กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--สำนักงาน กกพ.
กองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน สนับสนุนโครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า นำเครือข่ายสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก ดันบทบาทสื่อมวลชนเป็นต้นแบบผู้นำการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า เพื่อสร้างความพร้อมในการจัดตั้ง "เครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า" ในอนาคต
นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิ เอ็กซ์ โซลูชั่นส์ จำกัด ในฐานะผู้บริหารโครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า กล่าวว่า ปัจจุบันขยะนับเป็นปัญหาที่ทุกประเทศต่างให้ความสำคัญ และมีการกำหนดนโยบายหรือมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้สามารถควบคุมหรือบริหารจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพ การนำขยะมาแปรสภาพให้เป็นพลังงานในการผลิตกระแสไฟฟ้า นอกจากจะได้พลังงานทางเลือกแล้วยังถือเป็นหนึ่งในการแก้ปัญหาเรื่องขยะล้นเมืองได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
"การนำขยะมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้านั้นนับว่ามีประโยชน์ในหลายมิติ ทำให้ปริมาณขยะในแต่ละพื้นที่มีปริมาณลดลง ส่งผลดีต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ สร้างรายได้แก่ชุมชน ลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ สร้างความมั่นคงด้านพลังงานและยังช่วยลดภาวะโลกร้อน ถือว่าเป็นการใช้ทรัพยากรบนโลกใบนี้ได้อย่างคุ้มค่า" นางดรุณวรรณ กล่าว
ทั้งนี้โครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า เล็งเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์จากพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ จึงได้มีการจัดกิจกรรมนำเครือข่ายสื่อมวลชนไทยลงพื้นที่เรียนรู้และเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ ขนาดกำลังการผลิต ๑๘๐ เมกะวัตต์ ณ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP จังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีระบบบริหารจัดการที่ดี เพื่อเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพลังงานทางเลือก ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนา ไฟฟ้าเพื่อกิจการตามมาตรา ๙๗(๕) ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๒ จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)
นางดรุณวรรณ กล่าวต่อว่า สำหรับกิจกรรมลงพื้นที่เรียนรู้และเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะในครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยได้รับการตอบรับเข้าร่วมกิจกรรมจากสื่อมวลชนทุกแขนง อาทิ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ คอลัมน์นิสต์ นักจัดรายการวิทยุ นักจัดรายการโทรทัศน์ สื่อออนไลน์จากสำนักข่าวต่างๆ รวมทั้งสิ้น ๓๐ ราย แบ่งเป็นบุคลากรจากเครือข่ายพลังงานจำนวน ๔ ราย และสื่อมวลชนจำนวน ๒๖ ราย
“การลงพื้นที่เรียนรู้และเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าขยะซึ่งถือเป็นพลังงานทางเลือก รูปแบบหนึ่ง นับเป็นครั้งที่ ๑ และเป็นส่วนหนึ่งในหลาย ๆ กิจกรรมเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับสื่อมวลชน เนื่องจากเล็งเห็นว่าบทบาทของสื่อมวลชนไม่ใช่มีความสำคัญเฉพาะการสื่อสารสาธารณะเท่านั้น แต่จะต้องมีบทบาทนำในการเป็น Change Agent หรือผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพื่อเป็นต้นแบบในการรณรงค์และสื่อสารความเข้าใจที่ถูกต้องไปสู่สาธารณะต่อไป” นางดรุณวรรณ กล่าว
สำหรับการดำเนินงานของโครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้าในปี ๒๕๖๓ นี้จะมีการนำสื่อมวลชนลงพื้นที่เรียนรู้ เยี่ยมชมกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกอีกจำนวน ๒ ครั้ง โดยครั้งที่ ๒ และครั้งที่ ๓ จะลงพื้นที่เยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ ตามลำดับ ซึ่งการจัดกิจกรรมดังกล่าวจะนำไปสู่การสร้างและจัดตั้ง “เครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า” ในอนาคตต่อไป ทั้งนี้โครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้ามีวัตถุประสงค์ในการสำรวจและค้นหาองค์กรสื่อและสื่อมวลชนที่ใส่ใจในเรื่องพลังงานทางเลือก เพื่อพัฒนาศักยภาพของสื่อมวลชนไทยให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และขยะ สร้างการมีส่วนร่วม รณรงค์และขยายผลให้ประชาชนและสังคมมีความรู้ความเข้าใจเรื่องพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ และขยะ