สร้างความเข้าใจ ลดความขัดแย้ง แท็งก์น้ำของอีอีซี “แก่งหางแมว โมเดล” การจัดการน้ำที่มาจากประชาชน

ข่าวทั่วไป Thursday March 5, 2020 14:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--วารีวิทยา ท่ามกลางวิกฤตภัยแล้งปีนี้ที่มาเร็วและรุนแรง กระทั่งหลายๆ ฝ่ายวิตกว่าจะเกิดสงครามแย่งน้ำเช่นในปี 2548 ไม่เพียงการเร่งรัดงบประมาณในการดำเนินการตามแผนจัดการแก้ไขและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วประเทศ กระบวนการสร้างความเข้าใจเป็นอีกกลไกสำคัญเพื่อลดความขัดแย้ง โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี พื้นที่ที่เป็นแหล่งทรัพยากรน้ำหลักของภูมิภาคตะวันออก ล่าสุดมีการลงนามความร่วมมือแบ่งปันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองประแกด ให้แก่อ่างเก็บน้ำประแสร์ โดยจะผันน้ำในปริมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นการเฉพาะกิจ เริ่มในเดือนมีนาคม 2563 จากเดิมวันละ 180,000 ลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 648,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อเสริมความมั่นคงเรื่องน้ำในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) การที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่มาก มีการใช้น้ำในปริมาณมหาศาล โดยมีระยะเวลาของโครงการพัฒนายาวนานถึง 20 ปี (พ.ศ.2560-2580) และฐานทรัพยากรน้ำส่วนหนึ่งนั้นจะดึงไปจากพื้นที่ต้นน้ำและกลางน้ำของอำเภอแก่งหางแมว อำเภอนายายอาม และอำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ผ่านโครงการอ่างเก็บน้ำและระบบท่อส่งน้ำที่กำลังดำเนินการพัฒนาอยู่ในพื้นที่ตามแผนการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน ซึ่งกำหนดไว้ในหลักการพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำภาคตะวันออกของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ.2560-2580 โดยจะมีอ่างเก็บน้ำรวม 4 แห่ง ประกอบด้วย 1. อ่างเก็บน้ำประแกด ตำบลพวา ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มกักเก็บน้ำแล้ว 2 ปี มีขนาดความจุ 60 ล้าน ลบม. 2. อ่างเก็บน้ำคลองพวาใหญ่ 2 ที่บ้านบ่อชะอม ตำบลพวา ขนาดความจุ 68.1 ล้าน ลบม. 3. อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว ตำบลขุนซ่อง ขนาดความจุ 80.7 ล้าน ลบม. และ 4. อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด บ้านวังสัมพันธ์ ตำบลขุนซ่อง มีขนาดความจุใหญ่ที่สุด คือ 99.5 ล้าน ลบม. ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการทำ EHIA เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างตั้งอยู่ทางเชื่อมผืนป่า ทับซ้อนกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์กว่า 7,000 ไร่ “จะเห็นว่าบริเวณที่จะทำการก่อสร้างอ่างที่ 4 (คลองวังโตนด) และอ่างเก็บน้ำที่กำลังก่อสร้างอีก 3 แห่ง รวมทั้งระบบชลประทานตอนกลาง ตอนล่าง ท่อส่งน้ำ และสถานีสูบน้ำที่เกี่ยวข้องกับอ่างเก็บน้ำเหล่านี้ จะทำให้พื้นที่ป่าและพื้นที่ของเกษตรกรรมหายไปรวม 268,000 ไร่ เพื่อใช้เป็นพื้นที่เก็บน้ำและรองรับน้ำหลาก จนเกิดปัญหาว่าคนในพื้นที่อำเภอแก่งหางแมวถูกแย่งน้ำ” ดร.