ก.แรงงาน-เดนมาร์ก พัฒนาเชฟไทยในต่างแดน

ข่าวทั่วไป Monday March 9, 2020 13:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--กองสือสารองค์กร กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ก.แรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน หารือกับคณะจัดหางานเดนมาร์ก แนวทางการพัฒนาทักษะเชฟไทย เพิ่มโอกาสทำงานในร้านอาหารไทยระดับมิชลินสตาร์ในเดนมาร์ก สร้างรายได้ปีละกว่า 2 ล้านบาท นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) นอกจากจะมีภารกิจพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี เขตเศรษฐกิจพิเศษและทั่วประเทศ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนกำลังคน ให้เป็นไปตามนโยบายปฏิรูปกำลังแรงงานของม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแล้ว ยังส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมศักยภาพแรงงานไทยให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานต่างประเทศ ล่าสุดกพร. ให้การต้อนรับและหารือร่วมกับคณะผู้แทนจากสำนักงานการจัดหางานและการบูรณาการระหว่างประเทศ ราชอาณาจักรเดนมาร์ก และสถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์ก ประเทศไทย ในเรื่อง กระบวนการจัดฝึกอบรมในหลักสูตรวิชาชีพการทำอาหาร โดยคณะผู้แทนได้เดินทางไปสังเกตการณ์การฝึกอบรมและการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติสาขาประกอบอาหาร ณ ศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติครัววันดี นายธวัช กล่าวต่อไปว่า สำนักงานการจัดหางานและการบูรณาการระหว่างประเทศ เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงตรวจคนเข้าเมืองและบูรณาการ ราชอาณาจักรเดนมาร์ก มีหน้าที่ในการพิจารณาและออกใบอนุญาตผู้พำนักอาศัยในเดนมาร์กสำหรับบุคคลสัญชาติที่สาม (นอกกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์ และสหภาพยุโรป) ซึ่งวัตถุประสงค์ในการเข้ามาศึกษาดูงานในครั้งนี้ เพื่อต้องการศึกษาการฝึกอบรมให้แก่บุคลที่มีความประสงค์จะประกอบอาชีพเชฟ วิธีการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ ความแตกต่างของข้อกำหนดทางทักษะของ “กุ๊ก” กับ “เชฟ” ซึ่งจะมีการนำข้อมูลที่ได้ในครั้งนี้ไปใช้ในการพิจารณาออกใบอนุญาตผู้พำนักอาศัยในเดนมาร์ก “นอกจากนี้ ยังได้รับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อแรงงานไทยที่ต้องการไปประกอบอาชีพเป็นเชฟในเดนมาร์ก อาทิ ร้านอาหารไทยในเดนมาร์กส่วนใหญ่ติดระดับมิชลินสตาร์ที่ได้ติดดาวร้านอาหารคุณภาพยอดเยี่ยม จากบริษัท Michelin ที่แนะนำให้ลองชิมสักครั้ง จึงมีความต้องการเชฟฝีมือดีจากประเทศไทย เพื่อประกอบอาหารไทยสไตล์ฟิวชั่นที่ผสมผสานเอกลักษณ์ความเป็นไทยและยุโรปได้อย่างลงตัว ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อปีกว่า 2 ล้านบาท ในแต่ละปีจะมีแรงงานไทยประมาณ 50 คน ยื่นเรื่องประกอบอาชีพในตำแหน่งเชฟ และมีการพิจารณาอย่างเข้มงวด การศึกษาดูงานในครั้งนี้จึงเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือในระบบการฝึกอบรม การรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เพิ่มโอกาสให้กับเชฟไทยที่ต้องการประกอบอาชีพในเดนมาร์ก” อธิบดีกพร. กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