กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--ไอทูซี คอมมิวนิเคชั่นส์
“เราอยากเห็นเอสเอ็มอีปรับตัวในแง่ของการให้ความสำคัญกับข้อมูล นี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะเอสเอ็มอีบ้านเราส่วนใหญ่มักจะดำเนินธุรกิจด้วย 'สัญชาตญาณ’ แต่ในโลกปัจจุบันนั้น ข้อมูลสำคัญที่สุด เราแข่งกันด้วยข้อมูล เพราะฉะนั้น อยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญของข้อมูลและสามารถวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้น เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจได้จริงๆ” ทิพย์สุคนธ์ ศุภสินธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจ หรือ CBCE กล่าวในวันที่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกว่า 60 คนที่ร่วมโครงการ CBCE รุ่นที่ 5 เข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตชุดชั้นใน “ซาบีน่า” ที่พุทธมณฑลสาย 5 จังหวัดนครปฐม
ทิพย์สุคนธ์ บอกว่า ศูนย์เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจ หรือ CBCE จัดตั้งโดยสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ด้วยความมุ่งหวังอยากจะเสริมสร้างศักยภาพให้กับบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม ที่เป็นอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานของประเทศ เพราะจริงๆ แล้ว ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ล้วนมีศักยภาพในการเติบโต เพียงแต่ต้องการการเรียนรู้เพิ่มเติมและเสริมให้แข็งแกร่งมากขึ้น
“หน้าที่ของเราคือ เข้าไปปิดจุดอ่อนและเสริมจุดแข็งให้กับบริษัทขนาดกลางและย่อม ให้สามารถเติบโตและพัฒนาได้อย่างเข้มแข็ง เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเราได้เชิญผู้บริหารชั้นนำจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ เป็นผู้บริหารระดับสูงที่มีจิตอาสามารวมตัวกัน เพื่อแบ่งปันประสบการณ์และให้คำปรึกษากับแต่ละบริษัทในเชิงลึก บ่มเพาะผู้ประกอบการให้มีความรู้และพร้อมที่จะปรับตัวเมื่อสถานการณ์หรือสภาวะโลกธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป เพราะหากเราเตรียมความพร้อมไว้ตลอดเวลา เราก็จะสามารถปรับตัวได้ นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการดำเนินธุรกิจในภาวะปัจจุบัน” ผู้อำนวยการ CBCE กล่าว
ส่วนการเลือกโรงงานชุดชั้นใน “ซาบีน่า” พุทธมณฑลสาย 5 เป็นแหล่งศึกษาดูงานเป็นปีที่ 4 นั้น เนื่องจากซาบีน่าเป็นบริษัทที่มีความหลากหลาย และเป็นตัวอย่างที่ดีในการเรียนรู้ของบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการผลิต การควบคุมต้นทุนที่ใช้หลักของการบริหารเพื่อลดต้นทุน เอสเอ็มอีสามารถนำมาใช้ได้ในหลากหลายมิติ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการสร้างแบรนด์ดิ้ง ที่เปลี่ยนจากการรับจ้างผลิต (OEM) พลิกเป็นการสร้างแบรนด์ของตัวเอง และสามารถสร้างแบรนด์ได้อย่างแข็งแกร่งในปัจจุบัน ซึ่งมั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์กับเอสเอ็มอี ที่จะนำไปใช้ปฏิบัติได้จริง
ขณะที่ “บุญชัย ปัณฑุรอัมพร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซาบีน่า จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการกับ CBCE จะได้รับจากการศึกษาดูงานที่โรงงานซาบีน่า คือ เรื่องของการมองยุทธศาสตร์ หรือทิศทางในการทำธุรกิจที่ถูกต้อง เป็นทิศทางที่ทำแล้วเกิดประสิทธิภาพ หรือทำแล้วได้ผลประกอบการที่ดี
“เพราะซาบีน่าไม่ได้เน้นเรื่องของการตลาดอย่างเดียว หรือไม่ได้เน้นแค่ทำช่องทางการจำหน่ายที่ดี ที่ถูกต้องแล้วจะได้ผลกำไรที่ดีเท่านั้น แต่เรายังเน้นในเรื่องของการพัฒนาต้นทุน ทำอย่างไรให้ต้นทุนต่ำลง ทำอย่างไรจะประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งผลลัพธ์จะสะท้อนผ่านกำไรขั้นต้น ดังนั้น สิ่งที่เอสเอ็มอีจะได้จากโรงงานพุทธมณฑลสาย 5 คือ จะเห็นว่า ซาบีน่าทำทั้งเรื่องของโตโยต้า เวย์ (TOYOTA Way) ไคเซ็น (Kaizen) รวมถึงลีน (Lean) ซึ่งเราทำมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาสิบปี เพราะเราต้องแข่งขันกับค่าแรง แข่งขันกับเรื่องของต้นทุนที่สูงขึ้น แม้กระทั่งการที่เราจะเลือกส่งออกหรือจะเลือกนำเข้าให้เข้ากับจังหวะและโอกาสของค่าเงิน สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่เราถ่ายทอดให้กับหลายๆ บริษัท ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ซาบีน่ายินดีมอบให้กับสังคมในฐานะบริษัทพี่ที่แนะนำบริษัทน้อง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซาบีน่ากล่าว
ธิษตยา ไวท์เฮด ผู้บริหารบริษัท โมเดิร์นโฮม โปรดักซ์ จำกัด เป็นอีกหนึ่งในผู้ร่วมโครงการรุ่นที่ 5 ของ CBCE เธอบอกว่า สิ่งที่เธอได้รับจากโครงการนี้มากกว่าที่คิดไว้ ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ของผู้บริหารหรืออาจารย์ที่ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ใหม่ๆ ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง และสามารถพัฒนาธุรกิจให้มีศักยภาพมากขึ้น ขณะที่สิ่งที่ได้รับจากซาบีน่า คือ การทำงานภายใต้ระบบ 5 ส อย่างจริงจัง โรงงานมีระเบียบ ทุกแผนกมีระบบประเมินที่ชัดเจนและทุกคนเข้าถึงได้ ทำให้พนักงานรู้สึกมีส่วนร่วมในการทำงานมากขึ้น และทำให้เขาใช้ความเป็นทีม ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการปรับปรุงขั้นตอนการทำงานให้ดีขึ้น
เช่นเดียวกับ ปภัส กิจกำจาย ผู้บริหารบริษัท บิ๊กสตาร์ จำกัด ที่การเข้าร่วมโครงการ CBCE ทำให้เขาเรียนรู้ทั้งเรื่องของอัตราส่วนทางการเงิน การระดมทุน ไปจนถึงการบริหารงานในองค์กร การพัฒนาวัฒนธรรมองค์กร ขณะที่ธุรกิจผลิตรองเท้าที่เขาบริหารอยู่นั้น ก็คล้ายๆ กับการผลิตของโรงงานซาบีน่า ทำให้การเข้าชมโรงงานในครั้งนี้ได้ประโยชน์ทั้งในแง่ความรู้ด้านการผลิต การบริหารต้นทุน และการทำตลาด รวมถึงการสร้างเป้าหมายร่วมกันระหว่างฝ่ายบริหารกับพนักงาน
การเยี่ยมชมโรงงานซาบีน่าของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เป็นอีกหนึ่งวันที่ไม่มีคำว่า แข่งขันทางธุรกิจ มีแต่คำว่า แบ่งปันความรู้และประสบการณ์จากบริษัทพี่ที่ประสบความสำเร็จ สู่บริษัทน้องที่กำลังก้าวสู่การพัฒนาอย่างเข้มแข็งภายใต้ความมุ่งมั่นของศูนย์เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจหรือ CBCE