กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
ณ ห้องประชุมปฐมบริบท อาคารประสานมิตร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีการลงนามความร่วมมือระหว่างนายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน และรองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อร่วมสนับสนุนการนำนิสิตเข้าฝึกงานในหน่วยงานของกพร. และจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ โดยมีนายสุทธิพงษ์ โกศลวิริยะกิจ ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และศาสตรจารย์ ดร.ปานศิริ พันธุ์สุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นสักขีพยานในการลงนามข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้
นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกพร. กระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังจากลงนามความร่วมมือดังกล่าวว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในปัจจุบัน จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา จะต้องร่วมมือกัน ซึ่งรัฐบาลภายใต้การนำพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำหนดให้เป็นแนวทางประชารัฐเป็นหนึ่งในนโยบายหลักในการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับให้กพร. ปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว โดยตระหนักถึงการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนต่อการพัฒนากำลังแรงงานของประเทศ ให้มีศักยภาพรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
นายธวัช กล่าวต่อไปว่า การลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ในครั้งนี้ มีเป้าหมายในการประสานความร่วมมือทางวิชาการและการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน สนับสนุนการรับนิสิตเข้าฝึกงานในหน่วยงานของกพร. เพื่อให้นิสิตมีโอกาสฝึกปฏิบัติงานจริงในสาขาที่เรียนเป็นการเพิ่มพูนทักษะความรู้นอกชั้นเรียน การปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน ทั้งเรื่องของเวลาการทำงาน เพื่อนร่วมงาน รวมถึงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งจะช่วยให้นิสิตปรับตัวได้ดียิ่งขึ้นเมื่อได้ทำงานจริง ยังส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เพิ่มเติมในสาขาช่างเชื่อมทิก ช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ และช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก ซึ่งปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยได้รับอนุญาตจากกพร. ให้เป็นศูนย์ทดสอบฯ ในสาขาช่างเจียรไนพลอย ช่างหล่อเครื่องประดับ ช่างตกแต่งเครื่องประดับ รวมถึงร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมและบุคลากรของทั้งสองหน่วยงานรองรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ และทางมหาวิทยาลัยให้การสนับสนุนภารกิจของกพร. ด้านต่างๆ อาทิ งานวิจัยเกี่ยวกับการประเมินความรู้ความสามารถ การทำสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบคลิปวีดีโอ การแปลเอกสาร การฝึกอบรมด้านภาษาให้กับผู้เชี่ยวชาญและเยาวชนที่จะเข้าร่วมการแข่งขันฝีมือแรงงานระดับอาเซียนและนานาชาติ
“เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่ดี ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะนิสิตที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ได้รับโอกาสในการเตรียมความพร้อมในการทำงาน และกำลังแรงงานได้รับความรู้ทางวิชาการในการพัฒนาตนเอง กพร. จึงเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาตามแนวทางประชารัฐต่อไป” อธิบดีกพร. กล่าวทิ้งท้าย