ก.พลังงาน ดึงกลุ่มอุตฯ “เอทานอล” 5 แห่ง นำร่องผลิตก๊าซชีวภาพตั้งเป้าผลิตได้ปีละกว่า 130 ล้านลบ.ม.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 11, 2008 15:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 มี.ค.--ก.พลังงาน
ก.พลังงาน เดินหน้าโครงการ “ไบโอแก๊ส” เผยปี 51 ดึงกลุ่มอุตสาหกรรมเอทานอล” 5 แห่ง ผลิตก๊าซชีวภาพ ตั้งเป้าผลิตได้ 130.5 ล้านลบ.ม./ปี คิดเป็นเงิน 1,046.6 ล้านบาท/ปี พร้อมเปิดโอกาสผู้ประกอบการเอทานอลขอรับการสนับสนุนตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 มี.ค.51
พลโทหญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากการเร่งส่งเสริมให้มีการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย ของเสีย หรือขยะอินทรีย์ จากกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ ฟาร์มปศุสัตว์ โรงงานอุตสาหกรรม น้ำมันปาล์ม แป้งมันสำปะหลัง เอทานอล น้ำยางข้น อุตสาหกรรมอาหาร และอื่นๆ เพื่อใช้สำหรับการผลิตไฟฟ้าหรือใช้ทดแทนเชื้อเพลิงชนิดอื่น เช่น น้ำมันเตา ก๊าซLPG นั้น กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการตอบรับเข้าร่วมโครงการ จากผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก ดังนั้นแผนอนุรักษ์พลังงานล่าสุด (2551 — 2554) กระทรวงพลังงานจึงมีนโยบายผลักดันให้มีการผลิตก๊าซชีวภาพในประเทศไทย อย่างเต็มรูปแบบและหลากหลายเพิ่มมากขึ้น โดยกำหนดนโยบายที่จะสนับสนุนการผลิต ก๊าซชีวภาพ ทั้งในด้านการลงทุน การพัฒนาเทคโนโลยี การกำหนดมาตรการทางกฎหมาย เพื่อให้ก๊าซชีวภาพเป็นอีกทางเลือกของการใช้พลังงานในประเทศไทย
สำหรับในปี 2551 นี้ กระทรวงพลังงานได้ดำเนินโครงการ “ส่งเสริมเทคโนโลยี ก๊าซชีวภาพปี พ.ศ.2551” โดยให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมเอทานอล” เพื่อสร้างระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียหรือของเสียที่เกิดจากการผลิต เอทานอล โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจะให้เงินสนับสนุนแก่โรงงานที่เข้าร่วมโครงการฯ เป็นจำนวนสูงถึง 20% ของวงเงินลงทุนทั้งหมด และจะขยายการสนับสนุน ในปีต่อไปเพื่อให้ครอบคลุมจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมเอทานอล” ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมเอทานอลเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการผลิตก๊าซชีวภาพได้ ในปริมาณมากที่สุด เนื่องจากน้ำเสียมีค่า COD (ค่าความสกปรก) สูงกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานเอทานอลทั้งหมด 9 แห่ง มีน้ำเสียจากระบบ 3.5 ล้าน ลบ.ม./ปี และมีโรงงานฯ อีกหลายแห่งที่กำลังก่อสร้างอยู่ ทั้งนี้โรงงาน 1 แห่ง สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ประมาณ 13.5 ล้าน ลบ.ม./ปี ทดแทนน้ำมันเตา 7.44 ล้านลิตร/ปี คิดเป็นเงิน 112 ล้านบาท/ปี และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดปัญหาโลกร้อนได้อีก 22,893 ตัน/ปี
“ประเทศไทยยังมีขยะและน้ำเสียอีกจำนวนมากที่ยังรอให้มีการนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งการจัดทำโครงการฯ นี้จึงเป็นการขยายการส่งเสริมได้หลากหลายขึ้น และถือเป็นโครงการฯ นำร่องในกลุ่มอุตสาหกรรมเอทานอล” ซึ่งในปีแรกจะให้การสนับสนุนโรงงาน เอทานอลจำนวน 5 แห่ง โดยเป้าหมายการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ ปี 51 นี้ คาดว่าสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ 130.5 ล้านลบ.ม./ปี ทดแทนพลังงานไฟฟ้า 10 ล้านหน่วย/ปี ผลิตพลังงานความร้อนทดแทนน้ำมันเตา 67.8 ล้านลิตร/ปี คิดเป็นผลการประหยัดประมาณ 1,046.6 ล้านบาท/ปี”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าว
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถ Download เอกสารเชิญชวนได้ทางเว็บไซต์ของสนพ. www.eppo.go.th และเว็บไซต์ของโครงการ www.thaibiogas.com/promotion หรือขอรับเอกสารได้ที่ ส่วนอนุรักษ์พลังงานและพลังงานหมุนเวียน ชั้น 3 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และยื่นซองข้อเสนอเพื่อขอรับการสนับสนุนสร้างระบบก๊าซชีวภาพได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2551 เวลา 9.00-16.00 น. ณ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