กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--หาดทิพย์
หาดทิพย์ ประกาศรายได้โตสูงสุดประจำปี 2562 กว่า 6,776 ล้านบาท จากปริมาณการขายรวม 64 ล้านยูนิตเคส เติบโตกว่า 20% พร้อม โชว์กำไร 441 ล้านบาท เติบโตก้าวกระโดด 77% ผลจากการประหยัดจากขนาด และต้นทุนราคาและปริมาณการใช้น้ำตาลลดลง ตั้งเป้าปี 2563 รายได้ทะลุ 7,000 ล้านบาท ใช้กลยุทธ์การเติบโตด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ครบพอร์ตเครื่องดื่มอีกทั้งพร้อมพัฒนาบริษัทด้วยระบบ Digitalization เพิ่มประสิทธิภาพระบบการทำงาน ระบบการกระจายสินค้า ให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจค้าปลีก เร่งดำเนินการแผนลดความเสี่ยงจากไวรัส COVID-19 โดยปรับระบบการจัดจำหน่ายและใช้กลยุทธ์ผสมผสานผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับผู้บริโภคที่จะต้องอยู่ในบ้านมากขึ้น
พลตรี พัชร รัตตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) หรือ HTC กล่าวว่าปีนี้เป็นปีที่ดีมากของบริษัทฯ ผลการดำเนินงานประจำปี 2562 ที่ดีที่สุด มีรายได้จากการขายสูงสุด จำนวน 6,776 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นเป็น 64 ล้านยูนิตเคสในปี 2562 หรือเติบโต 20% จากปี 2561 ที่เท่ากับ 53 ล้านยูนิตเคส โดยรายได้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 20% นั้นเป็นผลจากการดำเนินการบริหารการเติบโตของรายได้ (ราคาและการส่งเสริมการขาย) พร้อมกับการทำการแคมเปญตลาดตรงกับกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนั้น รายได้ที่แข็งแกร่งของปี 2562 ยังได้รับแรงหนุนมาจากการผลิตตามคำสั่งซื้อของพันธมิตรทางการค้าในประเทศเพิ่มขึ้นอีกด้วย
สำหรับกำไรสุทธิ จำนวน 441 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77% เมื่อเทียบกับปี 2561 ส่วนหนึ่งมาจากการประหยัดจากขนาดของกำลังการผลิตเป็นผลให้ต้นทุนขายต่อหน่วยลดลง ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นปี (Gross Profit Margin) 2562 เพิ่มขึ้นจาก 33.7% เป็น 38.3% และ อัตรากำไรสุทธิ(Net Profit Margin) ปี 2562 เพิ่มขึ้นจาก 4.3% เป็น 6.5% ทั้งนี้จากความแข็งแกร่งของผลดำเนินงาน และฐานะทางการเงินที่มั่นคง บริษัทฯ มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน(Interest bearing Debt/ Equity) เพียง 0.22 เท่า และ อัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยกว่า (Interest Coverage) 21 เท่า พร้อมกันนั้นอัตราผลตอบแทนส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) อยู่ที่ 16% เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่เท่ากับ 9%
สำหรับแผนการดำเนินงานปี 2563 หาดทิพย์ตั้งเป้าที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้ารายได้จากการขาย จำนวน 7,000 ล้านบาท พร้อมยังสามารถรักษาอัตรากำไรขั้นต้น และระดับกำไรให้อยู่ในระดับเดียวกับปี 2562
ทั้งนี้สำหรับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนของไวรัส COVID-19 นั้น ถือเป็นปัจจัยที่อาจจะกระทบกับแผนเป้าหมายรายได้ปี 2563 แต่ทั้งนี้ ธุรกิจกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มมักมีความผันผวนด้านความต้องการซื้อต่ำกว่าเมื่อเทียบกับธุรกิจกลุ่มอื่นๆ ที่มักจะได้รับผลกระทบด้านความต้องการซื้อที่มากกว่า โดยในระยะกลางปัจจัยปัจจัยหลักที่ต้องติดตามคือ ระยะเวลาของการระบาดจะทอดยาวไปนานแค่ไหน และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาคใต้อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะในพื้นที่การท่องเที่ยว ซึ่งบริษัทฯ เองได้เริ่มดำเนินการตามแผนเพื่อรับมือสถานการณ์ COVID-19 แล้วคือ 1) ปรับการช่องการจำหน่ายและบรรจุภัณฑ์เพื่อรองรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนมาอยู่บ้านมากขึ้น 2) ควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงานให้มีความรัดกุมมากขึ้น 3) เริ่มแผนปฏิบัติการปรับลดต้นทุนขาย และ 4) ลำดับรายจ่ายลงทุนที่สำคัญก่อน