กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--กรมส่งเสริมการเกษตร
กรมส่งเสริมการเกษตร ลุยต่อยอดตลาด “ชาไทย” ปี 2563 วางแผนส่งเสริมเครือข่ายให้เกษตรกรผู้ปลูกชาเพื่อสร้างโอกาสทางการตลาด และขยายผลโมเดลสู่พื้นที่อื่น
กรมส่งเสริมการเกษตร จัดทำโครงการความร่วมมือในการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการปลูกชาในพื้นที่โครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรในภาคเหนือปลูกชาทดแทนพืชเสพติด ตามคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญของสถานีชาต็อกไลรัฐอัสสัม สาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ปลูกชาอันดับสองของโลกรองจากจีน เพื่อพัฒนาการปลูกชาไทยหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าชาอัสสัมในประเทศไทย สนองพระราชดำริ
นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่กรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินโครงการฯ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกและใช้ประโยชน์จากชาไทยหรือชาอัสสัมในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ น่าน เชียงใหม่ และเชียงราย ได้รับการตอบรับที่ดี และได้ผลผลิตชาในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทย ผลิตชาได้เป็นอันดับสามของอาเซียน โดยนิยมปลูกชา 2 ชนิดคือ ชาจีน หรือ ชาอู่หลง ที่ปลูกเป็นแถวยาว แปลงใหญ่ คุ้นตาคนทั่วไป และชาไทย หรือ ชาอัสสัม ซึ่งเติบโตในแนวป่าเท่านั้น โดย 70 % ของผลิตภัณฑ์ชาในท้องตลาดแปรรูปจากชาไทย ซึ่งเป็นชาที่เหมาะสมกับการปลูกในพื้นที่ภาคเหนือของไทย และสามารถปลูกแบบอินทรีย์ได้เป็นอย่างดีภายใต้ร่มเงาของป่า ซึ่งปัจจุบันกระแสความนิยมบริโภคสินค้าปลอดภัยมีสูงขึ้นต่อเนื่อง กรมส่งเสริมการเกษตรจึงส่งเสริมให้เกษตรกรรวมถึงชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ปลูกชาไทยอินทรีย์ควบคู่การอนุรักษ์ผืนป่า เป็นการส่งเสริมพึงพาซึ่งกัน
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตรสนับสนุนให้เกษตรกรใช้หลัก “ตลาดนำการเกษตร” โดยแนะนำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการปลูกชาเพื่อทำเมี่ยงเพียงอย่างเดียว มาเป็นการแปรรูปสู่ใบชาแห้งและใบชาแห้งบรรจุถุงสำหรับดื่ม และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างหลากหลาย เช่น ขนม ลูกอม อาหารต่างๆ ตลอดจน สบู่ ยาสีฟัน ยาสระผม และหมอนใบชาดับกลิ่น ประกอบกับเน้นการเพิ่มช่องทางการตลาดและเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกร เช่น การรวมกลุ่มผู้ผลิตชา การยกระดับกลุ่มสู่การเป็นวิสาหกิจชุมชน การขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นต้น เพื่อผลิตชาอินทรีย์คุณภาพ ในรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่ดี สะดวกต่อการซื้อหา อันเป็นการตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่มากยิ่งขึ้น
กรมส่งเสริมการเกษตรวางแผนการดำเนินงานและแนวทางการขยายผลโครงการ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2565 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่โครงการฯ โดยมุ่งเน้นการจัดทำแปลงเรียนรู้การปลูกชาคุณภาพและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชาไทยอย่างต่อเนื่อง เพิ่มช่องทางการตลาดและเชื่อมโยงเครือข่าย เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ มีผลตอบแทนเพิ่มขึ้น มีการรวมกลุ่มสร้างกลุ่มให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ส่งเสริมอาชีพการปลูกชาในพื้นที่โครงการฯ ให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการตามพระราชดำริฯ และสามารถขยายผลไปสู่เกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป