ฟิทช์จัดอันดับเครดิตภายในประเทศหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิชุดใหม่ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ‘AA+(tha)’

ข่าวทั่วไป Friday August 19, 2005 12:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่ระดับ “AA+(tha)” แก่หุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. (ปัจจุบัน ฟิทช์จัดอันดับเครดิตปตท. ที่ระดับ “AA+(tha)”/“F1+(tha)” แนวโน้มเครดิตเป็นบวก) ครั้งที่ 2/2548 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2563 มูลค่า 4,118 ล้านบาท
อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของปตท.ในธุรกิจก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในประเทศไทย ความสำคัญของปตท.ในการสนองนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางด้านพลังงานในประเทศไทย รวมถึงการกำหนดทิศทางการพัฒนากิจการพลังงานของประเทศ อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่แข็งแกร่งโดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ การสนับสนุนจากรัฐบาล คณะผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจเป็นอย่างดี และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง ปตท.ได้รับประโยชน์จากการเป็นผู้ดำเนินการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ การจัดหาและการจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติเพียงรายเดียวในประเทศไทย เนื่องจากปตท.มีเครือข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่ครอบคลุมพื้นที่การใช้ก๊าซธรรมชาติเพียงรายเดียวในประเทศ และมีสัญญาการจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติระยะยาวกับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ทุกรายในประเทศ นอกจากนี้การลงทุนที่สูงในการก่อสร้างระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติได้มีส่วนช่วยจำกัดการแข่งขันจากผู้ลงทุนรายใหม่อีกด้วย ปตท.ยังเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยโดยผ่านการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท. สผ.) โดยมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมมากที่สุด และมีปริมาณการผลิตปิโตรเลียมสูงเป็นอันดับที่สองในประเทศไทย ปตท.ยังเป็นผู้จัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในประเทศไทยเกือบทั้งหมด และเป็นผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ในธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และธุรกิจน้ำมัน โดยมีส่วนแบ่งการตลาดที่ระดับประมาณ 37% และ 33% ตามลำดับในปี 2547 ธุรกิจก๊าซธรรมชาติเป็นธุรกิจที่สำคัญในการสร้างกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานซึ่งค่อนข้างจะคงที่ให้กับปตท. เนื่องจากการที่ปตท.มีสัญญาการจัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติระยะยาว โครงสร้างราคาซื้อขายก๊าซธรรมชาติที่ปตท.สามารถส่งผ่านต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ปตท.รับซื้อไปให้กับผู้ซื้อได้ และราคาก๊าซธรรมชาติที่ค่อนข้างจะคงที่เมื่อเปรียบเทียบกับราคาน้ำมัน
ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่องและราคาน้ำมันที่สูงเป็นปัจจัยสนับสนุนผลการดำเนินงานของปตท. โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2548 ปตท. มี EBITDA เท่ากับ 5.32 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อันเป็นผลมาจากการเติบโตของ EBITDA จากธุรกิจกลุ่มก๊าซธรรมชาติ (ปตท. สผ. มี EBITDA เพิ่มขึ้น 26.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติและโรงแยกก็ซมี EBITDA เพิ่มขึ้น 19.8%) รวมถึง EBITDA ที่เพิ่มขึ้นมาจากการรวมบัญชี บริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (RRC) เมื่อเดือนธันวาคม 2547 ณ สิ้นไตรมาสสองปี 2548 ปตท. มีหนี้สินและหนี้สินสุทธิ 1.58 แสนล้านบาท และ 1.10 แสนล้านบาทตามลำดับ ลดลงเมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2547 โดยเป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างหนี้ที่เสร็จสมบูรณ์ของ RRC แต่ระดับของหนี้สินและหนี้สินสุทธิเพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2548 อันเป็นผลจากเงินสดในมือที่ลดลงจากการจ่ายเงินปันผลและเงินลงทุนที่สูง อย่างไรก็ตามสถานะทางการเงินของปตท.ยังคงแข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 1.2 เท่า ณ สิ้นไตรมาสสองปี 2548 (เทียบกับ 1.4 เท่า ณ สิ้นปี 2547 ) และมีอัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ระดับ 12.3 เท่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2548 (เทียบกับ 9.4 เท่า ในปี 2548) นอกจากนี้ปตท.ยังมีสภาพคล่องที่สูงโดยมีเงินสดในมืออยู่ที่ระดับ 4.81 หมื่นล้านบาทและยังมีสัดส่วนหนี้สินระยะสั้นที่ต่ำ (อยู่ที่ระดับ 1.08 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสสองปี 2548)
อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงแผนการลงทุนในอนาคตของปตท.ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่อความผันผวนของราคาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และอัตราแลกเปลี่ยน และความเสี่ยงในการเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎระเบียบและข้อบังคับ ปตท. มีแผนการลงทุนในโครงการต่างๆซึ่งรวมถึงการลงทุนในบริษัทร่วมทุนมูลค่า 2.12 แสนล้านบาทหรือ 5.6 พันล้านดอลล่าร์ในช่วงปี 2548 ถึง 2552 โดยร้อยละ 75 เป็นการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้ ปตท.ได้เข้าทำสัญญาที่จะซื้อหุ้น 31.5% ของบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPI ด้วยเงินลงทุน 2.03 หมื่นล้านบาท แม้ว่าแผนการลงทุนที่สูงจะทำให้ภาระหนี้สินสุทธิของปตท.เพิ่มขึ้นในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า แต่คาดว่าปตท.น่าจะรักษาสถานะทางการเงินและสภาพคล่องทางการเงินที่แข็งแกร่งไว้ได้ เนื่องจากแนวโน้มความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดของบริษัทที่ยังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าการเข้าร่วมลงทุนใน TPI จะมีส่วนช่วยเสริมในการดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและน้ำมันของปตท. แต่ก็จะทำให้ปตท. มีความเสี่ยงจากความผันผวนของธุรกิจปิโตรเคมีมากขึ้น
แนวโน้มเครดิตเป็นบวกของปตท. สะท้อนถึงผลประกอบการของบริษัทที่ดีเกินความคาดหมายโดยได้รับอานิสงค์จากระดับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และการคาดหมายว่าปตท.จะนำเงินสดส่วนเกินที่ได้ไปขยายการลงทุนต่อในธุรกิจหลักและยังสามารถรักษาสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งได้ในอนาคต
ในปี 2544 ปตท.ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และรัฐบาลได้ขายหุ้นของปตท.ออกไปบางส่วน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของปตท. โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นโดยตรงที่ระดับ 52% และเป็นที่คาดการณ์ว่ารัฐบาลจะยังคงรักษาความเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของปตท.ต่อไป ปตท.เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยโดยมีมูลค่าตลาดสูงถึง 6.49 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม ปี 2548
ติดต่อ
วสันต์ ผลเจริญ +662 655 4763
อรวรรณ การุณกรสกุล +662 655 4766
Vincent Milton +662 655 4759
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) เป็นการวัดระดับความน่าเชื่อถือในเชิงเปรียบเทียบกันระหว่างองค์กรในประเทศนั้นๆ โดยจะใช้ในประเทศที่อันดับเครดิตแบบสากลของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อันดับเครดิตขององค์กรที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับองค์กรที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในตลาดในประเทศเป็นหลักและจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย ดังนั้นอันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