กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่
บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAMMY ประกาศผลประกอบการประจำปี 2562 ด้วยผลกำไรสุทธิ 342 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 326 ล้านบาท พร้อมมีมติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเห็นชอบให้นำเสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 28 เมษายน 2563 อนุมัติจ่ายเงินปันผลเพิ่มในอัตราหุ้นละ 0.20 บาท คิดเป็นเงินประมาณ 164 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับที่จ่ายปันผลระหว่างกาลไปแล้วเมื่อเดือนกันยายน 2562 ในอัตราหุ้นละ 0.10 บาท หรือประมาณ 82 ล้านบาท หมายความว่า GRAMMY มีแผนเสนอขออนุมัติจ่ายเงินปันผลในอัตรา 90% ของกำไรสุทธิประจำปี 2562 หรือคิดเป็นหุ้นละ 0.30 บาท
ทั้งนี้การเสนอจ่ายเงินปันผลดังกล่าวจะต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 ในวันที่ 28 เมษายน 2563 โดย GRAMMY จะกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 และที่มีสิทธิในการรับเงินปันผลจากผลการดำเนินงานประจำปี 2562 (Record Date) ในวันที่ 19 มีนาคม 2563
นางสาวบุษบา ดาวเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม GRAMMY เปิดเผยว่า
“ในปี 2562 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสินค้า / บริการ และค่าลิขสิทธิ์ จำนวน 6,602 ล้านบาท ถึงแม้ว่าจะลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย แต่ความสามารถในการบริหารต้นทุนดีกว่าปีเก่ามาก โดยอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มจากร้อยละ 36 ในปีก่อน มาเป็นร้อยละ 39 ในปีนี้ ประกอบกับผลการดำเนินงานของบริษัทย่อย และกิจการร่วมค้ามีพัฒนาการที่ดีขึ้นเป็นลำดับ ร่วมกับการให้ความสำคัญของการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้ปีนี้ บริษัทฯ มีผลกำไรสูงถึง 342 ล้านบาท ในขณะที่ภาระหนี้สินของบริษัทก็ลดต่ำลงมาก ปัจจุบันมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเท่ากับ 0.24 เท่า ในการนี้ คณะกรรมการบริษัทจึงมีมติที่จะเสนอการจัดสรรผลกำไรเพื่อจ่ายเงินปันผลในอัตราเกือบ 90% ของกำไรสุทธิประจำปี เพื่อตอบแทนการลงทุนของผู้ถือหุ้นของบริษัท
สำหรับความสำเร็จของกลุ่ม GRAMMY ในปีที่ผ่านมา สรุปได้ดังนี้
ธุรกิจเพลง ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท ประกอบด้วยการจำหน่ายสินค้าเพลง, ดิจิทัลมิวสิค, การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์, ธุรกิจโชว์บิซ, ธุรกิจบริหารศิลปิน และธุรกิจโทรทัศน์ดาวเทียมฟรีทูแอร์ช่องแฟนทีวี รายได้รวมจากธุรกิจเพลงในปี 2562 เท่ากับ 4,014 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากปีก่อน และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 61 ของรายได้จากการขายสินค้า การให้บริการ และค่าลิขสิทธิ์ โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากการเติบโตของธุรกิจโชว์บิซ ธุรกิจดิจิทัลมิวสิค และธุรกิจการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ ในปี 2562 ที่ผ่านมา งานโชว์บิซของกลุ่มบริษัทฯ ได้เสียงตอบรับที่ดี เช่น “คอนเสิร์ต 2019 The Return of BBB #11 Restage”, “SINGING BIRD CONCERT BY REQUEST ตอน เพลงตามคำขอ”, “Peck Palitchoke Concert #2: Love in Space”, “POTATO Magic Hours Concert #มันคือเรื่องจริง” และ “Bodyslam Fest วิชาตัวเบา Live in ราชมังคลากีฬาสถาน” ที่สร้างปรากฏการณ์ขายบัตรคอนเสิร์ตหมดภายในวันแรกที่เปิดขายบัตร นอกจากนี้ยังมีเทศกาลดนตรีที่ได้รับความนิยม เช่น “Big Mountain Music Festival 2019” เทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และ”เชียงใหญ่เฟส” เทศกาลดนตรีภาคเหนือที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ในขณะที่รายได้จากธุรกิจดิจิทัลมิวสิคเพิ่มสูงขึ้นจากค่าลิขสิทธิ์คอนเทนต์และส่วนแบ่งรายได้จากแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ
