กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
รมช.มนัญญาสั่งกรมส่งเสริมสหกรณ์เร่งหาตลาดขยายช่องทางการจำหน่ายผลไม้ ช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด – 19 ระบาด คาดการส่งออกผลไม้ไปประเทศจีนชะงัก ส่งผลปริมาณผลผลิตกระจุกตัวในประเทศ เตรียมคลอดมาตรการบรรเทาความเดือดร้อน จัดหางบอุดหนุน 414.20 ล้านบาท ใช้บริหารจัดการผลผลิตในช่วงที่ออกมาพร้อมกันจำนวนมาก พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายสหกรณ์เร่งระบายผลผลิตสู่ตลาดและผู้บริโภคทั่วประเทศ
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า
จากสถานการณ์โรคไวรัสโควิด -19 แพร่ระบาดหนักในประเทศจีนและอีกหลายประเทศทั่วโลกในขณะนี้ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้า ไปยังประเทศจีน โดยเฉพาะผลไม้ ทั้งทุเรียน มังคุดและลำไย แต่ละปีทางประเทศจีนมีปริมาณการสั่งซื้อผลไม้เหล่านี้จากไทยจำนวนมาก ซึ่งจากข้อมูลการส่งออกผลไม้ย้อนหลัง 3 ปี (2560-2562) 3 ประเทศหลักที่สั่งซื้อผลไม้ของไทย ได้แต่ จีน ฮ่องกงและเวียดนาม รวม 1,324,637 ตัน ในจำนวนนี้ ส่งออกไปประเทศจีน จำนวน 570,833 ตัน ฮ่องกง 114,260 ตัน และเวียดนาม 639,545 ตัน
สำหรับ ปี 2563 คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีปริมาณผลไม้ออกสู่ตลาด รวม 3,072,591 ตัน โดยแบ่งเป็น ทุเรียน ลำไย มังคุด เงาะ ลองกองและลิ้นจี่ และเมื่อนำผลผลิต 3 ชนิดสำคัญ คือ ทุเรียน ลำไย มังคุดรวมกัน จะมีปริมาณมากกว่า 84 % ของปริมาณผลไม้ทั้งประเทศ ซึ่งหากไม่มีมาตรการรองรับ ผลผลิตที่ไม่สามารถส่งออกได้จะกระจุกตัวกลับมาสู่ตลาดในประเทศ ส่งผลทำให้ผลผลิตล้นตลาด ราคาตกต่ำและเกษตรกรประสบปัญหาขาดทุน ขณะเดียวกัน มีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ที่ดำเนินธุรกิจรวบรวมผลไม้ 104 แห่ง ใน 31 จังหวัด มีเกษตรกรเป็นสมาชิก 95,321 ราย ปริมาณการรวบรวมผลไม้ ในปี 2562 ที่ผ่านมา 32,242.53 ตัน มูลค่า 966.173 ล้านบาท และมีการส่งออกผลผลิตทุเรียน มังคุด และลำไย ไปประเทศจีน 12,251.16 ตัน มูลค่า 572.45 ล้านบาท
“ได้มอบให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ทำโครงการสนับสนุนการกระจายผลไม้ของสถาบันเกษตรกร เพื่อรองรับผลกระทบจากโรคไวรัสโควิด -19 เป็นมาตรการเร่งด่วน และเพื่อให้การระบายผลผลิตออกจากพื้นที่เป็นไปด้วยความรวดเร็ว ป้องกันปัญหาผลไม้กระจุกตัวและล้นตลาด บรรเทาปัญหาผลผลิตที่ออกมาพร้อมกันให้ออกสู่ผู้บริโภคได้รวดเร็ว โดยจะใช้เครือข่ายสหกรณ์ทั่วประเทศเพื่อเป็นช่องทางการกระจายสินค้า และส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ ตลอดจนเพื่อกระตุ้นกลไกตลาดให้ระบายผลไม้ในทุกพื้นที่และเข้าถึงผู้บริโภค ราคาเป็นธรรม โดยจะให้สหกรณ์ที่เป็นแหล่งผลิตผลไม้รวบรวมและกระจายผลผลิตส่งขายให้กับสหกรณ์ที่มีศูนย์กระจายสินค้าและสหกรณ์ขนาดใหญ่ทุกอำเภอทั่วประเทศ ช่วงระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน – กันยายน เบื้องต้นได้ตั้งเป้าหมายในการกระจายผลไม้ผ่านระบบสหกรณ์ ประมาณ 80,000 ตัน ใน 3 ชนิดที่สำคัญ แบ่งเป็น ทุเรียน 40,00 ตัน มังคุด 20,000 ตัน และลำไย 20,000 ตัน พร้อมทำบันทึกข้อตกลงซื้อขายผลไม้ระหว่างสหกรณ์กับคู่ค้าเอกชน ห้างโมเดิร์นเทรด และผู้ส่งออก รวมถึงตลาด อ.ต.ก. อีกด้วย” รมช.มนัญญา กล่าว
