กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--กทม.
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (28 มกราคม 2548 เวลา 10.30 น.) นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหารกทม. ตรวจเยี่ยมการฝึกซ้อมเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยรถไฟฟ้าใต้ดิน โดยกำหนดสถานการณ์เหตุเพลิงไหม้อาคารสถานีลาดพร้าว ซึ่งเป็นการฝึกซ้อมร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรถไฟฟ้าใต้ดิน เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่หน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน และเจ้าหน้าที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.
การฝึกซ้อมในครั้งนี้จำลองการเดินทางโดยรถไฟฟ้าใต้ดินตามปกติ เมื่อเกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ที่สถานี มีผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บ เกิดขวัญเสีย และโกลาหล ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ เจ้าหน้าที่ทุกส่วนเข้าช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บและระงับเหตุ พร้อมกับประสานให้หน่วยงานต่างๆ เข้าควบคุมเพลิงไหม้ ซึ่งการฝึกซ้อมในครั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้บริการของรถไฟฟ้าใต้ดิน และเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องกับการระงับเหตุเพลิงไหม้เกิดความเชี่ยวชาญในการควบคุมสถานการณ์เมื่อเกิดเหตุขึ้น รวมถึงซักซ้อมการประสานงานระหว่างหน่วยกู้ภัยต่างๆ และหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน ให้เกิดการประสานงานกันอย่างมีประสิทธิภาพ และศึกษาปัญหาอุปสรรคในการประสานงานเพื่อนำมาเป็นแนวทางในการกำหนดแผนป้องกันและเผชิญภัยพิบัติของกรุงเทพมหานครต่อไป
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครจะผลักดันการจัดทำแผนป้องกันและเผชิญภัยพิบัติกรุงเทพมหานคร ให้แล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค. 48 เพื่อใช้เป็นแนวทางการประสานงานหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการร่วมปฏิบัติหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในกรุงเทพมหานคร และภายในเดือน เม.ย. 48 จะจัดตั้งสำนักงานศูนย์อุบัติภัยกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นจุดเชื่อมโยง ประสาน สั่งการ ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในกรุงเทพมหานคร
ซึ่งในการฝึกซ้อมในวันนี้ได้สั่งการให้แก้ไขจุดบกพร่องในเรื่องเวลาการมาถึงของหน่วยดับเพลิงสำนักป้องกันฯ ซึ่งใช้เวลาเกินมาตรฐาน และการสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่ของรถไฟฟ้าใต้ดินกับสำนักป้องกันฯ ให้รวดเร็ว รวมถึงประสิทธิภาพการรายงานสถานการณ์ในทันทีที่ผู้บริหารมาถึงที่เกิดเหตุด้วย
ส่วนความปลอดภัยในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (บีทีเอส) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ประสานให้ทางรถไฟฟ้าบีทีเอส ฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินกรณีรถไฟฟ้าตกราง หรือเกิดเพลิงไหม้ เพิ่มจากเดิมปีละ 1 ครั้ง เป็น ปีละ 2 ครั้ง โดยร่วมกับสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศูนย์กู้ชีพต่างๆ เพื่อให้พนักงานและผู้เกี่ยวข้องดำเนินการเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินได้อย่างเชี่ยวชาญ ไม่เกิดความเสียหายได้--จบ--