สมนึก จงมีวศิน ในฐานะหัวหน้าโครงการ“การป้องกันและจัดการความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรน้ำ : กรณีศึกษาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง”ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ กล่าวว่า โครงการวิจัยนี้ มีขึ้นเพื่อหาแนวทางลดความขัดแย้ง และสร้างความเป็นธรรมในการใช้น้ำกับผู้ที่อยู่ต้นน้ำหรือผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพยากร ผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการยอมรับจากทุกภาคส่วน เช่น ผลจากการประชุมหารือกับ 4 ตำบล ในอำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2562 ที่เกิดเป็นข้อเรียกร้องไปยังคณะกรรมการอีอีซี คือ 1. ขอให้รัฐบาลออกมาตรการที่ชัดเจนในการปกป้องผืนป่าตะวันออก ซึ่งเป็นป่าใหญ่ผืนสุดท้าย และเป็นต้นน้ำที่สำคัญของทั้ง 8 จังหวัดในภาคตะวันออก 2. ในพื้นที่อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับโครงการอีอีซี โดยกรมชลประทานกำลังก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 4 แห่งซึ่งมีความจุรวมกัน 308 ล้านลูกบาศก์เมตรนั้น กรมชลประทานจะต้องสร้างระบบกระจายน้ำและแบ่งปันน้ำให้กับเกษตรกรในพื้นที่ก่อน อย่างน้อยปีละไม่ต่ำกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนน้ำที่เหลือสามารถนำไปพัฒนาประเทศในส่วนอื่นได้ “ผมเห็นด้วยกับกระบวนการวิจัยนี้ และเชื่อว่าถ้ารัฐบาลรับฟัง จะเกิดเป็นรูปธรรม ได้ประโยชน์ทั้งเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม” เป็นความเห็นจาก นายพิรุฬห์ เชื้อแขก คณะกรรมการลุ่มน้ำสาขาวังโตนด และสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลขุนซ่อง อำเภอแก่งหาแมว จังหวัดจันทบุรี ในเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการประเด็น “การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อำเภอแก่งหางแมว อำเภอนายายอาม อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี และพื้นที่ตำบลคลองโพล้ อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง เพื่อใช้ในการถอดบทเรียนและแสวงหาทางออกในการใช้ทรัพยากรน้ำร่วมกันอย่างเพียงพอและยั่งยืน” เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จัดขึ้นที่ห้องประชุมโรงเรียนบ้านวังอีแอ่น ตำบลพวา อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี “ประเด็นคือ ท่อผันน้ำจากสถานีสูบน้ำวังประดู่ไปอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง ดำเนินการแน่นอน ระยะทางประมาณ 45 กม. คนพวาได้แต่นั่งมองน้ำ แต่ยังไม่ได้ใช้น้ำ เราเป็นห่วงว่าถ้าเราไม่ออกมาเคลื่อนไหว ไม่ออกมาบอกให้หน่วยงานไปช่วยเราขับเคลื่อนมันจะเงียบเหมือนหลายๆ อ่างที่สร้างแล้วไม่ได้ใช้น้ำ” ขณะที่ตัวแทนจากตำบลท่าใหม่ นางอินทิรา มานะกุล แลกเปลี่ยนทัศนะในฐานะที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมานานว่า เมื่อครั้งที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูล ชาวบ้านท่าใหม่เล่าให้ฟังว่า น้ำเค็มเคยรุกถึงตำบลรำพัน ซึ่งในอดีตเป็นพื้นที่ทำนา เพราะระบบน้ำจืดลงไปไม่ถึง ฉะนั้น สำหรับท่าใหม่ ทีมศึกษาต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมว่า ถ้าอ่างเก็บน้ำวังโตนดเสร็จ เราจะต้องมีน้ำมากสักแค่ไหนจึงจะพอแก่การรักษาระบบนิเวศ เพราะวันนี้น้ำเค็มมากกว่าน้ำจืด ที่ผ่านมาเรามองจากประสบการณ์ จากการคาดคะเน ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริง “วันนี้เรามีแหล่งน้ำที่เสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่ 4 เส้น แต่ร่างกายเราไม่สามารถเดินได้ด้วยเส้นเลือดใหญ่อย่างเดียว ต้องมีเส้นเลือดฝอย ซึ่งไม่มีใครรู้ดีเท่าเราซึ่งเป็นคนในพื้นที่ เราทำที่นี่ก่อนเพราะที่นี่เป็นเส้นเลือดใหญ่สุดของคนเมืองจันท์ ถ้าที่นี่ลงตัวเรียบร้อย มีทั้งคน ทั้งข้อมูล มีระบบการกระจายน้ำ พื้นที่ที่ 2 ก็คือ ลุ่มน้ำจันทบุรี ซึ่งต้องส่งต่อกันได้ เชื่อมโยงกันได้” ทางด้านประธานคณะทำงานลุ่มน้ำวังโตนด ผศ.