กรุงเทพฯ--4 มี.ค.--เอบีเอ็ม คอนเนค
จรรยาบรรณด้านเอไอ: บ๊อชให้แนวทางพนักงาน และกำหนดจุดยืนต่อประเด็นสาธารณะเกี่ยวกับเทคโนโลยีเอไอหลักการสำคัญ: เทคโนโลยีเอไอต้องมีความปลอดภัย ทนทาน สามารถอธิบายได้ และมนุษย์ยังควบคุมเทคโนโลยีได้เสมอโวคมาร์ เดนเนอร์ ซีอีโอของบ๊อช กล่าวว่า “เป้าหมายของเราคือการที่ผู้คนไว้วางใจในเทคโนโลยีเอไอของเรา”พัฒนาเครือข่ายพันธมิตรและความร่วมมือต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผลิตภัณฑ์ระบบอัจฉริยะต่างๆ ที่เชื่อมต่อกัน
บ๊อชได้กำหนด “กรอบเส้นแดง” ทางจริยธรรมสำหรับการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ปัจจุบัน บริษัทได้วางแนวทางการกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีเอไอในผลิตภัณฑ์ระบบอัจฉริยะต่างๆ ของบริษัท ดังนั้น จรรยาบรรณหรือจริยธรรมด้านเอไอของบ๊อชจึงขึ้นอยู่กับหลักการดังต่อไปนี้ คือ มนุษย์ควรเป็นผู้ชี้ขาดขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับการตัดสินใจต่างๆ ที่ใช้เทคโนโลยีเอไอ “เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ควรรับใช้ผู้คน หลักจรรยาบรรณด้านเอไอของเราจะให้แนวทางที่ชัดเจนกับพนักงานในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ระบบอัจฉริยะต่างๆ” นายโวคมาร์ เดนเนอร์ ซีอีโอของบ๊อช กล่าวในพิธีเปิดงาน Bosch ConnectedWorld (BCW) ซึ่งเป็นงานประชุมด้านเทคโนโลยี IoT ประจำปีของบริษัทในกรุงเบอร์ลิน “เป้าหมายของเราคือการที่ผู้คนไว้วางใจในเทคโนโลยีเอไอของเรา”
เอไอถือเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับบ๊อช บริษัทตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2025 ผลิตภัณฑ์ของบ๊อชทั้งหมด จะต้องใช้เทคโนโลยีเอไอ หรือมาจากการพัฒนาหรือผลิตโดยใช้เอไอช่วย ผลิตภัณฑ์ที่ใช้เอไอเข้ามามีบทบาทเหล่านี้ จะต้องปลอดภัย ทนทาน และสามารถอธิบายได้ “ถ้าเอไอเป็นกล่องดำลึกลับ คนก็คงไม่ไว้ใจ แต่ในโลกที่เชื่อมต่อกันนั้น ความไว้วางใจเป็นสิ่งที่สำคัญมาก” นายไมเคิล บอลลี ซีดีโอและซีทีโอของบ๊อช กล่าว
บ๊อชตั้งใจที่จะสรรค์สร้างผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีเอไอให้มีความน่าเชื่อถือ หลักจรรยาบรรณจึงยึดตามแนวคิดหลักของบริษัทที่ว่า “เทคโนโลยีเพื่อชีวิต” ที่ผสานความมุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมไปพร้อมกับการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ภายในสองปีข้างหน้า บ๊อชมีแผนจะฝึกอบรมพนักงานร่วม 20,000 คน เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีเอไอ หลักจรรยาบรรณด้านเอไอของบ๊อชเพื่อการกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีนี้ด้วยความรับผิดชอบ จึงเป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งของโปรแกรมการฝึกอบรมนี้
เอไอเสริมศักยภาพสำคัญเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เป็นกลไกขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาและเติบโตไปทั่วโลก ดังเห็นได้จากที่ PwC บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำได้คาดการณ์ว่า นับตั้งแต่ปัจจุบันไปจนถึงปี 2030 เอไอจะช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของประเทศจีนถึงร้อยละ 26 ในทวีปอเมริกาเหนือร้อยละ 14 และราวร้อยละ 10 ในยุโรป