กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)
การรับมือต่อวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (COVID-19) จากทั่วโลกจำเป็นต้องนึกถึงและให้ความสำคัญกับบุคคลทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง รวมถึงบุคคลที่ถูกบังคับให้หนีออกจากบ้านเกิดของตน โดยเฉพาะผู้พลัดถิ่นที่เป็นผู้สูงอายุ ถือเป็นกลุ่มที่เปราะบางในสถานการณ์เช่นนี้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) แจ้งเตือนในวันนี้ พร้อมเปิดรับการระดมทุนสำหรับวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
UNHCR ต้องการงบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท (33 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อเร่งจัดทำแผนเตรียมความพร้อม ป้องกัน และตอบสนองต่อความต้องการด้านสาธารณสุขของผู้ลี้ภัยที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19
“จากข้อมูลที่เรามี ณ ปัจจุบัน ไม่มีรายงานการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัย อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัสส่งผลกระทบถึงทุกคนและถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของเราร่วมกันที่จะจัดทำมาตรการรับมือที่ครอบคลุมประชากรโลกทุกคน” ฟิลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าว “การอนุญาตให้มีการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขแบบเต็มรูป รวมถึงประชากรที่ขาดแคลนที่สุดในชุมชน เป็นแนวทางที่จะคุ้มครองพวกเราทุกคน มนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้ รวมถึงผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัย และผู้พลัดถิ่นภายในประเทศควรมีสิทธิในการเข้าถึงสถานพยาบาลและบริการด้านสาธารณสุข“
ทั่วโลกมีประชากรกว่า 70 ล้านคนที่ถูกบังคับให้หนีออกจากบ้านเกิดของตนจากการประหัตประหาร ความขัดแย้ง ความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในจำนวนนี้เป็นผู้ลี้ภัยมากกว่า 20 ล้านคน ซึ่งร้อยละ 84 พักพิงอยู่ในประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงน้อยซึ่งมีระบบสาธารณสุข สาธารณูปโภค น้ำสะอาด และการสุขาภิบาลที่ไม่เพียงพอ
UNHCR เร่งจัดทำแผนเพื่อเตรียมความพร้อม ป้องกัน และตอบสนองต่อวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก โดยสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัยและเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมขององค์กรที่ประจำอยู่ในกว่า 130 ประเทศทั่วโลกเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินงาน
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสในครั้งนี้เป็นความท้าทายระดับโลกที่ต้องการความร่วมมือและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในระดับนานาชาติเพื่อร่วมกันหาทางออก UNHCR ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ขององค์การสหประชาชาติ (UN) และหน่วยงานพันธมิตร ติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การปฏิบัติงานทั่วโลกและในประเทศต่างๆ สอดคล้องกับมาตรการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก (WHO)
การวางแผนรับมือต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ UNHCR ได้พัฒนาแผนการรองรับมาจากประสบการณ์การทำงานในช่วงการระบาดของโรคซาร์ (SARS) ไวรัสอีโบลา และไข้หวัดใหญ่ มาตรการเหล่านี้จะมอบความคุ้มครองแก่ผู้ลี้ภัยทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเหตุการณ์ที่เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในระดับโลกครั้งนี้
ในการนี้ UNHCR ส่งเสริมให้ผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัย และผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ได้รวมอยู่ในแผนงานระดับประเทศด้านการเฝ้าระวัง การเตรียมความพร้อม และการรับมืออีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่จำเป็นต้องดำเนินมาตรการในการจำกัดการเข้าเมือง การเดินทาง และเสรีภาพในการโยกย้าย UNHCR เรียกร้องให้รัฐบาลทุกประเทศสร้างความแน่ใจว่าสิทธิของพวกเขาจะได้รับการเคารพอย่างเท่าเทียม
ในปัจจุบันมีรายงานการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศมากกว่า 100 ประเทศ ในจำนวนนั้นมี 34 ประเทศที่มีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่มากกว่า 20,000 คน และยังไม่มีรายงานการติดเชื้อของผู้ลี้ภัยเกิดขึ้น ดังนั้นการเตรียมความพร้อม การป้องกัน และการสื่อสารคือหัวใจหลักในสถานการณ์นี้ เพราะส่วนมากผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศจะอาศัยอยู่ในพื้นที่หนาแน่นหรือที่ๆ สาธารณสุขและบริการด้านต่างๆ มีจำกัดหรือไม่ถึงมาตรฐาน UNHCR ได้แนะนำพื้นที่การทำงานของเราในทุกประเทศให้จัดเตรียมแผนสำรองและแนวทางในการให้ความร่วมมือกับรัฐบาลและหน่วยงานพันธมิตร แผนงานเหล่านี้จะมีการติดตาม การรายงานอย่างใกล้ชิด และการรองรับความเสี่ยงด้านสาธารณสุขและการให้ความคุ้มครองต่อผู้คนที่ถูกบังคับให้พลัดถิ่น
หากเป็นไปได้และรัฐบาลต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมต่อแผนการรับมือในประเทศ UNHCR มอบความช่วยเหลือในการเฝ้าระวังการแพร่ระบาด จัดทำรายงาน ติดตามตัวบุคคล และดำเนินการสอบสวนเมื่อมีการแจ้งเหตุโดยความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข องค์การอนามัยโลก และองค์กรพันธมิตร รวมไปถึง ณ จุดคัดกรองคนเข้าเมืองและพื้นที่พักพิงของผู้ลี้ภัย นอกจากนี้ การปฏิบัติงานของ UNHCR ยังสอดคล้องไปกับแนวทางขององค์การสหประชาชาติและช่วยทบทวนระดับความสามารถในการให้ความช่วยเหลือขององค์กรพันธมิตรด้านสาธารณสุขเพื่อตอบสนองในกรณีที่เกิดการแพร่ระบาดในค่ายหรือพื้นที่พักพิงของผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ
เรายังให้คำแนะนำสำหรับพื้นที่การทำงานทั้งหมดให้ตรวจสอบคลังยา ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย อุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงชุดอุปกรณ์สำหรับใช้ป้องกันตนเองให้มีเพียงพออยู่เสมอ
UNHCR ตระหนักถึงการให้ข้อมูลที่รวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นประโยชน์ เราจึงเน้นเรื่องการสื่อสารต่อชุมชนผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่น โดยเฉพาะมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขาภิบาล ข้อมูลเหล่านี้ได้มีการแปลเป็นภาษาท้องถิ่นและปรับใช้ให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่
UNHCR กำลังแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำสะอาด การกำจัดสิ่งปฏิกูล และจำนวนสบู่ในสถานบริการสาธารณสุข ที่พักอาศัยแบบรวม และตามชุมชนใหญ่ รวมถึงการอบรมเจ้าหน้าที่ในการควบคุมการแพร่ระบาดตามศูนย์บริการสาธารณสุขต่างๆ
ร่วมป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นกับ UNHCR บริจาคตอนนี้ได้ที่เว็บไซต์ http://unh.cr/5e69e77f1d2