สุดเจ๋ง!นศ.ว.การอาชีพกาญจนาภิเษกหนองจอกสร้างเครื่องบดหลอดไฟควบคุมการแพร่กระจายของสารปรอท ช่วยชาติรักษาสิ่งแวดล้อม

ข่าวทั่วไป Monday March 9, 2020 10:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จากข้อมูลของสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร พบว่าปัญหาขยะมูลฝอยในกรุงเทพมหานครเป็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญโดยเฉพาะขยะอันตราย หรือขยะพิษ อย่างเช่น หลอดไฟฟ้าที่หมดอายุการใช้งาน หากไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี จะกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และเกิดมลพิษต่อแหล่งน้ำ พื้นดิน และอากาศ และยังเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มุ่งมั่นในการพัฒนายกระดับคุณภาพการเรียนการสอนตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อเตรียมกำลังคนไปสู่ศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งเน้นให้นักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา ได้คิด วิเคราะห์ สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ให้มีคุณภาพ ทันสมัย ได้มาตรฐาน สามารถนำไปใช้งานได้จริง ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ในชุมชน สังคม และอุตสาหกรรม อย่างเช่น เครื่องบดหลอดไฟควบคุมการแพร่กระจายของสารปรอท ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ประเภทพัฒนาคุณภาพชีวิตของวิทยาลัยการอาชีพกาญจนาภิเษกหนองจอกที่ปัจจุบัน กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตหนองจอกสนใจติดต่อขอนำเครื่องดังกล่าวไปใช้งานแล้ว น้องชัย หรือ นายพรชัย แซ่จู นักเรียนชั้นปวช.2 แผนกวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยการอาชีพ กาญจนาภิเษกหนองจอก เล่าว่า หลอดไฟฟ้า มีส่วนประกอบของสารปรอท เมื่อหมดอายุการใช้งานหรือไม่ใช้แล้ว จัดได้ว่าเป็นของเสีย มีอันตราย โดยสารปรอทเป็นโลหะหนักชนิดหนึ่งที่มีจุดหลอมเหลวต่ำ สามารถระเหยกลายเป็นไอได้ง่าย และแขวนลอยอยู่ในอากาศได้เป็นเวลานาน ตลอดจนสามารถตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน การแตกของหลอดไฟจะทำให้ไอปรอทระเหยออกมา หากสูดดมเข้าไป จะทำให้สารปรอทเข้าไปสะสมในร่างกาย และถ้าได้รับสารปรอทในปริมาณมากก็จะเป็นโรคมินามาตะได้ โดยอาการของ โรคมินามาตะคือ ชาตามมือ เท้า แขน ขาและริมฝีปาก จากนั้นจะเริ่มมีอาการหงุดหงิด กระวนกระวาย พูดไม่ชัด ฟังไม่ได้ยิน กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชีพจรเต้นอ่อน หัวใจเต้นผิดจังหวะ ควบคุมตัวเองไม่ได้ และเป็นอัมพาตในที่สุด ซึ่งนับวันหลอดไฟฟ้าที่หมดอายุการใช้งานหรือไม่ใช้แล้ว จะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น และกลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ถ้าการเก็บหรือทำลายไม่ถูกวิธีอาจก่อให้เกิดการปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำใต้ดิน ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้ นายพรชัย เล่าต่อไปอีกว่า โดยพฤติกรรมการทิ้งหลอดไฟที่ไม่ใช้แล้วของประชาชนมักจะทิ้งลงรวมกับถังขยะทั่วไป ไม่มีการคัดแยกขยะ ทำให้พนักงานเก็บขยะดำเนินการเก็บขยะค่อนข้างลำบาก ซึ่งซากหลอดไฟเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการฝังกลบ ซึ่งจะมีต้นทุนสูงมาก และเมื่อฝนตก น้ำฝนก็จะชะผ่านกองซากที่เป็นของเสียอันตราย ทำให้สารพิษไหลปนเปื้อนเข้าสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ และดูดซึมเข้าสู่สัตว์น้ำและพืชผัก เมื่อรับประทานสัตว์น้ำ หรือพืชผักที่ปนเปื้อนสารพิษก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายได้ ตนและเพื่อนๆ จึงช่วยกันคิดค้นและสร้างเครื่องบดหลอดไฟควบคุมการแพร่กระจายของสารปรอท ซึ่งมี ครูสุชาติ คงสิน ครูแผนกวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง เป็นครูที่ปรึกษา โดยออกแบบให้มีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลที่มีล้อสามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวกและปลอดภัย ประกอบด้วย ถังเหล็ก ขนาดความจุ 200 ลิตร ชุดเฟืองบดที่สามารถทำการบดย่อยหลอดกลมและหลอดวงแหวนที่มีขนาด 18 และ 36 วัตต์ให้ละเอียดได้ถึง 1 ตารางเซนติเมตร ปั๊มสารเคมีที่ควบคุมด้วยระบบมอเตอร์ทำหน้าที่พ่นสารโซเดียมซัลไฟด์ลงบนหลอดไฟที่ผ่านการบดย่อยแล้ว โดยเครื่องบดหลอดไฟควบคุม การแพร่กระจายของสารปรอทสามารถบดย่อยหลอดไฟได้ จำนวน 20 – 30 หลอดต่อนาที และลดการรั่วไหลของสารปรอทได้ไม่เกิน 0.2 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งเป็นไปตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2548 นอกจากนี้แล้วยังได้นำเศษหลอดไฟที่ผ่านกระบวนการและปลอดสารปรอทแล้ว นำมาต่อยอดผลิตเป็นกระถางต้นไม้โดยนำมาผสมกับปูนซีเมนต์เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้อีกด้วย ทั้งนี้ หากสนใจสั่งซื้อเครื่องบดหลอดไฟควบคุมการแพร่กระจายของสารปรอท และกระถางปลูกต้นไม้จากเศษหลอดไฟ สามารถติดต่อได้ที่ โทร. 087-625-0610 หรือที่วิทยาลัยการอาชีพกาญจนาภิเษก หนองจอก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