กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--วิเคราะห์ข่าว สํานักงานประชาสัมพันธ์
พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กำชับให้ทุกจังหวัดเตรียมมาตรการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมจัดเตรียมสถานที่เป็นพื้นที่ควบคุมโรคว่า กทม. ได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง หากเกิดการระบาดในวงกว้าง กทม. จะ “ยกระดับ” มาตรการความร่วมมือกับโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ สถาบันกลุ่มโรงพยาบาลแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย สมาคมโรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลของ 4 เหล่าทัพ เพื่อสำรองเตียง รวมทั้งห้องความดันลบและห้องแยกโรค ตลอดจนเวชภัณฑ์ ชุดป้องกันการติดเชื้อ เพื่อรับผู้ป่วยไว้และส่งต่อผู้ป่วยในกรณีจำเป็น ขณะเดียวกันสำนักการแพทย์ กทม. ได้จัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (Emergency Operations Center : EOC) กรณีโรคจากเชื้อไวรัสโควิด-19 สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร” เพื่อติดตามสถานการณ์โรค 3 ระยะ เตรียมความพร้อมมาตรการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค เตรียมระบบการคัดกรองที่รวดเร็ว จัดระบบคัดแยกโรคและผู้ป่วยที่รวดเร็ว ให้มีการรายงานระบบข้อมูลตลอด 24 ชั่วโมง และทันทีที่พบผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ เพื่อป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนกำหนดช่องทางเข้าออกโรงพยาบาลให้เหลือเฉพาะช่องทางที่จำเป็น ตรวจคัดกรองเบื้องต้นเพื่อความปลอดภัยก่อนเข้าสู่ภายในโรงพยาบาล เปิดคลินิกโรคระบบทางเดินหายใจนอกอาคารโรงพยาบาล รองรับผู้ป่วยเข้าข่ายติดเชื้อไวรัส พร้อมแจกบัตรคำแนะนำด้านสุขภาพ (Health Card) สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังจากกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง หากสงสัยในอาการของโรค สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ 1646 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังได้จัดเตรียมโรงพยาบาลไว้รองรับสถานการณ์การระบาดของโรคจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีความพร้อมในด้านสถานที่ตั้ง แยกเป็นสัดส่วน สามารถใช้เป็นพื้นที่เฝ้าระวังและสังเกตอาการ รวมถึงรองรับแรงงานไทยจากประเทศกลุ่มเสี่ยงหรือเขตติดโรคติดต่ออันตรายตามประกาศ สธ. เดินทางกลับประเทศไทย ตามที่รัฐบาลให้ทุกจังหวัดจัดเตรียมสถานที่
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนั้น สำนักอนามัย กทม. ยังได้ติดตามผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคที่ต้องเฝ้าระวัง โดยดำเนินการสอบสวนโรคในผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) ผู้ป่วยเข้าข่าย และมีการติดตามผู้สัมผัสเป็นเวลา 14 วัน รวมทั้งให้ความรู้ คำแนะนำ ในการปฏิบัติตัว ตลอดจนจัดเตรียมโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ให้เป็นพื้นที่ควบคุมโรคตามหลักเกณฑ์ของ สธ. เพื่อเฝ้าระวังและสังเกตอาการผู้ป่วยเข้าข่ายต้องสงสัย และรองรับผู้ป่วยระยะพักฟื้น เนื่องจากโรงพยาบาลบางขุนเทียน มีความพร้อมในด้านสถานที่ตั้ง ที่แยกเป็นสัดส่วน และยังไม่มีการเปิดบริการรักษาผู้ป่วยใน อีกทั้งหากเกิดกรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กทม. ได้เตรียมโรงพยาบาลที่มีความพร้อมทั้งทีมแพทย์และอุปกรณ์ ประกอบด้วย โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ และโรงพยาบาลตากสิน โดยจะปรับห้อง ICU รับคนไข้เฉพาะโรคดังกล่าวด้วย