เปิดใจ ! แรงบันดาลใจเด็กวิทย์ มธ. อยากเรียน FIN หลักสูตรพันธุ์ใหม่ วิทยาศาสตร์+นวัตกรรม สู่อาชีพ “นักนวัตกรรมอาหาร”

ข่าวทั่วไป Tuesday March 10, 2020 11:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 มี.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ เรียนรู้จากประสบการณ์จริงในอุตสาหกรรมอาหารชั้นนำของประเทศ เรียนจบ ไอเดียเจ๋ง สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป ก้าวสู่นักธุรกิจวงการอาหารSCI-TU ผลิตบัณฑิตตอบโจทย์ภาคการผลิต และสอดรับกับนโยบายของประเทศสู่อุตสาหกรรม 4.0 “นวัตกรรม” เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนทุกภาคธุรกิจ ไม่เว้นแม้กระทั่งอุตสาหกรรมอาหาร และเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับระดับโลก อาหารในยุคนี้จำเป็นต้องผสานระหว่างวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผลทางการเกษตร ทุกวันนี้นักนวัตกรรมอาหาร จึงเป็นอาชีพมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจุบัน “SCI-TU” หรือ “คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” (มธ.) ได้เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทางอาหาร (Food Science and Innovation Program: FIN) โดยนักศึกษาที่เข้ามาเรียนหลักสูตรดังกล่าว เปิดใจถึงแรงบันดาลใจของชีวิตกับการเรียน FIN บันไดก้าวสำคัญสู่ “นักนวัตกรรมอาหาร” ให้กับประเทศไทย “ยกระดับอาหารถิ่นอีสานสู่เรดี้มีลสุดสะดวก” นายวีรเชษฐ์ ชมกลาง นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 หลักสูตรวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทางอาหาร (FIN) เล่าว่า ที่สนใจเข้ามาศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทางอาหาร เพราะประเทศไทย เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก การเรียนหลักสูตร FIN สู่การเป็นนักนวัตกรรมอาหาร เพื่อเป็นส่วนหนึ่งขับเคลื่อนการผลิตอาหารแปรรูปผ่านการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งในยุคทศวรรษที่ 21 ผ่านมาถึง 20 ปีแล้ว ประเทศไทยต้องเร่งสร้างมูลค่าเพิ่มทางอาหารตอบโจทย์กับอุตสาหกรรม 4.0 ประกอบกับการได้สัมผัสธุรกิจอาหารของครอบครัวที่จังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่ช่วงเด็กจนกระทั่งโต จึงทำให้มีความหลงใหลในอาหาร โดยในอนาคตวางเป้าหมายของชีวิตต้องการก้าว สู่อาชีพ “นักนวัตกรรมอาหารอีสานสำเร็จรูปพร้อมทาน” (Ready Meal) อาทิ แกงป่า แกงขี้เหล็ก สามารถอุ่นในไมโครเวฟได้ หลักการสร้างนวัตกรรมอาหารภาคอีสาน อยู่บนพื้นฐานการสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างเศรษฐกิจให้กับจังหวัดต่อไปในอนาคต” สำหรับจุดเด่นของการเรียนหลักสูตร FIN ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะเป็นสถาบันมุ่งบ่มเพาะบัณฑิตให้สามารถทำงานได้จริง ผ่านการฝึกฝนในภาคปฏิบัติจริงจากอุตสาหกรรมอาหารชั้นนำของประเทศ ที่ร่วมสอนให้กับนักศึกษา 10 เดือน ตลอดในช่วงของการศึกษาในระยะ 3.5 ปี ทำให้เราค้นหาตัวเองเจอและเร็วก่อนเรียนจบ รู้ว่าชอบหรือถนัดกับอาหารประเภทใด มีความสนใจด้านใดเป็นพิเศษหรือไม่ และได้เรียนรู้เทคนิคกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ ๆ เพื่อให้เก็บอาหารได้นานขึ้น ขณะที่การเรียนในมหาวิทยาลัย นอกจากการเรียนการสอนทางด้านวิชาการอย่างเข้มข้นแล้วนั้น ยังสนุกกับเรียนรู้โปรแกรมเพื่อการออกแบบผลิตภัณฑ์ และตราสินค้า อีกทั้งมีการสอนพัฒนาทักษะแนวคิดก้าวสู่ผู้ประกอบการ นับว่าเป็นศาสตร์แห่งการประยุกต์ที่เติมเต็มความรู้ทางด้านอาหารครบทุกมิติให้กับนักศึกษา “ต่อยอดความรู้ปั้นซุปเปอร์ฟู้ดเพื่อผู้ป่วยเบาหวาน” นางสาวกนกพร อ้นถาวร นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 สาขาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. (SCI-TU) เล่าว่า การตัดสินใจเรียนหลักสูตร Fin ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะมีแพชชั่นทางด้านอาหาร ประกอบกับนิสัยส่วนตัวชื่นชอบงานวิจัย ชอบศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์ และการคิดค้นอะไรใหม่ ๆ และ กระบวนการเรียนที่ SCI-TU เน้นการปฏิบัติจริง การศึกษาตลอดระยะเวลา 3.5 ปี ต้องผ่านการฝึกอบรมกับผู้ประกอบการธุรกิจอาหารหลากหลายวงการ ทั้งทางด้านฟู้ดเทค (Food Tech) ซุปเปอร์ฟู้ด (Super Food) เป็นต้น ช่วยเปิดมิติประสบการณ์ทำงานจริงได้กว้างมากขึ้น “นวัตกรรม มีความสำคัญในอุตสาหกรรมอาหารในประเทศอย่างมาก การที่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. เปิดหลักสูตรดังกล่าวขึ้นมา นับว่าตอบโจทย์กับความต้องการของอุตสาหกรรมโลก เพราะไทยเป็นประเทศที่มีผลผลิตทางการเกษตรในปริมาณมาก เราสามารถนำความรู้และความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมา 3.5 ปี เพื่อพัฒนานวัตกรรมอาหารแปรรูป ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มอาหารให้มีอายุการใช้งานได้นานขึ้น” จากแพชชั่นที่มีในอาหารจนกระทั่งได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองรัก เมื่อเรียนจบหลักสูตรแล้วนั้น เตรียมนำองค์ความรู้ที่ได้รับทั้งทฤษฏี ด้านการตลาด การดีไซน์แพกเกจจิ้ง (Packaging Design) และการฝึกงานซึ่งได้สัมผัสประสบการณ์ตรงจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมอาหารชั้นนำของประเทศ พร้อมก้าวสู่นักนวัตกรรมอาหารในอุตสาหกรรม เพื่อเก็บเกี่ยวชีวิตของการทำงานในวงการฟู้ดก่อน และในอนาคตมองถึงการผันตัวเป็นเจ้าของกิจการอาหาร โดยมุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น อาหารที่เหมาะสมกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ด้าน รศ.ดร.ประภาศรี เทพรักษา หัวหน้าสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. (SCI-TU) กล่าวเสริมว่า สำหรับหลักสูตรวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทางอาหาร (Food Science and Innovation Program) ของทาง SCI-TU เปิดการเรียนการสอนมาตั้งแต่ปี 2561 โดยเป็นหลักสูตรที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย โดยมุ่งเน้นการผลิต “นักนวัตกรรมอาหาร” ที่มีความรู้ความชำนาญทางวิชาชีพ (Technical skills) ผ่านการฝึกฝนความชำนาญในการปฏิบัติงานตำแหน่งต่าง ๆ ในโรงงานอุตสาหกรรมที่ร่วมจัดการเรียนการสอน ควบคู่กับการฝึกฝนทักษะที่นอกเหนือจากวิชาชีพ (Soft skills) ได้แก่ ทักษะกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design thinking) การคิดสร้างสรรค์ (Creative thinking) และการคิดเชิงธุรกิจ (Business thinking) เพื่อสร้างบุคลากรที่ตอบโจทย์ภาคการผลิตและสอดรับกับนโยบายของประเทศสู่อุตสาหกรรม 4.0 และในอนาคต ผศ.ดร.ณัฐธนนท์ หงส์วริทธิ์ธร คณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. (SCI-TU) เผยว่า อุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยในขณะนี้ ต้องตื่นตัวกับการสร้างนวัตกรรมทางอาหารเพิ่มขึ้น เพื่อที่ประเทศไทยจะสามารถผลิตอาหารตรงกับความต้องการของตลาดโลก โดยเทรนด์นวัตกรรมอาหารมีความหลากหลาย ทั้งในกลุ่มซุปเปอร์ฟู้ด (Super Food) อาหารโปรตีนสำหรับอนาคต (The Future Protein) เทคโนโลยีการแปรรูปอาหารขั้นสูง (Advanced Food Processing Technology) หรือกระทั่งการสร้างนวัตกรรมอาหารความเชื่อมโยงกับสุขภาพและการแพทย์ (The Crossing of Health, Food and Medicine) ล้วนแล้วแต่เป็นอาหารแห่งอนาคตทั้งสิ้น ดังนั้น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. จึงพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตบัณฑิต “นักนวัตกรรมอาหาร” คุณภาพ เข้ามาเป็นฟันเฟืองสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนและยกระดับอุตสาหกรรมอาหารให้ได้รับการยอมรับระดับโลกได้มากขึ้นในอนาคต สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจศึกษาต่อใน “หลักสูตรวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทางอาหาร” (FIN) สามารถตรวจสอบคุณสมบัติและสมัครออนไลน์ผ่านระบบ TCAS (www.mytcas.com) ได้ใน 2 รอบ ดังนี้ รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน (Admission 1) ระหว่างวันที่ 17-27 เมษายน 2563 และ รอบที่ 4 รับกลางร่วมกัน (Admission 2) ระหว่างวันที่ 7-20 พฤษภาคม 2563 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิต โทรศัพท์ 02-564-4440-59 ต่อ 2010 หรือ 084-075-1355 เฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/Foodsciencetu www.facebook.com/ScienceThammasat และ หรือเว็บไซต์ https://sci.tu.ac.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