ธุรกิจการร่วมค้า ประกอบด้วย
กลุ่มธุรกิจ เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องผ่านการสร้างสรรค์คอนเทนต์คุณภาพที่ตรงใจผู้ชม ประกอบกับกลยุทธ์การจัดวางผังรายการที่มีความหลากหลาย เพื่อก้าวสู่ความเป็น National Television เข้าถึงผู้ชมกลุ่มเป้าหมายได้อย่างทั่วถึง ตลอดปีที่ผ่านมา ละคร “ช่องวัน31” ได้รับการตอบรับที่ดีทั้งในแง่ของเรตติ้งและกระแสโซเชียล อาทิ ละครเรื่อง “หัวใจศิลา” , “ลูกกรุง” “ใบไม้ที่ปลิดปลิว” และ “My Ambulance รักฉุดใจ นายฉุกเฉิน” ขณะที่รายการข่าว และวาไรตี้ก็ได้รับความนิยมและสามารถสร้างเรตติ้งได้เช่นกัน
กลุ่มธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง ประกอบด้วยดิจิทัลทีวีช่องจีเอ็มเอ็ม25 ธุรกิจสื่อวิทยุและโชว์บิซ และธุรกิจผู้ผลิตคอนเทนต์ โดยในปีที่ผ่านมาช่องจีเอ็มเอ็ม 25 มีทั้งละครและซีรีส์ ที่ได้รับความนิยม ตัวอย่างเช่น “เมียน้อย” “แรงเทียน” และ “รักหมดใจ” ในขณะที่ธุรกิจวิทยุและโชว์บิซมีผลประกอบการที่ใกล้เคียงกับปีก่อน โดยในปี 2562 มีการจัดคอนเสิร์ตมากมาย เช่น “The Real Nadech Concert” “Cassette Festival” และ “J Adrenaline 360 Concert” เป็นต้น
ธุรกิจเทรดดิ้ง ประกอบด้วยธุรกิจซื้อขายสินค้าโฮม ช้อปปิ้งภายใต้ชื่อ “โอ ช้อปปิ้ง” และธุรกิจจัดจำหน่ายกล่องรับสัญญาณดาวเทียม “จีเอ็มเอ็ม แซท” โดยในปี 2562 ธุรกิจกล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียม “จีเอ็มเอ็ม แซท” มีรายได้เท่ากับ 280 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 16 จากปีก่อน ส่วนธุรกิจโฮมช้อปปิ้ง รายได้เท่ากับ 1,694 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 27 จากปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัวส่งผลให้มูลค่าตลาดโฮมช้อปปิ้งเติบโตน้อยกว่าปีที่ผ่านมา
ธุรกิจภาพยนตร์ ในปี 2562 มีภาพยนตร์เข้าฉาย 3 เรื่องคือ “Friend Zone…ระวังสิ้นสุดทางเพื่อน” “ตุ๊ดซี่ส์ แอนด์ เดอะเฟค” และ “ฮาวทูทิ้ง…ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ” มีรายได้ Box Office รวมเท่ากับ 289 ล้านบาท เมื่อรวมรายได้จากช่องทางอื่นแล้ว ส่งผลให้รายได้รวมทั้งหมดจากธุรกิจภาพยนตร์ในปีนี้เท่ากับ 465 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 11
กำไรขั้นต้นในปีนี้เท่ากับ 2,577 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากปี 2561 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39 ของรายได้รวมจากการขายสินค้า การให้บริการ และค่าลิขสิทธิ์ ในขณะที่ปีก่อนมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 36 ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ปีนี้เท่ากับ 2,118 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4 จากปีก่อนที่มีจำนวน 2,214 ล้านบาท เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายในการขายที่ลดลงถึงร้อยละ 19 จากปีก่อน ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริหารเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1 ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิในปี 2562 เท่ากับ 342 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 326 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 15 ล้านบาท