กรุงเทพฯ--7 ม.ค.--โอเอซิส มีเดีย
รับสร้างบ้านปี 2548 เป้าหมายมูลค่าตลาดรวม 7,000 ล้านบาท
ตลาดรับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลปี 2547 เติบโตเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการกระตุ้นการรับรู้และสร้างการยอมรับต่อผู้บริโภคและประชาชน ของกลุ่มผู้ประกอบการในนามสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ตรงข้ามกับภาคอสังหาฯหรือธุรกิจบ้านจัดสรรในปีนี้ พบว่ามูลค่ารวมต่ำกว่าตัวเลขที่ประเมินไว้เมื่อต้นปี 2547 เนื่องเพราะความต้องการซื้อบ้านของผู้บริโภคลดลงจากปี 2546 ทำให้ผลประกอบการของหลายๆบริษัทภาคธุรกิจบ้านจัดสรรไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์เอาไว้ จะเห็นได้ว่าธุรกิจรับสร้างบ้านสวนกระแสภาคอสังหาฯอย่างมาก และน่าสนใจติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจรับสร้างบ้าน ที่มีการรวมตัวกันผลักดันและขับเคลื่อนธุรกิจนี้ให้เติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2548 ด้วยการสร้างการยอมรับขยายวงกว้างออกไปทั่วประเทศ และต่างจากอดีตที่มีการแข่งขันกันกระจุกตัวอยู่เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเท่านั้น
ฝ่ายการตลาดบริษัท ปทุมดีไซน์ ดีเวลลอป จำกัด ประเมินตัวเลขบ้านสร้างเอง เฉพาะในเขตกรุงเทพและปริมณฑลสิ้นสุด ณ สิ้นเดือนธันวาคมปี 2547 คาว่ามีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 20,000 หน่วยเศษ หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท(เฉลี่ย 1.5 ล้านบาท : หน่วย) โดยกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้านมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ประมาณ 4,000 หน่วย มูลค่าประมาณ 6,000 ล้านบาท คิดเป็น 20 % ของมูลค่ารวมบ้านสร้างเอง เติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2546 ประมาณ 32 %(ปี 2546 มูลค่าตลาดรวมประมาณ 4,500 ล้านบาท) ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญๆที่ทำให้มูลค่าตลาดรับสร้างบ้านเติบโต พอประเมินได้ 2 ปัจจัยหลักๆได้แก่ ภาพของธุรกิจรับสร้างบ้านเป็นที่รู้จักและชัดเจนขึ้นในสายตาของผู้บริโภค และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาให้ความนิยมสร้างบ้านเองเพิ่มมากขึ้น โดยจากการทำวิจัยกับกลุ่มตัวอย่าง อายุตั้งแต่ 30 ปี ขึ้นไป และมีรายได้ต่อครอบครัวตั้ต่อเดือนตั้งแต่ 25,000 บาทขึ้นไป อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล จำนวน 3 ครั้งพบว่า ความต้องการที่อยู่อาศัยในอีก 1-5 ปีข้างหน้าของคนกลุ่มนี้ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของความต้องการสร้างบ้านเอง และความต้องการซื้อบ้านจัดสรร โดยความต้องการซื้อบ้านจัดสรรยังคงมาเป็นที่หนึ่ง รองลงมาเป็นการใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้าน
สำหรับเหตุผลสำคัญอีกประการที่ทำให้ผู้บริโภค หันมานิยมใช้บริการจากบริษัทรับสร้างบ้านมากขึ้นคือ การที่ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบทุกขั้นตอนของรายละเอียดระหว่างการสร้างบ้านได้ แม้ว่าอาจจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากอยู่บ้างก็ตามแต่ถือว่าคุ้มค่า เพราะได้มีส่วนร่วมและต้องการให้ได้บ้านที่สร้างมีคุณภาพสูง มีอายุการใช้งานที่ยาวยาวนาน คุ้มค่ากับเงินลงทุน ซึ่งหากซื้อบ้านโครงการจัดสรรจะไม่สามารถไปสั่งผู้รับเหมาหรือบอกให้เจ้าของโครงการทำตามที่ต้องการได้มากนัก เพราะโดยทั่วไปโครงการบ้านจัดสรร จะใช้วิธีการสร้างคราวละมากๆและแข่งกับเวลาเป็นสำคัญ เจ้าของบ้านจะได้ตรวจความเรียบร้อยอีกทีก็ต่อเมื่อใกล้ๆจะโอนบ้าน ซึ่งบางสิ่งบางอย่างไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากนัก เรื่องนี้จึงนับว่าเป็นจุดแข็งของธุรกิจรับสร้าง
