สมาคมน้ำตาลเสนอรัฐพัฒนาอ้อย-ปล่อยราคาเสรีหนุนใช้เอทานอลเต็มกำลังช่วยเกษตรกรอย่างยั่งยืน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 11, 2008 15:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 มี.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
3 สมาคมโรงงานน้ำตาล เตรียมเสนอรัฐบาลให้กำหนดแนวทางชัดเจนในการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เพื่อช่วยเกษตรกรชาวไร่อ้อยระยะยาว ชี้ต้องพัฒนาคุณภาพอ้อยและเพิ่มผลผลิตอ้อยต่อไร่ ปล่อยเสรีราคาน้ำตาล ลดเลิกเบนซินหันมาใช้เอทานอล ขณะที่ผู้ผลิตเอทานอลแนะให้รัฐบาลแก้สูตรราคาขายเอทานอล พร้อมสนับสนุนให้มี พ.ร.บ. เอทานอล ขึ้นมารองรับ
นายประกิต ประทีปะเสน ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ขณะนี้ทาง 3 สมาคม เตรียมที่จะเสนอแนวทางสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบให้กับรัฐบาล โดยมีเป้าหมายในการยกระดับมาตรฐานของอุตสาหกรรม และสร้างรายได้ที่มั่นคงให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยในระยะยาว
“ในด้านการช่วยเหลือเกษตรกร ควรจะต้องพิจารณาเรื่องของปริมาณและคุณภาพของอ้อย ราคาอ้อยและน้ำตาล รวมไปถึงการนำผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลไปใช้ประโยชน์” นายประกิตกล่าว
ในเรื่องของปริมาณและคุณภาพของอ้อยนั้น รัฐบาลควรจะจัดตั้งหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนด้านการเพิ่มผลผลิตอ้อยต่อไร่ของเกษตรกรอย่างจริงจัง โดยผลผลิตอ้อยต่อไร่ควรจะเพิ่มจากปัจจุบันประมาณ 10 ตันอ้อยต่อไร่ มาอยู่ที่ประมาณ 15-20 ตันอ้อยต่อไร่ เทียบเท่ากับประเทศผู้ผลิตอ้อยอื่นๆ เช่น ออสเตรเลีย และบราซิล รวมไปถึงการพัฒนาพันธุ์อ้อยให้ได้คุณภาพสูงขึ้นด้วย
นายประกิตกล่าวด้วยว่า ในด้านของราคาอ้อยที่รับซื้อจากเกษตรกรนั้น ในปัจจุบันยังขึ้นอยู่กับราคาน้ำตาลทรายเป็นหลัก แต่ต่อไปน่าจะได้รับผลจากราคาเอทานอลมากขึ้น โดยในส่วนของราคาน้ำตาลทรายในประเทศยังอยู่ในอัตราที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ รัฐบาลจึงควรตัดสินใจพิจารณาเปิดเสรีราคาน้ำตาลให้เป็นไปตามกลไกของตลาดโลก ในขณะเดียวกันส่งเสริมพัฒนาการใช้ประโยชน์จากอ้อยในด้านที่เป็นพืชพลังงานให้มากขึ้นนั้น รัฐบาลควรมีแนวทางในการลดการใช้น้ำมันเบนซินอย่างชัดเจน และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในส่วนของเอทานอลอย่างจริงจัง เพื่อจะได้นำน้ำอ้อย หรือโมลาส ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลมาใช้ประโยชน์ในการผลิตเอทานอลได้มากขึ้น
“ในเรื่องของราคานั้น ปัญหาของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย เป็นเรื่องที่พูดถึงกันทุกปี และก็เป็นภาระของรัฐบาลที่ต้องเข้ามาหาทางช่วยเหลือ แม้จะไม่ได้ใช้งบประมาณของรัฐเข้ามาช่วยโดยตรง แต่หากไม่ได้แก้ปัญหาที่สาเหตุ ก็จะไม่เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้” นายประกิตกล่าวและคาดการณ์ทิศทางของอุตสาหกรรมน้ำตาลในปี 2551 ว่า ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาน้ำตาลในตลาดโลก ทั้งนี้คาดว่าราคาน้ำตาลตลาดโลก จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 11 เซ็นต์ต่อปอนด์ และมีแนวโน้มว่าจะสูงอีกเล็กน้อย เนื่องจากมีการประเมินว่าปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกปีนี้จะยังคงอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 140 ล้านตัน/ปี
ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวอีกว่า ประเทศผู้ผลิตน้ำตาลได้ส่งออกน้ำตาลเข้าสู่ตลาดโลกมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลในโลกยังคงอยู่ในระดับสูง อาทิเช่น ประเทศไทย คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้นประมาณ 500,000 ตัน เนื่องจากฤดูกาลผลิต 2550/51 คาดว่าจะมีผลผลิตอ้อยมากถึง 70 ล้านตัน และมีผลผลิตน้ำตาล 7 ล้านตัน/ปี โดยส่งออกน้ำตาลประมาณ 70% นอกจากนี้ยังมีอินเดีย ซึ่งส่งออกน้ำตาลเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันแล้ว โดยที่ส่งออกประมาณ 2-3 ล้านตัน เป็นต้น
ในส่วนของอุตสาหกรรมเอทานอล ปัจจุบันผู้ผลิตเอทานอลกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก โดยไม่สามารถผลิตเอทานอลได้ตามกำลังการผลิตที่มีอยู่ได้ ต้องลดกำลังการผลิตลงมาเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง ขณะเดียวกันการส่งออกเอทานอลไปต่างประเทศ ก็ยังมีไม่มาก เนื่องจากระบบการขนส่ง การจัดเก็บ เป็นอุปสรรคที่สำคัญ เพราะโรงงานผลิตเอทานอลไม่ได้ตั้งอยู่ตามคลังน้ำมันหรือท่าเรือ ทำให้การขนส่งเอทานอลมาแต่ละครั้งต้องใช้เวลา และยังต้องเช่าคลังเก็บ ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง แม้ว่าราคาจำหน่ายจะได้ราคาดีกว่าในประเทศก็ตาม
ด้านนายสิริวุทธ์ เสียมภักดี นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ขณะนี้ทางสมาคมฯ เตรียมที่จะเข้าหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อเสนอ แนวทางช่วยเหลือผู้ผลิตเอทานอล และแก้ไขสถานการณ์เอทานอลในปัจจุบัน โดยประการแรกจะเสนอให้รัฐบาล กำหนดนโยบายและทิศทางการใช้พลังงานทดแทน (เอทานอล) ให้ชัดเจนว่า รัฐบาลจะส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอลล์ในระดับใด E10,E20, หรือ E85 แนวทางการนำรถ FFV (Flexible Fuel Vehicle) มาใช้ รวมถึงมาตรการการสร้างตลาดรองรับเอทานอลที่จะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นอีกในช่วงปี 2551
ประการที่สอง จะเสนอให้รัฐบาลออกพระราชบัญญัติเอทานอล ให้เป็นกฎหมายเอกเทศ เพื่อให้เกิดความชัดเจนแก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายรวมถึงกฎ ระเบียบ วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้น
ประการสุดท้าย จะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาแก้ไขสูตรอ้างอิงราคาจำหน่ายเอทานอลใหม่ จากเดิมที่อิงราคาต่างประเทศ ให้เปลี่ยนมาอิงราคาการขึ้นลงตามวัตถุดิบที่ใช้ผลิตเอทานอลในประเทศแทน ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตเอทานอลสะท้อนต้นทุนตามความเป็นจริง
“เห็นว่ารัฐบาลปัจจุบัน มีนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน เพื่อลดภาระการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศอยู่แล้ว ซึ่งหากรัฐบาลกำหนดนโยบายพลังงานทดแทนที่ชัดเจนและเอาจริงเอาจังตามที่ประกาศ ก็เชื่อว่าอุตสาหกรรมเอทานอลจะมีอนาคตสดใส เพราะแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมเอทานอล จึงเป็นอุตสาหกรรมพลังงานที่จะช่วยประเทศชาติได้ดีในยามนี้” นายสิริวุทธ์ กล่าวทิ้งท้าย
บริษัท มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด
รายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ: คุณวารุณี คำไชย (แนน)
โทร: 0-2643-1191 ต่อ 23 หรือ 08-1496-6762
e-mail : c_mastermind@hotmail.com,sun_manee@yahoo.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