เทคโนโลยีนี้ยังสามารถช่วยให้เราก้าวข้ามความท้าทายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความจำเป็นเร่งด่วนด้านปฏิบัติการสภาพภูมิอากาศ และการสร้างผลลัพธ์ที่เหมาะสมที่สุดกับพื้นที่จำเป็น เช่น การคมนาคม การแพทย์ และเกษตรกรรม การวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมหาศาลด้วยอัลกอริทึมสามารถให้เหตุผลและช่วยในการตัดสินใจได้ ก่อนที่สหภาพยุโรปจะนำเรื่องนี้เข้ามาผนวกใช้เป็นมาตรฐาน บ๊อชได้ตัดสินใจเข้าไปมีส่วนร่วมในการอภิปรายในประเด็นด้านจริยธรรมที่มีต่อการใช้เทคโนโลยีนี้อย่างจริงจัง โดยพื้นฐานทางศีลธรรมของขั้นตอนนี้ เป็นไปตามค่านิยมที่ยึดถือในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights)
มนุษย์ยังคงมีอำนาจควบคุมหลักจรรยาบรรณด้านเอไอของบ๊อชระบุเงื่อนไขว่า ปัญญาประดิษฐ์ไม่ควรตัดสินใจในเรื่องใดๆ เกี่ยวกับมนุษย์โดยไม่ผ่านขั้นตอนการกำกับดูแลโดยมนุษย์ ไม่ว่าจะในรูปแบบใด ปัญญาประดิษฐ์นั้น ควรเป็นเครื่องมือที่รับคำสั่งมนุษย์มากกว่า จึงมีการกำหนดแนวทางที่เป็นไปได้ไว้ 3 แนวทางสำหรับผลิตภัณฑ์เอไอที่พัฒนาขึ้นโดยบ๊อชซึ่งล้วนอยู่บนพื้นฐานเดียวกันคือ มนุษย์ยังคงมีอำนาจควบคุมการตัดสินใจของเทคโนโลยีนี้
แนวทางแรกคือ ให้มนุษย์เป็นผู้ควบคุม (human-in-command) ปัญญาประดิษฐ์ทำหน้าที่เป็นเพียงตัวช่วยเท่านั้น ตัวอย่างเช่น แอปพลิเคชันช่วยตัดสินใจ ที่เอไอสามารถช่วยเราจำแนกสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือสิ่งมีชีวิต
แนวทางที่สองคือ การให้มนุษย์มีส่วนร่วม (human-in-the-loop) ระบบอัจฉริยะสามารถตัดสินใจในส่วนที่มนุษย์ก็ทำได้ และให้มนุษย์สามารถยกเลิกคำสั่งนั้นได้ตลอดเวลา ตัวอย่างในกรณีนี้รวมถึงระบบขับขี่อัตโนมัติบางส่วน ที่มนุษย์ผู้ขับขี่สามารถแทรกแซงการตัดสินใจของระบบช่วยเหลือในการหาที่จอดรถได้โดยตรง
สำหรับแนวทางที่สามคือ การให้มนุษย์มีบทบาทเสมอ (human-on-the-loop) จะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอัจฉริยะอย่างระบบเบรกฉุกเฉิน ซึ่งวิศวกรได้กำหนดพารามิเตอร์หรือตัวแปรเฉพาะเอาไว้ในขั้นตอนการพัฒนา ไม่มีขอบเขตจำกัดในการแทรกแซงของมนุษย์ในกระบวนการตัดสินใจของระบบ ตัวแปรต่างๆ จะเป็นเกณฑ์กำหนดว่าเอไอจะตัดสินใจเปิดระบบการทำงานหรือไม่ วิศวกรได้ทดสอบย้อนกลับไปเพื่อตรวจดูว่าระบบยังอยู่ในกรอบของตัวแปรหรือไม่ ซึ่งสามารถปรับตัวแปรได้ในกรณีที่จำเป็น
การสร้างความเชื่อมั่นร่วมกันบ๊อชยังหวังว่าหลักจรรยาบรรณด้านเอไอของบริษัทจะเป็นประโยชน์ต่อการอภิปรายสาธารณะเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ “เอไอจะเข้ามาเปลี่ยนการใช้ชีวิตของเราในทุกแง่มุม” นายเดนเนอร์กล่าว “ด้วยเหตุนี้ การอภิปรายหารือร่วมกันจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก”
ประเด็นนี้ เป็นเรื่องที่มากกว่าแค่ภูมิความรู้เชิงเทคนิคในการสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบอัจฉริยะต่างๆ สังคมจำเป็นต้องมีการพูดคุยหารืออย่างใกล้ชิดระหว่างผู้วางนโยบาย แวดวงวิทยาศาสตร์ และสาธารณชนทั่วไป ด้วยเหตุนี้ บ๊อชจึงลงนามเข้าร่วมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระดับสูงด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (High-Level Expert Group on Artificial Intelligence) ซึ่งเป็นกลุ่มที่แต่งตั้งขึ้นโดยคณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อช่วยกันตรวจสอบประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมิติด้านจริยธรรมของเอไอ ปัจจุบัน กลุ่มผู้เชี่ยวชาญนี้ มีเครือข่าย 7 แห่งทั่วโลก นอกจากนี้ บ๊อชยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม และมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (พิตต์สเบิร์ก สหรัฐอเมริกา) เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันเอไอที่ปลอดภัยมากขึ้นและน่าเชื่อถือมากขึ้น
