กยท. มอบเงินจัดซื้อเครื่องพ่นยาแรงดันสูงฯ – สารป้องกันและจำกัดเชื้อราแก่ชาวสวนยาง จ. นราธิวาส

ข่าวทั่วไป Monday March 9, 2020 15:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--การยางแห่งประเทศไทย การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน จ.นราธิวาส โดยมีนายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ให้เกียรติร่วมมอบเงินสนับสนุนจัดซื้อเครื่องพ่นยาแรงดันสูงพร้อมอุปกรณ์ฯ และสารป้องกันและจำกัดเชื้อราแก่ชาวสวนยาง จ.นราธิวาส พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้แก่ชาวสวนยางกว่า 200 คน ณ ห้องประชุมวิภา วังศิริกุล คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กยท. เป็นองค์กรกลางที่รับผิดชอบดูแลยางพาราทั้งระบบครบวงจร และมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการดูแลเกษตรกรชาวสวนยางในทุกมิติ เมื่อมีการแพร่ระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราใน 10 จังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดนราธิวาสที่มีการระบาดมากที่สุด ประมาณ 700,000 ไร่ ส่งผลให้ต้นยางมีใบร่วงรุนแรง สภาพเสื่อมโทรม ผลผลิตน้ำยางทยอยลดลงจนต้องหยุดกรีดยาง ส่งผลเสียหายทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคม ทำให้เกษตรกรขาดรายได้ เกิดความไม่มั่นคงในอาชีพการทำสวนยางพารา จึงเป็นหน้าที่ของการยางแห่งประเทศไทยที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่ตระหนักและให้ความสำคัญ เร่งดำเนินมาตรการต่างๆ ในการช่วยกันแก้ปัญหาการระบาดของโรค การสร้างความรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะอาการของโรค วิธีการป้องกันกำจัดโรคที่เกษตรกรทำได้ รวมถึงให้การช่วยเหลือและสนับสนุนภาคเกษตรกรในทุกทาง เพื่อป้องกันและกำจัดโรคนี้ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ด้านธุรกิจและปฏิบัติการกล่าวว่า สำหรับการจัดงาน “คืนน้ำยางกลับสู่ต้น” ภายใต้โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์โรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราในครั้งนี้ มีการมอบเงินสนับสนุนเพื่อจัดซื้อเครื่องพ่นยาแรงดันสูงพร้อมอุปกรณ์ และสารป้องกันและจำกัดเชื้อรา ให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ จ. นราธิวาส มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 945,450 บาท พร้อมทั้งให้ความรู้บรรยายการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ “คืนน้ำยางกลับสู่ต้น” นอกจากนี้ กยท. ยังจัดคลินิคยางเคลื่อนที่ให้ความรู้และคำแนะนำในการดูแลสวนยางพารา ตลอดจนนิทรรศการของหน่วยงานต่างๆ ปิดท้ายด้วยการเสวนาประสบการณ์และการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์โรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา ทั้งนี้ หากเกษตรกรพบความผิดปกติในสวนยางของท่าน ไม่มั่นใจว่าติดโรคใบร่วงชนิดใหม่ฯ หรือไม่ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ กยท. ในพื้นที่ใกล้เคียงของท่านเพื่อให้เข้าไปตรวจสอบ หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยยางสงขลา โทร 074- 586616 และศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี โทร 077- 297763

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