แนวโน้มความต้องการสร้างบ้านเองปี 2548
ตลาดบ้านสร้างเองหรือตลาดรับสร้างบ้าน ยังคงมีกำลังซื้อที่แน่นอนจากผู้บริโภคสม่ำเสมอตลอดมา ทั้งนี้จากสถิติตั้งแต่ปี 2543 — 2547 ตัวเลขจดทะเบียนก็ยังสามารถรักษาระดับการเติบโตอย่างสม่ำเสมอ แตกต่างจากบ้านจัดสรรที่ตัวเลขเพิ่ม — ลดค่อนข้างหวือหวามาก ทั้งนี้เนื่องมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคของทั้ง 2 กลุ่มมีความแตกต่างกัน ผู้บริโภคที่ต้องการสร้างบ้านในที่ดินของตนเอง จะมีวินัยการออมเงินและมีการวางแผนระยะเวลาที่จะสร้างบ้านหลังใหม่มาเป็นอย่างดี ซึ่งส่วนใหญ่ประมาณ 70 % จะใช้เงินสดจ่ายค่าก่อสร้าง ส่วนที่เหลือ 30 % เท่านั้นจึงเลือกกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินจากข้อมูลพบว่าตัวเลขมูลค่าตลาดบ้านสร้างเองกว่า 30,000 ล้านบาท เป็นเพียงตัวเลขความต้องการของผู้บริโภคเฉพาะในเขตกรุงเทพและปริมณฑลเท่านั้น ยังมีความต้องการของผู้บริโภคในต่างจังหวัดอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะจังหวัดใหญ่ๆทั่วทุกภูมิภาคที่เป็นจังหวัดท่องเที่ยวหรือเป็นเมืองส่งเสริมอุตสาหกรรม เช่น ชลบุรี ระยอง สระบุรี นครสวรรค์ นครราชสีมา ขอนแก่น
เชียงใหม่ ภูเก็ต ฯลฯ ซึ่งในอดีตบริษัทรับสร้างบ้านชั้นนำ ส่วนใหญ่ยังไม่คิดที่จะขยายการลงทุนหรือการบริการให้กว้างออกไป ทำให้โอกาสในการจะขยายฐานธุรกิจรับสร้างบ้านไปสู่ตลาดใหม่ๆมีขีดจำกัด มีเพียงบริษัทรับ
สร้างบ้านอยู่ 3 — 4 รายเท่านั้น ที่เริ่มขยายสาขาออกไปยังต่างจังหวัด อาทิเช่นโมเดิร์นกรุ๊ป , มีนบุรี , ปทุมดีไซน์ เป็นต้น ซึ่งแต่ละบริษัทประสบผลสำเร็จและได้รับการตอบรับด้วยดีจากผู้บริโภค
ดังนั้นผู้ประกอบการที่มีความพร้อมและมีศักยภาพที่จะขยายธุรกิจอออกไปได้ ควรหันมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะหากสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเหล่านี้ได้ มูลค่าตลาดรวมรับสร้างบ้านจะสามารถเติบโตเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว เป็นการลดการแข่งขันในพื้นที่กรุงเทพปริมณฑลลง และเป็นการขยายฐานธุรกิจรับสร้างบ้านออกไปให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยในปี 2547 มูลค่าตลาดรวมรับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพปริมณฑล เพิ่มขึ้นเป็น 6,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 2548 สมาคมฯประเมินว่าจะมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 7,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 15 % หรืออาจจะมากกว่านั้น
เป้าหมายการพัฒนาตลาดรับสร้างบ้านปี 2548
นายสิทธิพร สุวรรณสุต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปทุมดีไซน์ ดีเวลลอป จำกัด กล่าวว่า หลายฝ่ายประเมินมูลค่าตลาดรวมรับสร้างบ้านอย่างไม่เข้าใจ โดยมักจะนำตัวเลขจดทะเบียนเฉพาะในเขตกรุงเทพและปริมณฑลมาเปรียบเทียบกับบ้านจัดสรร ซึ่งใน 2 — 3 ปีที่ผ่านมานี้ สัดส่วนตัวเลขจดทะเบียนบ้านจัดสรรเติบโตสูงขึ้นกว่า 50,000 หน่วยทิ้งห่างจำนวนหน่วยบ้านสร้างเองกว่าเท่าตัว แน่นอนว่าภาครัฐย่อมจะให้ความสำคัญ และออกมาตรการต่างๆมากระตุ้นผ่าน 3 สมาคมธุรกิจ(สมาคมอสังหาฯ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุด) แต่ถ้าทุกฝ่ายลองพิจารณาตัวเลขภาพรวมให้ขยายกว้างออกไปทั่วประเทศ มิใช่เฉพาะเพียงกรุงเทพปริมณฑลจะพบว่า ตัวเขจดทะเบียนบ้านสร้างเองปี 2547 (ม.ค.-ต.ค.) สูงถึง 15,854 หน่วย ซึ่งตัวเลขดังกล่าวไม่แน่ใจว่าภาครัฐและภาคการผลิตวัสดุก่อสร้างพิจารณากันอย่างไร หากว่าอนาคตสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน จะสามารถขยายตลาดออกไปหรือรวบรวมผู้ประกอบการเข้ามาในสมาคมฯได้
