กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานแพร่
วันที่ 2 มีนาคม 2563 ที่สถาบันประชารัฐพิทักษ์ป่า อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ นางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่เป็นประธานนำคณะข้าราชการพลเรือน ข้าราชการตุลาการ ทหาร ตำรวจ รัฐวิสาหกิจ องค์กรต่างๆ ประกอบพิธีถวายราชสักการะ แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2563 เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร "พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย”
โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 กำหนดให้วันที่ 2 มีนาคมของทุกปีเป็น "วันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ” โดยกระทรวงแรงงาน ได้ถวายพระราชสมัญญานามว่า "พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย” แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และได้น้อมนำมาเป็นแรงดลใจให้ทุกภาคส่วนได้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีมาตรฐาน เพื่อพัฒนาคน เพื่อพัฒนาชาติ และได้ดำเนินการจัดงานวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติขึ้นในวันที่ 2 มีนาคม ของทุกปี
สำหรับความเป็นมาของมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ นั้น เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2513 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีเปิดงาน แนะแนวอาชีพ และแข่งขันฝีมือแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ณ ลุมพินีสถาน และมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับความเป็นช่างของคนไทย ความตอนหนึ่งว่า "ช่างทุกประเภท เป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของบ้านเมืองและของคนทุกคน เพราะตลอดชีวิตของเรา เราต้องอาศัยและใช้บริการหรือสิ่งต่างๆ ที่มาจากฝีมือของช่างอยู่ทุกวี่ทุกวัน ผู้เป็นช่างจึงสมควรได้รับความเอาใจใส่ สนับสนุนจากทุกๆ ฝ่าย ยิ่งในสมัยปัจจุบัน วิทยาการทุกอย่างเจริญก้าวหน้า ยิ่งจำเป็นต้องส่งเสริมมากเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้ช่างที่มีความสามารถสูง ให้มีสิ่งใช้สอยที่มีคุณภาพดี และเพียงพอกับความต้องการ ในการส่งเสริมนั้นมีปัญหาอันควรจะได้พิจารณาช่วยเหลืออยู่สามประการ ประการแรก ได้แก่ ปัญหาเรื่องการให้ความรู้ทางหลักวิทยาการ และความรู้ทางการออกแบบ ประการที่สอง ได้แก่ ปัญหาเรื่องฝีมือ ซึ่งต้องปรับปรุงให้มีความประณีตและประสิทธิภาพได้มาตรฐานจริงๆ ประการที่สาม ได้แก่ ปัญหาเรื่องการจัดหางานและหาตลาด เพื่อช่วยให้ช่างได้มีงานทำ มีตลาดที่จะส่งสินค้าที่ผลิตได้ไปจำหน่าย การช่วยเหลือทั้งสามประการนี้จะต้องการทำให้สอดคล้องกันไป เพื่อให้ช่างมีรายได้และผลกำไร สำหรับนำมาเป็นทุนรอนสร้างฐานะและความก้าวหน้า ข้าพเจ้าใคร่ขอฝากความคิดทั้งนี้ไว้เป็นแนวปฏิบัติของท่านทั้งหลายต่อไป”