เจริญ ปิยารมย์ เล่าถึงเบื้องหลังการทำงานของคณะกรรมการลุ่มน้ำ ขับเคลื่อนเรื่องน้ำ จนเกิดฝายกันน้ำเค็ม เกิดท่อน้ำดิบ ระยะทาง 68 กม. กันน้ำเค็มรุกและกักเก็บน้ำจืด เมื่อปี 2525 ว่า ในลุ่มน้ำวังโตนดมีคณะทำงาน 2 คณะ “กลุ่มบริหารการใช้น้ำคลองวังโตนด” จดทะเบียนกับกรมชลประทาน และ“คณะทำงานลุ่มน้ำวังโตนด”อีกคณะ แต่งตั้งโดยกรมทรัพยากรน้ำ การทำงานของคณะทำงานจะประกอบด้วยสมาชิกจาก 3 อำเภอ ทำงานเชื่อมร้อยตั้งแต่ต้นน้ำ คือ แก่งหางแมว นายายอามและท่าใหม่ซึ่งอยู่ปลายน้ำ แต่หลังจากที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารลุ่มน้ำวังโตนดขึ้นไม่ว่าจะเป็นแต่งตั้งโดย หน่วยงานใดจะเป็นสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือกรมชลประทานก็ดี กลุ่มคณะทำงานทั้ง 2 กลุ่มที่ตั้งขึ้นก่อนหน้าจะหายไป ถือเป็นการส่งไม้ต่อ เพราะในลุ่มน้ำเดียวกันเราจะไม่แบ่งบริหารเป็นตอนๆ แต่ต้องทำงานร่วมกัน “เพราะทุกคนคือ เจ้าของน้ำ ดังนั้นการดำเนินงานของเราจึงถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของการไม่นิ่งนอนใจ รอคอยแต่การช่วยเหลือจากรัฐ เราต้องลุกขึ้นมาจัดการน้ำช่วยเหลือกันด้วยตนเอง แต่อย่างมองว่า น้ำเป็นของเรา ให้มองว่า น้ำเป็นสาธารณะ เมื่อถึงยามยาก เราต้องแบ่งปันเพื่อช่วยกัน ไม่เฉพาะในพื้นที่เราแต่ต้องเชื่อมไปถึงพื้นที่ EEC ตามแผนการพัฒนาประเทศที่ถูกวางไว้ตามนโยบายรัฐบาล” ประธานคณะทำงานลุ่มน้ำวังโตนดบอกอีกว่า “น้ำที่สำคัญที่สุดคือ “น้ำใจ” ณ วันนี้เรายังมีน้ำ เราควรจะช่วยเหลือเจือจานกัน น้ำใจที่เรามีต่อกันจะทำให้การพูดกันระหว่างต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ไปด้วยกันได้ดี ไม่มีความขัดแย้ง” ดร.สมนึก กล่าวว่า ในฐานะตนเองที่เป็นวิศวกร งานวิจัยในโครงการนี้ได้นำความคิดทางวิศวกรรมมาปรับใช้กับภาคสังคม เพื่อหาทางออกให้ประชาชน เพราะอ่างเก็บน้ำเมื่อสร้างขึ้นแล้วย่อมต้องมีสิ่งทดแทนให้กับคนในพื้นที่ จึงเริ่มจากการออกแบบระบบกระจายน้ำ “ปัจจุบันมีการออกแบบไปได้ 2 ตำบล คือ ตำบลพวา กับ ตำบลสามพี่น้อง อย่างอ่างคลองประแกดจะมีการตั้งปั๊มน้ำแล้วเดินท่อกระจายน้ำไปกลุ่มผู้ใช้ นั่นคือ แม้ว่าน้ำจะอยู่ในระดับต่ำสุดก็ยังสามารถสูบน้ำได้ โดยในช่วงแรกทางเทศบาลช่วยในส่วนของค่าน้ำมัน หลังๆ เราใช้การติดโซลาร์เซลล์ โดยท่อนี้จะวิ่งไปตามหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้าน เหล่านี้ประชาชนเป็นคนคิด ผมขับเคลื่อนในเชิงวิชาการ เพื่อลดความขัดแย้ง” ดร.สมนึก ยังบอกอีกว่า การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนในเบื้องต้นเพื่อนำข้อเสนอแนะมาจัดทำเป็น “แก่งหางแมว โมเดล” ซึ่งถ้าเกิดขึ้นได้จริงจะเป็นแนวทางการบริหารจัดการน้ำบนพื้นที่เสี่ยงเกิดความขัดแย้งอื่นๆ ต่อไป เพื่อให้เกิดการจัดการน้ำที่เป็นธรรม และให้เห็นว่าการจัดการน้ำมาจากประชาชนได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