บ๊อชยังมีความร่วมมือในลักษณะเดียวกัน ในฐานะสมาชิกผู้ก่อตั้ง Cyber Valley กลุ่มพันธมิตรด้านการวิจัยในเมืองบาเดน-เวิร์ตเทมเบิร์ก โดยได้ลงทุนไปว่า 100 ล้านยูโรในการก่อสร้าง AI Campus ที่มีผู้เชี่ยวชาญประจำกว่า 700 คน ร่วมทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับนักวิจัยจากภายนอกและองค์กรสตาร์ตอัพต่างๆ
สุดท้ายนี้ งานประชุม Digital Trust Forum ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่บ๊อชจัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพูดคุยและหารือกันในวงการผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันและองค์กรระหว่างประเทศชั้นนำนั้น กรรมการทั้ง 11 ท่านได้มาประชุมร่วมกันในงาน Bosch ConnectedWorld 2020 ด้วย “วัตถุประสงค์ที่เรามีร่วมกันคือ การทำให้เทคโนโลยี IoT ปลอดภัยและน่าเชื่อถือนั่นเอง” นายบอลลีกล่าว
คับคั่งด้วยวิทยากรกว่า 170 รายและผู้จัดแสดงงานอีก 80 รายงาน Bosch ConnectedWorld 2020 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นงานที่รวมเหล่าผู้จัดแสดงผลงานที่เป็นแนวโน้มและพัฒนาการล่าสุดในโลกแห่งเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อกัน ในบรรดาวิทยากรกว่า 170 รายนั้น มีผู้ทรงคุณวุฒิเด่นๆ อาทิ นายโวคมาร์ เดนเนอร์ ซีอีโอของบ๊อช และนายไมเคิล บอลลี ซีดีโอและซีทีโอของบ๊อช รวมทั้งนายโรแลนด์ บุสช์ (รองซีอีโอของซีเมนส์) นายเอ็กเซล สเต็ปเค็น (ประธานกรรมการของ T?V Sued) และนายสก็อต กุธรี (รองประธานอำนวยการของกลุ่มธุรกิจคลาวด์และเอไอของไมโครซอฟต์)
กิจกรรมที่น่าสนใจในงาน ได้แก่ ปาฐกถาของวิทยากรหลัก การแสดงนิทรรศการหลัก และการแข่งขันแฮกคาธอน (hackathon) เพื่อเฟ้นหาแนวคิดและนวัตกรรมสุดล้ำ งาน Bosch ConnectedWorld ได้จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 แล้ว และถือเป็นหนึ่งในงานประชุมนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดของโลก ที่เน้นเรื่องเทคโนโลยี IoT โดยเฉพาะภาพรวมโดยสังเขป: แนวทางหลักจรรยาบรรณด้านเอไอของบ๊อช
ผลิตภัณฑ์เอไอของบ๊อชทั้งหมดจะต้องสะท้อนแนวคิด “เทคโนโลยีเพื่อชีวิต (Invented for Life)” ของบริษัทที่ผสานความมุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมไปพร้อมกับความรับผิดชอบต่อสังคมการตัดสินใจทั้งหมดของเอไอที่มีผลกระทบต่อผู้คน ไม่สมควรเกิดขึ้นโดยปราศจากการชี้ขาดจากมนุษย์ เพราะเอไอควรทำหน้าที่เป็นเครื่องมือที่รับคำสั่งจากคนเท่านั้นเราต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์เอไอที่ปลอดภัย ทนทาน และสามารถอธิบายได้ความไว้วางใจเป็นหนึ่งในค่านิยมพื้นฐานของบริษัท เราจึงพัฒนาผลิตภัณฑ์เอไอที่น่าเชื่อถือและวางใจได้เมื่อมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เอไอ เราดำเนินการสอดคล้องกับหลักกฎหมาย พร้อมกับยึดถือหลักการด้านจริยธรรม