กรุงเทพฯ--10 มี.ค.--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 6 มีนาคม 2563 ได้มีการประชุมระหว่างกลุ่มประเทศ OPEC กับประเทศนอกกลุ่ม OPEC เพื่อหารือในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มเติมเพื่อพยุงราคาน้ำมันที่ตกต่ำจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันของโลกลดลงอย่างมาก โดยซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ของกลุ่ม OPEC ได้เสนอให้ประเทศสมาชิกและประเทศนอกกลุ่ม OPEC ที่นำโดยรัสเซีย ปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มเติมอีก 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันจากเดิมที่ปรับลดมาแล้ว 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมกลับไม่เป็นไปตามที่ตลาดคาด เนื่องจากรัสเซียปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว ทำให้ซาอุดีอาระเบียไม่พอใจอย่างมากและประกาศทำสงครามราคาน้ำมัน โดยซาอุดีอาระเบียจะปรับลดราคาขายน้ำมันดิบให้กับลูกค้าทั่วโลกลง 6-8 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล รวมทั้งจะค่อยๆ เพิ่มกำลังการผลิตของตัวเองจากเดิม 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวันขึ้นเป็น 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ซ้ำเติมภาวะอุปทานน้ำมันส่วนเกินของโลกมากขึ้น และส่งผลให้ล่าสุดราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลงจากระดับกว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในวันศุกร์ที่ 6 มีนาคม 2563 เหลือราว 32 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในวันจันทร์ที่ 9 มีนาคม 2563 หรือปรับลดลงกว่า 35% ซึ่งได้สร้างความปั่นป่วนให้ตลาดน้ำมันและตลาดหุ้นทั่วโลกเป็นอย่างมาก
ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว เปรียบเสมือนเหรียญสองด้านที่จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเศรษฐกิจไทย ด้านบวก จะทำให้ไทยซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ ประหยัดเงินในการนำเข้าน้ำมันดิบได้บางส่วน โดยในแต่ละปีไทยนำเข้าน้ำมันดิบเกือบ 7 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการก็จะมีต้นทุนการผลิตลดลง โดยเฉพาะต้นทุนค่าขนส่ง ขณะที่ผู้บริโภคก็จะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น จากรายจ่ายด้านพลังงานที่ลดลง ซึ่งจะหนุนให้อุปสงค์ในประเทศกระเตื้องขึ้น ด้านลบ ราคาน้ำมันที่ลดลงอาจบั่นทอนการส่งออกสินค้าและบริการของไทยในหลายมิติ ได้แก่
การส่งออกของไทยไปประเทศที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันในสัดส่วนสูง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ OPEC และรัสเซียซึ่งไทยส่งออกคิดเป็นสัดส่วนรวมกันราว 3% ของมูลค่าส่งออกรวม ทั้งนี้ ประเทศเหล่านี้มีรายได้หลักมาจากการขายน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและปิโตรเคมีเป็นหลัก ดังนั้น หากราคาน้ำมันลดต่ำลง ก็เท่ากับว่าประเทศเหล่านี้มีรายได้ลดลง และอาจทำให้รัฐบาลของประเทศดังกล่าวต้องปรับลดงบประมาณรายจ่ายเพื่อพัฒนาประเทศลง ซึ่งจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อของกลุ่มประเทศข้างต้นชะลอลง ทั้งนี้ สินค้าส่งออกที่ไทยพึ่งพาตลาด OPEC และรัสเซียสูง ได้แก่ รถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง ข้าว เครื่องปรับอากาศ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้นการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันถูกกดดันต่อเนื่อง อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง และเม็ดพลาสติกมีแนวโน้มชะลอลง กลุ่มสินค้าดังกล่าวมีสัดส่วนรวมกันราว 15% ของมูลค่าส่งออกรวม ทั้งนี้ นอกจากราคาน้ำมันที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่อ Margin ของการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวแล้ว ในด้านปริมาณก็ยังคงถูกกดดันจากอุปสงค์ที่ลดลงจากผลกระทบของ COVID-19 โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันอันดับ 1 ของไทยอีกด้วยการส่งออกสินค้าเกษตรอาจได้รับผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากราคาสินค้าดังกล่าวมักเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะยางพารา โดยปัญหาดังกล่าวจะเข้ามาซ้ำเติมภาวะอุปทานยางพาราล้นตลาดในปัจจุบันมากขึ้นไปอีกการส่งออกบริการมีแนวโน้มหดตัว จากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวตะวันออกกลางและรัสเซียซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในไทยอาจลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีรายจ่ายเฉลี่ยต่อหัวสูงและเป็นกลุ่มลูกค้าอันดับ 1 ที่เข้ามาใช้บริการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ (Medical Tourism) ในประเทศไทย สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจซ้ำเติมภาคการท่องเที่ยวที่ปัจจุบัน ก็ได้รับผลกระทบอย่างมากจาก COVID-19 ที่ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนซึ่งมีสัดส่วนกว่า 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง
จะเห็นได้ว่านอกจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการส่งออกของไทย โดยรวมแล้ว ความปั่นป่วนในตลาดน้ำมันก็เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่ผู้ส่งออกไทยต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดว่าสงครามราคาน้ำมันข้างต้นจะจบลงอย่างไร โดยหากรัสเซียเปลี่ยนใจกลับสู่โต๊ะเจรจากับซาอุดีอาระเบียอีกครั้ง ก็อาจทำให้ราคาน้ำมันเด้งกลับได้เช่นกัน ผู้ส่งออกจึงควรต้องติดตามทิศทางราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ EXIM BANK พร้อมเป็นพี่เลี้ยงให้ผู้ส่งออกทั้งบริการทางการเงินและเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 และราคาน้ำมันที่ปรับลดลง อันจะช่วยประคับประคองการส่งออกของไทยปี 2563 ไม่ให้แย่ลงไปกว่าที่เป็นอยู่