สำหรับตนเองในฐานะเลขาธิการสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน พยายามศึกษาและให้ความสนใจภาพรวมของตลาดรวมของทั่วประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว แต่อย่างไรก็ดียอมรับว่าศักยภาพของผู้ประกอบการในธุรกิจรับสร้างบ้าน ยังไม่สามารถแชร์ส่วนแบ่งตลาดมาครองได้เป็นส่วนใหญ่ เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจและรู้จักธุรกิจรับสร้างบ้านอย่างแพร่หลาย ดังนั้นเมื่อถือกำเนิดสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านขึ้นมา การสร้างการรับรู้และพัฒนาตลาดรวมให้ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค จึงเป็นสิ่งที่สมาคมฯพึงให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก รวมทั้งการพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความเป็นมืออาชีพและเข้าสู่ระบบการแข่งขันธุรกิจอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะเรื่องการเสียภาษีบนฐานเดียวกัน
ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันต้องยอมรับความจริงว่า การแข่งขันมีความได้เปรียบเสียเปรียบกันค่อนข้างมากระหว่างประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี กับผู้รับเหมารายย่อยทั่วไปที่หลบเลี่ยงการเสียภาษี และทำให้ภาครัฐต้องสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีในธุรกิจนี้กว่า 50 % ซึ่งผู้บริโภคเองก็มีส่วนสำคัญในการหลบเลี่ยงภาษี และเมื่อถูกผู้รับเหมารายย่อยเอาเปรียบหรือผิดสัญญาจ้างหรือทิ้งงานก่อสร้างก็จะไม่กล้าฟ้องร้องดำเนินคดี เนื่องจากตัวเองก็มีส่วนผิดอยู่ด้วยที่ช่วยกันหลบเลี่ยงภาษี(ภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพราะต้องการประหยัดค่าจ้างก่อสร้างให้ถูกลง ซึ่งไม่คุ้มกันเลยเมื่อเกิดปัญหาดังตัวอย่างที่กล่าวมา ฉะนั้นภาครัฐควรเร่งทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการในธุรกิจ ประชาชน และเร่งจัดระบบเพื่อสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขัน และคุ้มครองผู้บริโภคได้เมื่อกรณีเกิดปัญหาผิดสัญญาจ้าง
นายสิทธิพร กล่าวต่อไปว่าปี 2548 สมาคมฯมีแผนงานที่จะประชาสัมพันธ์ธุรกิจรับสร้างบ้านผ่านกิจกรรมต่างๆตลอดทั้งปี รวมทั้งยังร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรวัสดุก่อสร้าง สื่อสิ่งพิมพ์ ธนาคาร และธุรกิจที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมซึ่งกันและกันเพื่อสร้างการรับรู้ของผู้บริโภค โดยแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจรับสร้างบ้านยังมีอนาคตสดใส ทั้งนี้เกิดจากผู้บริโภคเองเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมการสร้างที่อยู่อาศัย โดยจะให้ความสำคัญและศึกษาข้อมูลสินค้า รวมทั้งตัวผู้ประกอบการก่อนตัดสินใจซื้อหรือสร้างบ้านมากขึ้น ฉะนั้นผู้ประกอบการเองก็จะต้องมีการพัฒนาสินค้า และเผยแพร่ความรู้ ข้อมูล และข่าวสารสู่สาธารณะให้มากยิ่งขึ้น อย่ามัวปิดบังข้อมูลเพราะกลัวว่าคู่แข่งขันจะรู้ทันเรา ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วกลับเป็นผลเสียในภาพรวมธุรกิจและองค์กรมากกว่า เมื่อผู้บริโภคไม่เข้าใจสินค้าและเกิดความไม่ไว้วางใจผู้ประกอบการ ฉะนั้นทุกๆฝ่ายควรจะช่วยๆกันสร้างความเข้าใจ
ประการสุดท้ายที่ต้องการจะผลักดันให้ตลาดเติบโตขึ้นคือ การพลิกตัวเลขสินเชื่อของกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการสร้างบ้านเอง จากเดิมที่สร้างด้วยเงินสด 70 % ใช้สินเชื่อ 30 % ให้เป็นตรงข้ามคือสินเชื่อ 70 % เงินสด 30 % ซึ่งจะต้องเร่งสร้างความเข้าใจกับผู้ต้องการสร้างบ้านว่า ไม่จำเป็นต้องรอเก็บเงินจนครบจึงจะสร้างบ้านได้ ทั้งนี้ยังมีผู้บริโภคอีกจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ และหากสามารถสร้างการรับรู้ตลาดรับสร้างบ้านจะมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก.
ข้อมูลโดย : ฝ่ายการตลาด บริษัท ปทุมดีไซน์ ดีเวลลอป จำกัด--จบ--