จิตเวชโคราชเผยยาตำรับศุขไสยาศน์ ช่วยผู้ป่วยโรคนอนไม่หลับ อาการดีขึ้น พร้อมย้ำเตือนผู้ป่วย ห้ามปรับยาเอง!

ข่าวทั่วไป Friday March 13, 2020 15:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ รพ.จิตเวชนครราชสีมา เผยผลบริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยช่วง 3 สัปดาห์แรกน่าพอใจ มีผู้ป่วยใช้บริการ 24 คน หลังได้รับยาศุขไสยาศน์ ร้อยละ 20 อาการดีขึ้น หลับได้นานขึ้น พร้อมย้ำเตือนให้ผู้ป่วยกินยาตามแพทย์แผนไทยสั่ง ห้ามปรับเพิ่มขนาดยาเอง ชี้เสี่ยงอันตรายจากปัญหากินยาเกินขนาด ส่วนผลการเฝ้าระวังการใช้กัญชาในทางที่ผิด ในรอบ 6 เดือน พบมีผู้ป่วยเกิดอาการหลอนจากกัญชาเข้ารักษาตัว 120 คน ในจำนวนนี้เป็นวัยรุ่นป่วยทางจิตรายใหม่ 12 คน นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการจัดบริการกัญชาทางการแพทย์ เพิ่มการเข้าถึงบริการให้แก่ประชาชนในเขตนครชัยบุรินทร์ ซึ่งครอบคลุมจ.นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์อย่างปลอดภัยและไม่ป่วยทางจิต ตามนโยบายของกรมสุขภาพจิตและกระทรวงสาธารณสุข ว่า ขณะนี้รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ได้ดำเนินการ 2 รูปแบบ คือเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยรักษาผู้ป่วยโดยใช้ยาแผนไทยตำรับศุขไสยาศน์ และเปิดศูนย์ให้คำปรึกษาและติดตามผลการใช้กัญชาโดยเภสัชกร เพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาที่มีมาตรฐานเหมาะสมกับโรคที่เป็น อีกทั้งป้องกันปัญหาที่อาจเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาร่วมกับยาทางจิตเวช และเฝ้าระวังการใช้กัญชาในทางที่ผิดในผู้ป่วยจิตเวช เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลทางวิชาการในการศึกษาวิจัยและพัฒนาเป็นองค์ความรู้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวชที่มีความจำเป็นต้องใช้กัญชา และป้องกันการใช้กัญชาในทางที่ผิดด้วย นายแพทย์กิตต์กวี กล่าวว่า ผลการให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย สัปดาห์ละ 1 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ.2563 เป็นต้นมาจนถึงวันที่ 5 มี.ค.2563 รวม 3 สัปดาห์ มีผู้ป่วยใช้บริการรวม 24 คน โดยเป็นรายใหม่ 16 คน เฉลี่ยสัปดาห์ละ 8 คนทั้งหมดเป็นผู้ป่วยโรคนอนไม่หลับ จากการประเมินผลหลังได้รับยาไทยตำรับศุขไสยาศน์ขนานเดียว ในช่วง 2 สัปดาห์แรก ผู้ป่วยร้อยละ 20 บอกว่านอนหลับได้ดีขึ้น คือหลับได้ยาวนานขึ้นกว่าเดิม ยังไม่มีรายใดอาการแย่ลงกว่าเดิม รวมถึงไม่มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ซึ่งจัดว่าเป็นทิศทางแนวโน้มที่ดีน่าพอใจ เนื่องจากทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรังมานานมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ ซึ่งจะต้องดูผลของผู้ป่วยอีก 2 กลุ่ม คือ โรควิตกกังวล และความจำเสื่อม หลังจากที่ใช้ยาศุขไสยาศน์ และน้ำมันกัญชาสูตรอ.เดชาด้วย โดยรพ.จิตเวชฯจะประเมินผลในภาพรวมในอีก 3 เดือน ทางด้านนางสาววิภาวี ดลโสภณ แพทย์แผนไทยประยุกต์ หัวหน้ากลุ่มงานแพทย์แผนไทย รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯกล่าวว่า ผู้ป่วยที่ใช้บริการที่คลินิกกัญชาฯขณะนี้ เป็นกลุ่มที่มีปัญหานอนไม่หลับทุกคน ในการให้ยาแผนไทยตำรับศุขไสยาศน์ จะเริ่มให้ในขนาดที่ต่ำก่อน เพื่อความปลอดภัย ภายใต้การดูแลของแพทย์แผนไทยและเภสัชกร เนื่องจากเป็นยารสร้อน มีสมุนไพรเป็นส่วนประกอบ 12 ชนิดและมีกัญชาเป็นตัวยาหลัก การออกฤทธิ์ของยาแผนไทยจะค่อยเป็นค่อยไป ประการสำคัญที่สุดผู้ป่วยจะต้องกินยาตามที่แพทย์สั่ง ไม่ควรปรับเพิ่มขนาดยาเอง เพราะอาจเกิดอันตรายได้จากการใช้ยาเกินขนาด เช่นหัวใจเต้นเร็ว วิงเวียนศีรษะหรือนอนหลับมากเกินไป และอาจมีผลต่อการทำงานของตับไตได้ โดยในระหว่างที่ใช้ยาควรดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้วและหลีกเลี่ยงการกินของหมักดอง หรืออาหารสำเร็จรูป เนื่องจากมีรสเค็ม อาจทำให้ไตทำงานหนัก ผู้ป่วยที่มีปัญหาการใช้ยาศุขไสยาศน์ สามารถปรึกษาแพทย์แผนไทยหรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง โดยสามารถโทรปรึกษาที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 4423 3999 ต่อ 65635 และ 06 1023 6886 ทางด้านเภสัชกรหญิงจุฑามณี ดุษฎีประเสริฐ หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯกล่าวว่า กัญชา มีฤทธิ์โดยตรงต่อสมองทั้งกดและกระตุ้นสมอง ผลการดำเนินงานของศูนย์ให้คำปรึกษาและติดตามผลการใช้กัญชาในรอบ 6 เดือน มีผู้ขอรับคำปรึกษาจำนวน 19 คน ส่วนใหญ่อายุ 30 ปีขึ้นไป โดย 1 ใน 4 ซื้อน้ำมันกัญชามาใช้เองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์และเกิดอาการข้างเคียงเช่นมึนงง คลื่นไส้อาเจียน โดยอาการมักจะเกิดขึ้นทันทีหลังใช้ไปจนถึงช่วง 3 เดือนแรก ซึ่งได้ส่งผู้ป่วยไปใช้บริการที่คลินิกกัญชาฯเพื่อความปลอดภัย สำหรับผลการเฝ้าระวังการใช้กัญชาในทางที่ผิดในช่วงเดียวกัน พบผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมที่เกิดจากการใช้กัญชาเข้ามารักษาที่รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯรวม 120 คน ในจำนวนนี้ 12 คนหรือร้อยละ10 เป็นผู้ป่วยจิตเวชรายใหม่ เป็นเพศชายทั้งหมด อายุระหว่าง 16 – 24 ปี มีอาการหลอนทางจิต หูแว่ว ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 90 จำนวน 108 คน เป็นกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชรายเก่าที่มีอาการกำเริบ เนื่องจากสูบกัญชาร่วมกับดื่มสุราและใช้ยาเสพติดอื่นๆ ในจำนวนนี้อาการรุนแรง เช่นหูแว่ว เห็นภาพหลอน จำเป็นต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลซ้ำอีกจำนวน 25 คน ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาใน จ.นครราชสีมา รองลงมาคือบุรีรัมย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