กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์
รพ.จิตเวชนครราชสีมา เร่งยกระดับมาตรฐานป้องกันปัญหาเข้านอนรพ.ซ้ำของกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชอาการเรื้อรัง ซับซ้อน ในพื้นที่ 4 จังหวัดอีสานล่างที่มีประมาณ 4 หมื่นกว่าคน หลังพบรายเก่าร้อยละ 70 หลังรักษากลับมาป่วยซ้ำอีกขณะอยู่ที่บ้าน นำร่องพื้นที่ต้นแบบปีนี้ 4 อำเภอ เน้นเพิ่มศักยภาพการดูแลเชิงรุก 4 ระบบในชุมชนร่วมระหว่างญาติ -สาธารณสุข -ชุมชน -กู้ชีพกู้ภัย-ตำรวจ สกัดปัญหาและรักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการเตือน คุมอาการให้สงบโดยเร็วก่อนขยายผลเต็มพื้นที่
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า ในปีนี้รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯมีนโยบายเร่งพัฒนามาตรฐานการป้องกันปัญหาการป่วยซ้ำของผู้ป่วยโรคทางจิตที่มีอาการเรื้อรัง ยุ่งยากซับซ้อน ที่พบมากคือโรคจิตเภท (Schizophrenia) ซึ่งในเขตสุขภาพที่ 9 ที่ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด(จว.) อีสานตอนล่างได้แก่นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ มีผู้ป่วยประมาณ 40,000 กว่าคน ส่วนใหญ่จะเป็นเพศชาย โรคนี้มีความรุนแรงและเรื้อรัง ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีความผิดปกติทางความคิดพฤติกรรม อารมณ์ การรับรู้ ความจำและเชาว์ปัญญา ผิดไปจากคนปกติทั่วไป เช่นมีหูแว่ว เห็นภาพหลอน ไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ ส่วนใหญ่จะมารพ.ด้วยอาการหลงผิด ประสาทหลอน หวาดระแวง หรือมีพฤติกรรมรุนแรง เช่น เอะอะอาละวาด ทำลายข้าวของ ทำร้ายผู้อื่น ทำร้ายตนเอง ที่ผ่านมาผู้ป่วยกลุ่มนี้หลังจากได้รับการรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพแล้วมีส่วนหนึ่งที่หายขาด แต่อีกส่วนหนึ่งต้องกินยาต่อเนื่องเพื่อควบคุมอาการให้เป็นปกติ โดยพบว่าผู้ป่วยรายเก่าร้อยละ 70 กลับมาป่วยซ้ำและมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง
“สาเหตุหลักของการป่วยซ้ำ มาจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่นการขาดยาแม้จะขาดในระยะสั้นเพียง 3-4 วันก็ตาม พบร้อยละ 80 เนื่องจากการทำงานของสมองเสียสมดุลไป รองลงมาคือดื่มสุรา สูบบุหรี่ พบร้อยละ 50 และจากความเครียดพบร้อยละ 6 การป่วยซ้ำจะส่งผลเสียให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลงไปเรื่อยๆ การรักษายุ่งยากขึ้น สมรรถนะความสามารถต่างๆของผู้ป่วยยิ่งลดลง โอกาสกลายเป็นผู้พิการทางจิตใจและพฤติกรรมจะมีสูงขึ้น” นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว
ทางด้านนายณภัทร วรากรอมรเดช รองหัวหน้างานสนับสนุนและพัฒนาเครือข่าย รพ.จิตเวชนครราชสีมา กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการสำคัญในการป้องกันการป่วยซ้ำของผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวหลังจากรักษาจากรพ.จิตเวชฯจนอาการทุเลาดีแล้ว จะเน้นเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพการดูแลเบ็ดเสร็จในชุมชน เป็นความร่วมมือกันจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ระหว่างญาติที่ดูแล -เจ้าหน้าที่สาธารณสุข -ชุมชน แกนนำชุมชน -กู้ชีพกู้ภัยและตำรวจ เป็นไปตามพ.ร.บ.สุขภาพจิตพ.ศ.2551 และแก้ไขเพิ่มเติมพ.ศ.2552 ภายใต้ 4 มาตรการเชิงรุกในชุมชน ได้แก่ 1.ระบบการเยี่ยมบ้านดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องตามมาตรฐาน 2.ระบบการเฝ้าระวังความเสี่ยงโดยญาติสามารถสังเกตสัญญาณเตือนความผิดปกติเช่นไม่นอน พูดคนเดียว อารมณ์หงุดหงิด หวาดระแว และแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าช่วยดูแลได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรอให้อาการรุนแรงขึ้น 3.ระบบการช่วยเหลือผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉิน เช่นอาละวาด ก้าวร้าวรุนแรง อย่างทันท่วงทีที่บ้านของผู้ป่วย หรือนำส่งรพ.ชุมชนเพื่อดูแลรักษาให้อาการทางจิตทุเลาโดยเร็ว และ 4.ระบบการฟื้นฟูผู้ป่วยให้ใช้ชีวิตประจำวันหรือทำงานได้โดยจะดำเนินการในพื้นที่ต้นแบบจังหวัดละ 1 อำเภอ รวม4 อำเภอ ดังนี้ ที่จ.ชัยภูมิ ที่อ.ภูเขียว ,จ.บุรีรัมย์ที่อ.นาโพธิ์,จ.สุรินทร์ และจ.นครราชสีมาดำเนินการที่อ.เมือง ซึ่งรพ.จิตเวชฯได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและอำเภอทั้ง 4 แห่ง ประชุมชี้แจง สนับสนุนองค์ความรู้เทคโนโลยีและฝึกทักษะที่จำเป็น เช่นการเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยที่อาละวาด ให้แก่เจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายสาธารณสุขที่อยู่ในโรงพยาบาลประจำพื้นที่ ตำรวจ กู้ชีพ กู้ภัย และแกนนำหมู่บ้าน/ชุมชน เช่น อสม. ผู้ใหญ่บ้าน ไปแล้ว มั่นใจว่าหากผู้ป่วยได้รับการดูแลตั้งแต่เริ่มมีอาการกำเริบ จะเป็นวิธีการป้องกันปัญหาการนอนรพ.ซ้ำที่มีประสิทธิภาพที่สุด
ทั้งนี้รูปแบบการแก้ปัญหาการป่วยซ้ำของผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในพื้นที่ต้นแบบ 4 แห่งครั้งนี้ นอกจากจะใช้มาตรการทางการแพทย์คือการใช้ยาควบคุมการทำงานของสารสื่อประสาทในสมอง ให้มีอาการเป็นปกติ สร้างความปลอดภัยให้ผู้ป่วยและชุมชนแล้ว บางแห่งอาจมีการใช้มาตรการทางสังคมหรือสัญญาประชาคมของหมู่บ้านและชุมชนเสริม เพื่อป้องกันที่ต้นเหตุ สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ลดสิ่งกระตุ้น เช่น ห้ามขายเหล้าหรือบุหรี่ให้ผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งเป็นสิ่งเสพติดที่เป็นสาเหตุหลักประมาณครึ่งหนึ่งที่ทำให้อาการกำเริบ โดยจะสรุปถอดบทเรียนทั้ง4 พื้นที่ในช่วงปลายปีงบประมาณนี้ เพื่อพัฒนาให้เป็นระบบมาตรฐานก่อนขยายผลให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ภายในเขตสุขภาพที่9 โดยเร็ว