กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดงานมหกรรมยางพาราภาคใต้ “เปิดประตูสู่เมืองยาง นวัตกรรมนำการผลิต” ณ ลานเอนกประสงค์ สำนักงานเทศบาลตำบลปราณบุรี อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ว่า กระทรวงเกษตรฯ ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางตลอดมา จะเห็นได้จากการออกมาตรการต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ โครงการประกันรายได้ และการร่วมมือกับภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันสินค้ายางพารา อีกทั้งยังส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าของยางพารา โดยการแปรรูปไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เป็นเครื่องมือสร้างมูลค่าให้กับยางพาราอันจะส่งผลถึงการเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ และเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคายางมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น สามารถสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งต้องเป็นแนวทางที่ “ทำได้ไว - ทำได้จริง” และจะถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางให้ดีขึ้น หากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง จะทำให้สามารถก้าวข้ามวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญไปได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ยังได้หารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีแนวคิดไปในทิศทางเดียวกันว่า จะต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง โดยกระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาช่วยผลักดันการเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศเพื่อกระตุ้นราคายาง รวมถึงการสร้างตลาดกลางยางพาราขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งผู้ผลิตก็จะต้องใส่ใจคุณภาพในการปลูก ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตยางให้เป็นไปตามหลักวิชาการและได้มาตรฐานสากล และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องก็จะลงไปให้ความช่วยเหลือดูแลให้คำแนะนำ และบริหารจัดการด้านยางพาราไทยทั้งระบบอย่างครบวงจรต่อไป
สำหรับการจัดงานมหกรรมยางพาราภาคใต้ในครั้งนี้ มีแนวคิดที่ต้องการสื่อถึงพื้นที่ปลูกยางทางภาคใต้ ซึ่งเริ่มขยายจากแถบจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง จนกระทั่งถึงจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นจังหวัดรอยต่อของภาคกลางและภาคใต้ จึงนับว่าเป็นประตูสู่พื้นที่ที่มีการเพาะปลูกยางเป็นส่วนใหญ่ของประเทศไทย โดยวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ เพื่อให้การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางในแต่ละภูมิภาค ได้มีโอกาสนำผลิตภัณฑ์ยางพาราไปจัดแสดง จำหน่าย และพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างแรงกระตุ้นในการคิดค้น/ปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคและตลาด อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์ยางพาราของท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักแก่ภูมิภาคอื่น ๆ พัฒนาช่องทางการตลาดและธุรกิจยางพารา สร้างความสามัคคีให้เกษตรกรชาวสวนยางทั้งในระดับจังหวัดและระดับภูมิภาค ไปสู่ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเกษตรกร ในการการพัฒนายางพารทั้งระบบต่อไป