กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--วิเคราะห์ข่าว สํานักงานประชาสัมพันธ์
พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรุงเทพมหานคร หรือ “ศูนย์ข้อมูล COVID–19 กทม.” โดยมี นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร รองปลัดกรุงเทพมหานคร คณะโฆษกของกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานในสังกัด กทม. ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แจ้งที่ประชุมเกี่ยวกับคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 76/2563 เรื่อง จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) หรือ “ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด–19” ซึ่งตั้งอยู่ในทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ เพื่อเป็นการยกระดับการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) ในประเทศไทยให้อยู่ในวงจำกัด ลดผลกระทบต่อภาวะสุขภาพของประชาชน เศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงของประเทศ สร้างความตระหนักรู้เท่าทันและเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดของโรคอย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล ตลอดจนประเมินสถานการณ์ เพื่อการบังคับใช้กฎหมายให้ตรงกับความรุนแรงของปัญหา และวางมาตรการป้องกัน ควบคุมและช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม ในส่วนของ กทม. จึงจำเป็นต้องติดตามข้อสั่งการจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด–19 นี้อย่างใกล้ชิด และเร่งปฏิบัติงานสนองตอบการสั่งการดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัด ซึ่งจะส่งผลถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพประชาชน
ทั้งนี้ กทม. ได้เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคโควิด–19 ตามแนวทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยได้ประสานความร่วมมือกับ สธ. ในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคโควิด–19 ทั้งในส่วนของข้อมูลข่าวสารและการดำเนินการด้านต่าง ๆ ตลอดจนการส่งต่อผู้ป่วยเข้ารับบริการในโรงพยาบาลสังกัด กทม. เพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยตามแนวทางของ สธ. รวมถึงจัดทำแนวทางการคัดกรอง เพื่อการวินิจฉัยและการดูแลรักษาโรคโควิด–19 สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขของโรงพยาบาลในสังกัด กทม. เป็นไปอย่างถูกต้อง ขณะเดียวกันได้รณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนในการดูแลป้องกันตนเองจากโรคโควิด–19 โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด ไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยที่มีอาการไอ จาม หากเลี่ยงไม่ได้ให้สวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือ ไม่นำมือมาสัมผัส จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น รวมถึงประชาสัมพันธ์แนวทางปฏิบัติ ผ่านเฟซบุ๊กและสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่องและจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ภายในโรงพยาบาลสังกัด กทม. เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน สร้างความตระหนัก ลดความตื่นตระหนก และก่อให้เกิดการดูแลตนเองอย่างถูกวิธี หากสงสัยในอาการของโรค สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ 1646 บริการตอบปัญหาและให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง หากต้องการพบแพทย์จะต่อไปยังศูนย์บริหารราชการฉับไว ใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) ของแต่ละโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ต่อไป
