กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--วิเคราะห์ข่าว สํานักงานประชาสัมพันธ์
นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์พายุฤดูร้อน ที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 3 - 5 มี.ค. 63 ว่า กทม. โดยศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากเรดาร์ตรวจอากาศ ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงเตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำของ กทม. เพื่อรองรับสถานการณ์ฝนจากพายุฤดูร้อน โดยลดระดับน้ำในคลอง บ่อสูบ และแก้มลิงให้อยู่ในระดับต่ำ เร่งสูบน้ำในท่อและคลองด้วยเครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่ จัดหน่วย BEST ลงพื้นที่ตรวจสอบระบบระบายน้ำ จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม รื้อถอนสิ่งกีดขวางทางระบายน้ำ และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ
นอกจากนี้ ศูนย์ปฏิบัติการฯ ยังแจ้งให้ประชาชนได้ทราบถึงสถานการณ์ฝนตกหรือจุดที่มีปัญหาน้ำท่วม ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ Website http:// dds.bangkok.go.th Facebook : http://www.facebook.com/bkk.best Twitter: http://twitter.com/bkk_best/bkk best ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม กทม. Line ID : @bkk_best และแอปพลิเคชัน กทม. Connect ตลอด 24 ชั่วโมง
ขณะเดียวกันสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ยังได้เตรียมความพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ ยานพาหนะ ตลอดจนอุปกรณ์การดับเพลิงและกู้ภัยให้พร้อมช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย จากเหตุพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงได้ในทันที หากพบเหตุหรือต้องการความช่วยเหลือ สามารถโทรแจ้งได้ที่หมายเลข 199 ตลอด 24 ชั่วโมง
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนั้น สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ยังได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดูแล บำรุงรักษา ตรวจสอบสภาพต้นไม้ใหญ่ให้มีสภาพแข็งแรง มีทรงพุ่มที่สมดุล สางโปร่ง ลดทอนความสูง เพื่อลดแรงปะทะของลมและฝน รวมทั้งตรวจสอบวัสดุค้ำยันต้นไม้ใหญ่ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ แข็งแรง มีความมั่นคง ตลอดจนจัดอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานดูแลบำรุงรักษาต้นไม้ ทั้งสำนักสิ่งแวดล้อมและสำนักงานเขต เพื่อเพิ่มศักยภาพการตัดแต่งต้นไม้ในเมืองให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และในส่วนของสำนักการโยธา กทม. ได้แจ้งให้เจ้าของป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของป้ายเป็นประจำ หากพบความชำรุดหรืออาจไม่ปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของประชาชน ให้ดำเนินการรื้อถอน รวมทั้งดำเนินคดีกับป้ายที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ตลอดจนกำหนดแนวทางการตรวจสอบปั้นจั่นในการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร พร้อมแบบรายงานการตรวจสอบปั้นจั่นในการก่อสร้าง จำนวน 3 ประเภท คือ ปั้นจั่นหอสูง (Tower Crane) ปั้นจั่นเดอร์ริค (Derrick Crane) และรถปั้นจั่น (Mobile Crane) เพื่อใช้เป็นมาตรการลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุปั้นจั่นล้มในระหว่างปฏิบัติงาน อีกทั้งตรวจสอบปั้นจั่นในโครงการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคารร่วมกันระหว่าง กทม. และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกด้วย