กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก คณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย และนางสาวพิมพ์พาวดี พหลโยธิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF- Thailand) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) เพื่อความร่วมมือกันทางวิชาการ ในโครงการเสริมสร้างความรู้ด้านการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) ให้กับนิสิตคณะวนศาสตร์ ในชั้นปีที่ 4 เพื่อฝึกอบรมให้นิสิตเกิดความรู้ความเข้าใจงานด้านการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ สำหรับนิสิตผู้ที่จะสำเร็จการศึกษาและออกไปปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานด้าน การอนุรักษ์ ในตำแหน่งนักวิชาการป่าไม้ และบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า โดยกิจกรรมนี้ยังจะเป็นโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนาเทคนิคการฝึกอบรม การวิเคราะห์ข้อมูลจากระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพในลักษณะฐานข้อมูลขนาดใหญ่แก่ทรัพยากรบุคคลระดับผู้นำหน่วยในพื้นที่อนุรักษ์ในปัจจุบัน และอนาคตอย่างมีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพต่อไป
“การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ เป็นระบบการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานป้องกันและ ปราบปราม รวมทั้งใช้การจัดการพื้นที่อนุรักษ์ ภายใต้หลักวิชาการ โดยในปัจจุบัน กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ใช้ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพในพื้นที่อนุรักษ์ จำนวน 213 แห่งทั่วประเทศ โดยมีการติดตามตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติงานลาดตระเวนอย่างต่อเนื่องและมีมาตรฐาน
บันทึกข้อตกลงความเข้าใจที่ร่วมกันลงนามในวันนี้ มุ่งเน้นความร่วมมือระหว่างองค์กร ให้เกิดเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนางานด้านการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของนิสิตคณะวนศาสตร์ และบุคลากรของกรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยเน้นการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติร่วมกัน เพื่อไปถึงเป้าหมายในการเสริมสร้างประสิทธิภาพระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ และเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่งานด้านการอนุรักษ์ต่อไป” นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าว
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF สำนักงานประเทศไทย ในฐานะองค์กรวิทยาศาสตร์ ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์มาอย่างยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ และ WWF ถือเป็นหนึ่งในองค์กรขนาดใหญ่ที่สุดระดับโลกที่มุ่งมั่นทำงานด้าน การอนุรักษ์ ปัจจุบัน WWF มีผู้สนับสนุนมากกว่า 5 ล้านคนจากทั่วโลกและเครือข่ายขององค์กรทำงานร่วมกันในกว่า 100 ประเทศ พันธกิจของ WWF คือการหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาวะธรรมชาติของโลกในเชิงลบ และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนของโลก ที่มีมนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติได้อย่างมีความสมดุลด้วยการอนุรักษ์สภาพชีววิทยาที่หลากหลาย และมุ่งทำงานเพื่อรักษา ทรัพยากรด้านพลังงานให้ถูกนำกลับมาใช้งานอย่างสมดุล และยั่งยืน รวมทั้งสนับสนุนการทำงานเพื่อหยุดยั้งมลพิษและการบริโภค ที่เกินพอดี สามารถศึกษาข้อมูลการทำงานของเราเพิ่มเติมได้ที่ www.wwf.or.th