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.โดยสำนักอนามัยได้ประสานงานทำความเข้าใจร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด เกี่ยวกับการส่งต่อกลุ่มเสี่ยงที่ต้องติดตามอาการทุกราย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. ทั้ง 68 แห่ง ได้เยี่ยมดูแลเฝ้าระวังอาการผู้ที่เข้าข่ายกักกันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 14 วัน ได้ตามมาตรฐาน ขณะเดียวกันได้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติตามพระราช บัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในการควบคุมและติดตามผู้ที่ต้องเฝ้าสังเกตอาการของโรคโควิด–19 ซึ่งกักตัวอยู่ที่บ้านในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ โดยแจกเอกสารเกี่ยวกับ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ให้ผู้เกี่ยวข้องได้ศึกษาข้อมูลและข้อกฎหมายต่าง ๆ รวมถึงจัดทำเอกสารแนะนำการดูแลตนเองและแนวทางติดตามอาการผู้ป่วยที่กักกันตัวที่บ้าน เพื่อลดความวิตกกังวลของประชาชน
พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายให้สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล ประสานงานกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ที่จัดทำแอปพลิเคชัน AOT Airports สำหรับให้ผู้เดินทางเข้าประเทศไทยทุกคนดาวน์โหลดและกรอกหมายเลขโทรศัพท์ เพื่อใช้ในการติดตามตัวผู้มีความเสี่ยงกลับมาตรวจและเฝ้าระวังได้ทันท่วงที รวมถึงแอปพลิเคชัน SydeKick for ThaiFightCOVID สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องกักตัวที่บ้านและแรงงานไทยที่กลับจากประเทศเสี่ยง เพื่อใช้ในการติดตาม เฝ้าระวังผ่านระบบ Location Tracking รู้พิกัดกลุ่มเสี่ยง เพื่อดูว่า กทม. สามารถนำมาปรับใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้อย่างไรบ้าง รวมทั้งได้กำชับให้สำนักงานเขตทั้ง 50 แห่ง จัดกิจกรรมบิ๊กคลีนนิ่งในพื้นที่ต่าง ๆ ของสำนักงานเขตอย่างต่อเนื่อง และให้ประสานหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ เพื่อขยายผลการทำบิ๊กคลีนนิ่งโดยเฉพาะสถานประกอบการที่มีประชาชนไปใช้ บริการจำนวนมาก นอกจากนี้ให้สำนักพัฒนาสังคมจัดทำหน้ากากอนามัยแบบผ้าแจกจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ในสังกัด กทม. ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการสัมผัสโรค โดยปัจจุบันสำนักพัฒนาสังคมได้ผลิตหน้ากากอนามัยแบบผ้าแล้ว กว่า 10,000 ชิ้น และได้แจกจ่ายไปแล้วกว่า 9,700 ชิ้น ทั้งนี้ให้สำนักพัฒนาสังคม และสำนักงานเขตทุกแห่ง เร่งรัดการสอนตัดเย็บหน้ากากอนามัยแบบผ้าให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อโรคโควิด–19 ไปสู่สมาชิกในครอบครัว สำหรับผู้ที่ต้องกักกันโรคที่บ้าน 14 วัน ให้ปฏิบัติตามแนวทาง สธ. ดังนี้ 1.ให้หยุดเรียน หยุดงาน ไม่ออกไปนอกที่พักอาศัยไม่เดินทางไปที่ชุมชน หรือที่สาธารณะอย่างน้อย 14 วัน นับจากวันเดินทางมาจากพื้นที่ระบาด 2.รับประทานอาหารแยกจากผู้อื่น โดยใช้ภาชนะ ช้อนส้อม และแก้วน้ำส่วนตัว 3.ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ร่วมกับผู้อื่น 4.ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย 20 วินาที กรณีไม่มีน้ำและสบู่ให้ลูบมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ความเข้มข้นอย่างน้อย 60% 5.สวมหน้ากากอนามัย และอยู่ห่างจากคนอื่น ๆ ในบ้านประมาณ 1 - 2 เมตร หรืออย่างน้อยหนึ่งช่วงแขน 6.หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดพูดคุยกับบุคคลอื่นในที่พักอาศัยโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ 7.การทิ้งหน้ากากอนามัย ใช้วิธีใส่ถุงพลาสติกและปิดปากถุงให้สนิทก่อนทิ้งลงในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด และทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์เจล หรือน้ำและสบู่ทันที 8.ปิดปากจมูกด้วยกระดาษทิชชูทุกครั้งที่ไอจามโดยปิดถึงคาง แล้วทิ้งทิชชูลงในถุงพลาสติกและปิดปากถุงให้สนิทก่อนทิ้ง หรือใช้แขนเสื้อปิดปากจมูกเมื่อไอหรือจาม และทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์เจลหรือน้ำและสบู่ทันที 9.ทำความสะอาดบริเวณที่ผู้เดินทางพัก เช่น เตียง โต๊ะ บริเวณของใช้รอบ ๆ ตัว รวมถึงห้องน้ำด้วยน้ำยาฟอกขาว 5% โซเดียมไฮโปคลอไรท์ (น้ำยาฟอกขาว 1 ส่วน/น้ำสะอาด 10 ส่วน) 10.ทำความสะอาดเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าขนหนู ด้วยสบู่หรือผงซักฟอกธรรมดาและน้ำ หรือซักผ้าด้วยน้ำร้อนที่อุณหภูมิน้ำ 70 - 90 องศาเซลเซียส