นอกจากนี้ จะขอเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเพื่อบริหารจัดการผลไม้ผ่านระบบสหกรณ์ วงเงิน 414.20 ล้านบาท โดยให้สหกรณ์ต้นทางใช้เป็นค่าบริหารจัดการผลไม้ กิโลกรัมละ 1 บาท ค่าขนส่ง จากแหล่งรวบรวมไปสหกรณ์ปลายทาง กิโลกรัมละ 2 บาท ค่าจัดซื้อบรรจุภัณฑ์ เช่น ตะกร้า กล่อง จำนวน 3.5 ล้านใบ และค่าบริหารจัดการของสหกรณ์ปลายทางเพื่อกระจายผลไม้สู่ผู้บริโภคในพื้นที่ กิโลกรัมละ 50 สตางค์ และจะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์บริโภคผลไม้ ในจังหวัดใหญ่ เช่น นครราชสีมา อุดรธานี ขอนแก่น อุบลราชธานี เชียงใหม่ สงขลา สุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ รวม 16 จังหวัดและระดับอำเภอ 824 อำเภอ และให้กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดสรรเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 1 ให้สหกรณ์กู้ยืมไปเป็นทุนหมุนเวียนในการรวบรวมผลไม้จากเกษตรกรในฤดูกาล ปี 2563
ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคไวรัสโควิด - 19 โดยการสนับสนุนการกระจายผลไม้ผ่านสถาบันเกษตรกรในช่วงฤดูกาลผลิต ปี 2563 จะช่วยรักษาเสถียรภาพราคาผลไม้ไม่ให้ตกต่ำ คิดเป็นมูลค่า 1,760 ล้านบาท และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่า 7,644.071 ล้านบาท หรือ 18.45 เท่าของการลงทุนจากภาครัฐ และในวันที่ 8 - 9 มีนาคมนี้ จะมีการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ผลไม้ในจังหวัดจันทบุรีพร้อมทั้งได้เชิญตัวแทนสหกรณ์/ กลุ่มเกษตรกรที่รวบรวมผลไม้ รับฟังการชี้แจงถึงมาตรการ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับปริมาณผลผลิตที่กำลังจะออกสู่ตลาด และจะมีการประชุมสร้างเครือข่ายเพื่อร่วมกันกระจายผลไม้ ระหว่างสหกรณ์ผู้ผลิตต้นทางกับสหกรณ์ผู้บริโภค กว่า 150 แห่งพร้อมทั้งทำบันทึกข้อตกลงซื้อขายผลไม้ระหว่างสหกรณ์ กับคู่ค้าเอกชน ทั้งห้างโมเดนเทรด บริษัทเอกชนและผู้ส่งออก โดยคาดหวังว่าการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคไวรัสโควิด – 19 ด้วยการสนับสนุนให้มีการกระจายผลไม้ผ่านเครือข่ายสหกรณ์จะช่วยบรรเทาปัญหาผลผลิตกระจุกตัวในช่วงที่ออกมาพร้อมกัน และมีช่องทางในการระบายผลผลิตออกสู่ตลาดและถึงผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วช่วยดูดซับผลผลิตในตลาด เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านราคาและยกระดับคุณภาพผลผลิตให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรมีช่องทางในการจำหน่ายผลผลิต เพื่อไม่ให้ผลไม้ราคาตกต่ำ และสามารถขายผลผลิตได้ในราคาเป็นธรรม