ภาคธุรกิจ และนักลงทุนในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและธรรมชาติ ซึ่งทั้งคู่มีความเกี่ยวข้อง และสร้างความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจโลก สำหรับสภาพภูมิอากาศนั้น ผู้นำธุรกิจจำเป็นต้องระบุและลดความเสี่ยง ในขณะเดียวกันก็ต้องมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูธรรมชาติด้วย”
ด้านนาย อลัน โจป ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ยูนิลีเวอร์ กล่าวว่า “ความจำเป็นเร่งด่วนที่รายงานนี้ชี้ให้เห็นคือ เรากำลังตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤติจากการที่เราทุกคนต่างพึ่งพาและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างไม่เห็นคุณค่า ผู้นำธุรกิจและผู้นำภาครัฐยังมีเวลาที่จะดำเนินการตามผลจากการศึกษาของรายงานฉบับนี้ หากเราทำงานร่วมกันในการผลักดันอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 15 (COP 15) และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP 26) ก็น่าจะช่วยขับเคลื่อนให้ภาวะของโลกออกจากห้องฉุกเฉินไปอยู่ห้องพักฟื้นได้”
ส่วนนาย มาร์โค แลมเบอร์ตินี่ ผู้อำนวยการองค์กร WWF International กล่าวว่า “หากเราร่วมมือกัน เราสามารถทำให้ธรรมชาติกลายมาเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจโลกที่ดีได้ งานวิจัยนี้ให้หลักฐานสำคัญที่ชี้ว่า เศรษฐกิจของเรามีการพึ่งพาและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างมหาศาล ดังนั้น ธุรกิจต้องมีบทบาทที่สำคัญในการฟื้นฟูธรรมชาติที่สูญเสียไปโดยประยุกต์ใช้แนวทางปฏิบัติของการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ในส่วนของภาครัฐต้องมีการตัดสินใจที่แน่วแน่และนำข้อตกลงใหม่เพื่อธรรมชาติและผู้คนในปี 2563 มาใช้เพื่ออนาคตของเศรษฐกิจและสังคมของเรา”
ศักยภาพของเศรษฐกิจเชิงบวกต่อธรรมชาติ
ทั้งนี้ ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติสามารถถูกรวมอยู่ในแผนงานด้านการบริหารความเสี่ยงระดับองค์กร (Enterprise risk management) และกระบวนการ “อีเอสจี” หรือ สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) รวมทั้งการตัดสินใจลงทุน และรายงานทางการเงิน และ รายงานที่ไม่ใช่ทางการเงินที่องค์กรมีอยู่ โดยการใช้กรอบที่คล้ายคลึงกันในเรื่องความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมในการจัดหมวดหมู่ จะทำให้การบูรณาการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการตัดสินใจทางธุรกิจมากขึ้น
ปัจจุบัน ธุรกิจขนาดใหญ่หลายแห่งได้ใช้กรอบความร่วมมือที่เสนอโดยคณะทำงานด้านความมั่นคงทางการเงินในการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพอากาศเพื่อทำการระบุ วัดผล และจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนี่สามารถนำมาปรับและใช้ประโยชน์ในการจัดการความเสี่ยงทางธรรมชาติได้
นาย วอห์เรย์ กล่าวเสริมว่า “เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องทราบว่ายังมีหนทางข้างหน้า ภาคธุรกิจสามารถกำหนดทางเดินเฉพาะที่จะช่วยแก้ปัญหาเพื่อปรับปรุงผลลัพธ์จากการสูญเสียและความเสียหายตามธรรมชาติภายในทศวรรษนี้ได้ ด้วยการชะลอและหยุดการสูญเสียของความหลากหลายทางชีวภาพ จากนั้นช่วยกันฟื้นฟูธรรมชาติ โดยมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซธรรมชาติให้เหลือศูนย์ภายในช่วงกลางศตวรรษ ผ่านการใช้โซลูชั่นที่เป็นมิตรกับธรรมชาติเป็นพื้นฐาน นี่จะทำให้เกิดประโยชน์ร่วมกันต่อทั้งธรรมชาติ สภาพภูมิอากาศ ผู้คน และเศรษฐกิจ แต่เราต้องเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ตอนนี้”
ด้วยกระแสความต้องการความโปร่งใสและความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนทางธุรกิจสำหรับบริษัทที่ยังไม่ได้เริ่มผนวกธรรมชาติเข้ากับการดำเนินงานหลักขององค์กรเพิ่มสูงขึ้น โดยหากบริษัทไหนที่เพิกเฉยต่อประเด็นนี้ก็จะถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ตรงกันข้ามกับบริษัทที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง จะสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสใหม่ ๆ ได้
ทั้งนี้ รายงานฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ในการกระตุ้นให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในปี 2563 โดยมุ่งไปที่อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (UN Convention on Biological Diversity: CBD) และการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 15 (COP 15) ณ นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน และธุรกิจเพื่อการขับเคลื่อนธรรมชาติที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ UN CBD ยังได้เปิดตัวร่างกรอบความหลากหลายทางชีวภาพในช่วงหลังปี 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดเส้นทางเพื่อเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของสังคมกับความหลากหลายทางชีวภาพและการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างผาสุกภายในปี 2593
นาย ศิระ กล่าวสรุปว่า “จะเห็นได้ว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อระบบเศรษฐกิจ ธุรกิจ สังคม ชุมชน และประชาชนทั่วไปอย่างเรา ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ โลกต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ท้าทายหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อนที่ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศในทวีปแอนตาร์กติกา วิกฤตไฟป่าที่ออสเตรเลีย มลภาวะฝุ่นในกรุงเทพและปริมณฑล หรือแม้กระทั่ง การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่สร้างความท้าทายไม่น้อยไปกว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติ นี่เป็นแค่ตัวอย่างบางส่วนที่แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีสำนึกรับผิดชอบและการสร้างผลกระทบเชิงบวกอย่างยั่งยืน
“สำหรับประเทศไทย ในช่วงที่ผ่านมา เราเห็นสัญญาณที่ดีของการตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียน หลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยมีการจัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืน หรือ THSI เพื่อเป็นทางเลือกให้นักลงทุนได้ลงทุนในธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งดัชนี SETTHSI ที่แสดงความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นของบริษัทที่ดำเนินการตามหลักอีเอสจี ในส่วนของภาครัฐ ก็มีการส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ เอสดีจี ขององค์การสหประชาชาติ โดยยังบรรจุเป้าหมายนี้ไว้ในกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) รวมทั้งนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีการรณรงค์เพื่อลดและเลิกใช้ถุงพลาสติกของห้างสรรพสินค้า และร้านค้าต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเคลื่อนไหวเพื่อดูแลรักษาธรรมชาติและลดปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง แต่เราไม่ควรหยุดเพียงเท่านี้ เพราะยังมีสิ่งที่ต้องช่วยกันทำอีกมากในอนาคต ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือและจิตสำนึกจากทุกฝ่าย”