กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กล้วยหอมทองเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และตลาดต่างประเทศ มีความต้องการสูง โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น สศก. โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี (สศท.8) ได้ติดตามสถานการณ์การผลิตกล้วยหอมทอง และร่วมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งผู้ประกอบการและเกษตรกร (สำนักงานพาณิชย์จังหวัด หอการค้าจังหวัด สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้แทนเกษตรกร) ในการจัดทำแผนการส่งเสริมการผลิตกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออกของจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ปัจจุบันการผลิตกล้วยหอมทองของจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีพื้นที่เพาะปลูก จำนวน 3,041 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอพนม มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 16,900 บาท/ไร่ (เริ่มให้ผลผลิตในเดือนที่ 8-10 และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 2 ปี) ระยะเวลาเก็บเกี่ยว สามารถเก็บผลผลิตได้ตลอดทั้งปี ให้ผลผลิตเฉลี่ย 3,600 กก./ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) 28,100 บาท/ไร่ (ณ ราคาที่เกษตรกรขายได้ 12.50 บาท/กก.) ด้านการจำหน่ายผลผลิต สหกรณ์การเกษตรบ้านนาสาร จำกัด เป็นผู้รวบรวมผลผลิต แล้วส่งผ่านบริษัท แพนแปซิฟิค ฟู้ด คอร์ปอเรชั่น จำกัด เพื่อส่งต่อไปยังประเทศญี่ปุ่น ประมาณ 1,500 กก./สัปดาห์ ส่วนการส่งขายในประเทศห้างหุ้นส่วนจำกัด แก้วมีณา (2015) เป็นผู้รวบรวมผลผลิตส่งให้กับเซเว่นอีเลฟเว่น เกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกกล้วยหอมทองเป็นพืชแซม เมื่อพืชหลักเติบโตอย่างเต็มที่จึงต้องเลิกปลูกกล้วยหอมทอง ทำให้ปริมาณผลผลิตไม่แน่นอน อีกทั้ง บางพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำ และประสบภัยธรรมชาติ ทั้งภัยแล้ง อุทกภัย และวาตภัย ส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณของผลผลิตไม่ตรงกับความต้องการของตลาด นอกจากนี้ เกษตรกรที่ต้องการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น ต้องให้ความสำคัญในการบันทึกข้อมูลและผลิตสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อรองรับการตรวจสอบย้อนกลับของประเทศญี่ปุ่น
ด้านนางพัชรารัตน์ ลิ้มศิริกุล ผู้อำนวยการ สศท.8 กล่าวเสริมว่า แนวทางส่งเสริมการผลิตกล้วยหอมทองของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ต้องดำเนินการ มีดังนี้ 1) จัดหาพันธุ์ดี ตรงกับความต้องการของตลาด 2) ประชาสัมพันธ์ด้านการผลิตและการตลาดแก่เกษตรกร รวมถึงติดตามและประเมินผล 3) ส่งเสริมการปลูกกล้วยหอมทองในพื้นที่เหมาะสมและมีศักยภาพ โดยขยายพื้นที่เพื่อรองรับความต้องการของตลาด อีกประมาณ 561 ไร่/ปี และสนับสนุนให้เกษตรกรแบ่งพื้นที่บางส่วนมาปลูกกล้วยหอมทองเป็นพืชหลัก 4) สนับสนุนการตรวจรับรองแปลง GAP และตามมาตรฐานข้อกำหนดของผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงสนับสนุนให้เกษตรกรเข้ามาเป็นเครือข่ายของสหกรณ์และผู้ประกอบการ เพื่อเข้าสู่กระบวนการอบรมการวางแผนและควบคุมคุณภาพการผลิต และ 5) ใช้หลักการตลาดนำการผลิต จับคู่ตลาดกับเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกร มุ่งเน้นให้มีตลาดรองรับผลผลิต และส่งเสริมการทำ Contract Farming รวมถึงการหาตลาด ภายในประเทศเพิ่มเติมเพื่อขยายการผลิตในอนาคต
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มราคาขาย และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมทอง ซึ่งเป็นโอกาสดีของเกษตรกร และสามารถใช้เป็นโมเดลการส่งเสริมการปลูกกล้วยหอมทองให้กับจังหวัดอื่นๆ ต่อไป สำหรับเกษตรกร หรือท่านที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมด้านการผลิตกล้วยหอมทอง สามารถสอบถามได้ที่ สศท.8 โทร. 0 7731 1641 Email: zone8@oae.go.th